การสร้างความเข้าใจ คือหัวใจสำคัญในภารกิจดับไฟใต้ และสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในดินแดนปลายด้ามขวานอย่างยั่งยืน
หน่วยงานที่มีบทบาทสูงที่สุดในเรื่องนี้ คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งทำงานควบคู่ไปกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.)
ที่ผ่านมางานด้านเสริมสร้างความเข้าใจได้รับการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่เอง รวมถึงในต่างประเทศ แต่กลับไม่ถูกฉายสปอตไลต์ให้เห็นภาพชัดเจนนัก เพราะหลายฝ่ายมุ่งโฟกัสเฉพาะความรุนแรง
ทั้งที่จริงๆ แล้วงานด้านนี้รุดหน้าและลงลึกถึงเรื่องวิถีชีวิต จิตใจ และสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างถึงแก่น
เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้แทนของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. และ ศอ.บต. รับมอบ “ยะกีน” ในรูปแบบของ “กีตาบเล็กฉบับชาวบ้าน” จาก 9 องค์กรผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนาอิสลาม เพื่อส่งต่อส่วนราชการนำไปมอบให้ประชาชนใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้หลักศาสนาที่ถูกต้อง
สมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกันจัดทำ “ยะกีนฉบับชาวบ้าน” หรือ “กีตาบเล็ก” สืบเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาผู้นำศาสนาได้มีการประชุม (ซูรอ) หารือแนวทางการปลูกฝังยะกีน ที่เกิดจากการปฏิบัติตนตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัดเป็นรูปธรรม โดยมีความเชื่อและความเข้าใจว่าพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ทรงกำหนดสถานการณ์ เพื่อสร้างจิตสำนึกที่มั่นคงแข็งแกร่งไม่มีวันเปลี่ยนแปลง รวมถึงเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาของชุมชนภายใต้หลักศาสนาที่ถูกต้องและยั่งยืนมั่นคง
คำว่า “ยะกีน” หมายถึง ความเชื่อมั่นอันแน่วแน่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความศรัทธา (อีมาน) และเป็นรากฐานของการดำเนินชีวิตตามแนวทางแห่งอิสลาม เพราะเมื่อเรามีความศรัทธาที่แน่วแน่ เราจะสามารถเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ในชีวิตได้โดยไม่หวั่นไหว และสามารถนำพาครอบครัว ชุมชน และสังคมของเราให้ก้าวไปสู่ความสงบสุข
วันเสาร์ที่ 15 มี.ค.68 ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) พร้อมด้วยนาย นันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นผู้แทนรับมอบยะกีนฉบับชาวบ้าน (กีตาบเล็ก) ภายใต้กิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการรวมพลังผู้นำรวมใจสู่สันติสุขสู่ชุมชนมั่นคงปลอดยาเสพติด จากผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 9 องค์กรด้านศาสนาอิสลาม
ประกอบด้วย ดร.แวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี และประธานผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี, นายศักดิ์กียา บินแสละ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา และประธานสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลาม 14 จังหวัดภาคใต้, นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส, นายอับดุลบาซิ เจ๊ะมะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา, นายยำอาด ลิงาลาห์ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล, นายมูฮมัดซูวรี สาแล นายกสมาคมสถาบันศึกษาปอเนาะ จังหวัดชายแดนภาคใต้
ดร.อับดุลมุไฮมีน สาและ ประธานมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้, นายอับดุลฮาฟิซ หิเล ประธานเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ดร.มูหมัดกราแม แวมูซอ รองประธานสภาอูลามาอฟาฏอนีย์ดารุสสลามมูลนิธิ
ทั้งนี้ เพื่อให้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. และ ศอ.บต. เป็นผู้แทนส่งต่อ “กีตาบเล็ก” ให้กับส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
พล.ท.ไพศาล กล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อน “ยะกีน” หรือมอบ “กีตาบเล็ก” มุ่งหวังให้ยะกีนอยู่ในใจของทุกคน เพื่อให้เกิดความมุ่งมั่นเชื่อมั่นในคำสอนตามหลักศาสนา และยังเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกิจกรรม “ฮูกุมปากัต” (ธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี) ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่เกิดจากความร่วมมือของผู้นำศาสนาผู้นำท้องที่ท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกัน
เพราะปัญหาใน หมู่บ้าน ชุมชน คืออะไรทุกคนจะได้ร่วมกันคิดร่วมกันแก้ปัญหาร่วมกัน หากทุกคนร่วมมือกัน ก็จะเกิดบรรยากาศผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ประชาชน ร่วมคิดร่วมทำ และภาครัฐหนุนเสริม เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ก็จะเกิดความสำเร็จตามที่ได้คาดหวังไว้ คือเกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน ลูกหลานประชาชนมีอนาคตที่ดี และการแก้ปัญหาต่างๆ จะเกิดความมั่นคงและยั่งยืน
ด้าน นายนันทพงศ์ กล่าวว่า ในส่วนของ ศอ.บต.เป็นหน่วยงานด้านการพัฒนา ซึ่งได้รวมพลังทุกส่วนราชการ และทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเครือข่ายของผู้นำศาสนา และผู้แทนภาคประชาชน รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคม ทั้งหมดเป็นพลังร่วมในการทำงาน โดยใช้ “ยะกีน” เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนงานร่วมกัน โดยเฉพาะปัญหาที่เราเจอกันเฉพาะหน้าคือเรื่องยาเสพติด เราจะทำให้บรรลุเป้าหมาย คือความสงบสุขในพื้นที่
ด้าน ดร.แวดือราแม กล่าวว่า ความสำคัญของ ยะกีน (กีตาบเล็กฉบับชาวบ้าน) ในศาสนาอิสลามได้กำหนดว่า ทำอะไรต้องยะกีน หมายถึงต้องเชื่อมั่นแน่วแน่ ต้องมั่นใจ เพื่อให้งานต่างๆ เรียบร้อย เช่นเดียวกับที่แม่ทัพภาคที่ 4 บอกว่า ยะกีนต้องอยู่ในใจ ทั้งพูดและการกระทำเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
การจะสร้างยะกีน ต้องดูที่การปฏิบัติ ต้องศึกษาเกี่ยวกับข้อกำหนดในหลักฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี) ควบคู่กันไปด้วย โดยจะมีคู่มือ (กีตาบเล็กฉบับชาวบ้าน) นำไปศึกษาเพื่อนำไปปฏิบัติ เช่นเดียวกับแนวทางศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
“ยะกีน ต้องเข้าใจ ศึกษาให้เข้าถึงในรายละเอียด จะได้เกิดการพัฒนาในทุกด้านทุกมิติ ตามที่หลักฮูกุมปากัตระบุไว้” ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ระบุ
อนึ่ง การจัดทำยะกีนฉบับชาวบ้าน หรือ “กีตาบเล็ก” และส่งต่อให้พี่น้องมุสลิม จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าถึงทุกครอบครัวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การจัดงานมอบกีตาบเล็ก จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำศาสนา หัวหน้าส่วนราชการ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนภาคประชาชน หรือพี่น้องมุสลิมทุกคน จะได้งมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่และขยายผล “ยะกีนฉบับ ชาวบ้าน” ต่อไป
เพราะเมื่อทุกบ้านมียะกีน ครอบครัวจะมั่นคง เมื่อครอบครัวมียะกีน ชุมชนก็จะเข้มแข็ง เมื่อชุมชนมียะกีน สังคมก็จะสงบสุข