อีกหนึ่งประเด็นที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาไฟใต้ที่กำลังถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในขณะนี้ คือ การฟื้นนโยบาย 66/23
เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากการสั่ง “ทบทวนยุทธศาสตร์” โดยรองนายกฯภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งคุมงานความมั่นคง ด้วยการมอบหมายให้ สมช. หรือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปทบทวนยุทธศาสตร์ดับไฟใต้
ปัจจุบันการทบทวนและจัดทำยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ หรือฉบับปรับปรุงยังไม่แล้วเส้น แต่มีการแย้มข้อมูลมาว่า จะมีการฟื้นนโยบาย 66/23 ที่เคยประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์ ปัดฝุ่นมาปรับใช้ แต่ไม่มีนิรโทษกรรม
เรื่องนี้มีกระแสวิจารณ์ตามมาทันที ซึ่ง “ทีมข่าวอิศรา” ก็ได้ถอดรหัสเบื้องต้นไปแล้ว
อ่านประกอบ : ถอดรหัสฟื้น 66/23 เรื่องเก่าเล่าใหม่ ดับไฟใต้ได้จริงหรือ?
ล่าสุด อดีตคนเดือนตุลาฯ อย่าง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อก้อง ออกมาวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาว่า เรื่องนี้น่าจะเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดอีกครั้งของ สมช.
- คนที่รู้เรื่อง 66/23 เป็นอย่างดีคนหนึ่ง คือ ตัวรองนายกฯ ภูมิธรรม เอง เพราะเป็นคนในยุคนั้น จึงควรอธิบาย หรือเลคเชอร์ให้ สมช. และหน่วยงานความม้่นคงเข้าใจ
- หลักการ 66/23 อาจใช้ได้กับไฟใต้ แต่เป็นคนละบริบทกัน เพราะสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. คือ คนไทยรบกันเอง คนที่เข้าป่ายังรู้สึกว่าเป็นคนไทย
แต่สงครามกับ BRN รัฐไทยรบกับมุสลิมแบ่งแยกดินแดน คู่สงครามไม่ยอมรับการเป็นคนไทย
- รัฐบาลควรกำหนดยุทธศาสตร์ และให้ สมช.นำไปเรียกประชุม แสวงหาความเห็น และปรับปรุง เพื่อไม่ให้เป็นยุทธศาสตร์ของข้าราชการ
แต่ปัจจุบันแนวทางกลับหัวกลับหาง เพราะ สมช.เป็นคนไปจัดทำ แล้วเสนอให้รองนายกฯวิจารณ์ แต่ผลคือ ยุทธศาสตร์ สมช.จะเป็นตัวบังคับทิศทางของหน่วยต่างๆ ทั้งที่ยุทธศาสตร์ต้องกำหนดจากฝ่ายการเมือง ไม่ใช่จากข้าราชการประจำ
- สมช.ทำยุทธศาสตร์มานาน จนมีคำถามถึงความสำเร็จของ สมช. และกลายเป็นวิกฤตศรัทธาต่อ สมช. แต่หน่วยราชการไม่ฉีกหน้ากัน เพียงแต่ลับหลังบางทีเรียกกันว่า “สภาความมึนงงแห่งชาติ” ย่อ สมช.เหมือนกัน
- การจะสานต่อโครงการ “พาคนกลับบ้าน” ซึ่งเคยทำมาแล้ว และล้มเหลวมาแล้ว ทำกันมานาน
คำถามคือ ข้อเสนอใหม่คืออะไร ไม่เช่นนั้น โครงการนี้จะกลายเป็นการหาประโยชน์ และย่ำไปบนแนวทางเดิมๆ
- สำหรับการพูดคุยเจรจากับผู้เห็นต่าง สมช.ไม่มียุทธศาสตร์ใหม่ เหมือนปล่อยให้อีกฝ่ายขี่คอรัฐอยู่ ใช้พวกสุดโต่งก่อเหตุรุนแรง ใช้แนวร่วมทั้งในพื้นที่และในกรุงเทพฯคอยออกมาปกป้อง รวมทั้งในเวทีการเมืองของประเทศ
สมช.จะเสนออะไรในเงื่อนไขเช่นนี้ หรือจะใช้หลักการ “เรายอมโจร แล้วโจรจะยอมเรา” หรือ appeasement policy ที่พิสูจน์แล้วในมิติความมั่นคงว่าล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้นคิด ต่อให้เรายอมโจร โจรก็ไม่เคยยอมเรา เขาต้องการเอกราช เขาไม่ต้องการอย่างอื่น
เจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองบางส่วนควรสำเนียกในเรื่องนี้ ไม่ใช่ทำตัวเป็นกระบอกเสียงให้โจร หรือกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียเอง
- ข้อเสนอการเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการแก้ปัญหาแบบด้านเดียว หากเลิกแล้ว อะไรคือมาตรการใหม่ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่จะดำเนินการอย่างไร เพราะการระงับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่การจับอาชญากร แต่สู้กับกลุ่ม BRN
ถ้า สมช.ให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว BRN จะลดการก่อเหตุหรือไม่ ถ้าคิดว่าต้องการแค่ภาพว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว จะเท่ากับสร้างให้เกิดเสรีสำหรับการปฏิบัติของ BRN หรือไม่