ยุทธศาสตร์ใหม่ดับไฟใต้ที่ รองนายกฯภูมิธรรม เวชยชัย สั่งให้มีการทบทวน เริ่มมองเห็นเค้าลางบ้างแล้ว เมื่อเลขาธิการ สมช. ออกมาพูดถึงการฟื้นแนวทางตามนโยบาย 66/23 ขึ้นมาปรับใช้ใหม่
แต่มีการเน้นย้ำกำกับชัดเจนว่า ไม่มีและไม่ใช่การ “นิรโทษกรรม”
จริงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะนโยบายนี้ แท้จริงแล้วคือ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ที่ประกาศเมื่อ 45 ปีที่แล้ว ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
แนวทางคือเปิดโอกาสให้ “ผู้เห็นต่าง” ซึ่งก็คือนักศึกษาและปัญญาชนที่หนีเข้าป่า บางส่วนจับปืนต่อสู้กับรัฐ ให้วางอาวุธ กลับคืนสู่เมือง โดยทางรัฐบาลเปิดให้มีการนิรโทษกรรม ลบล้างความผิดทั้งหมด รวมถึงส่งเสริมทั้งเรื่องการศึกษาและอาชีพสำหรับผู้ที่กลับใจเข้าร่วมโครงการตามนโยบาย 66/23
นโยบายนี้ถือเป็นการใช้ “ไม้นวม” ในการแก้ไขปัญหา “อุดมการณ์แตกต่างทางการเมือง” ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และทำให้ประเทศไทยไม่ตกเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ หรือสังคมนิยม เหมือนกับอีกหลายๆ ประเทศในย่านนี้ที่ทยอยล้มทีละประเทศตามทฤษฎี “โดมิโน่”
สาเหตุที่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ นอกจากจะเป็นนโยบายเก่าที่เคยใช้มา 45 ปีแล้ว จริงๆ แนวคิดตามแบบของนโยบาย 66/23 ก็เคยถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านทาง “มาตรา 21” ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ “พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ” นั่นเอง
อ่านประกอบ : "กบฏ-ก่อการร้าย-ฆ่าคนตาย-วางระเบิด" เข้าข่าย ม.21 มีลุ้นอบรม 6 เดือนแทนถูกดำเนินคดี
ช่องทางตามมาตรา 21 สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับ “โครงการพาคนกลับบ้าน” คือ ดึงผู้เห็นต่างจากรัฐ หรือผู้ที่จับปืนสู้กับรัฐ ให้กลับมามอบตัว และต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม โดยมีช่องทางพิเศษตามมาตรา 21 เปิดไว้ให้ สำหรับ “ผู้หลงผิดที่กลับใจ” เข้ารับการอบรมเป็นเวลา 6 เดือน จากนั้นก็จะไม่ถูกดำเนินคดีในความผิดที่เคยกระทำมา แม้จะเป็นคดีอาญาร้ายแรงก็ตาม
ช่องทางนี้ฟังดูแล้วเหมือนดี แต่แทบไม่น่าเชื่อว่า ตั้งแต่เปิดใช้มาตรการนี้ เมื่อปี 2553 จนถึงปัจจุบัน รวมเวลา 15 ปี มีผู้เข้าร่วมโครงการ และผ่านการอบรมปรับทัศนคติเพียงแค่ 7-8 คนเท่านั้น
อ่านประกอบ : "อัยการใต้" เสนอเลิก "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ชง 4 ข้ออุดช่องโหว่มาตรา 21
ปัญหาที่พบคือ
1.กลุ่มผู้เห็นต่างฯ ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐมีความจริงใจในการแก้ปัญหาจริง เข้าโครงการแล้วจะได้รับการยกเว้นโทษจริงๆ
2.ผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องปรับทัศนคติ ต้องถอน “ซุมเป๊าะ” หรือ คำสาบานต่อพระเจ้าตามความเชื้ออิสลาม ซึ่งมีเงื่อนแง่ คือ
- ไม่ค่อยมีผู้นำศาสนามาทำหน้าที่นี้ เพราะกลัวตกเป็นเป้าสังหารของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
- ตามความเชื่อ ต้องถอนซุมเป๊าะ กับผู้นำศาสนา หรือ “บาบอ” ที่ทำซุมเป๊าะหรือไม่ (คือสาบานกับใคร ต้องถอนสาบานกับคนนั้น หรือเปล่า)
- เมื่อไม่มีความชัดเจน จึงทำให้ไม่มีใครอยากเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากขัดกับความเชื่อทางศาสนา
3.การอบรมเป็นระยะเวลา 6 เดือน ถูกมองว่ายาวนานเกินไป
4.ไม่มีมาตรการรองรับชัดเจนว่า หลังผ่าน 6 เดือนแล้ว ยกเลิกคดีทั้งหมดแล้ว จะได้รับการดูแลจากรัฐอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องอาชีพ และความปลอดภัย
5.พื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไม่ได้ครอบคลุมทุกอำเภอ ปัจจุบันใช้อยู่เพียง 17 อำเภอที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปแล้ว จากจำนวนอำเภอทั้งหมด 33 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
6. ถ้อยคำในกฎหมาย ใช้คำว่า “ผู้หลงผิด” และ “กลับใจ” ซึ่งอาจสวนทางกับความรู้สึกของผู้ที่ต่อสู้กับรัฐ
แหล่งข่าวจากผู้เชี่ยวชาญปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มองว่า นโยบาย 66/23 นำมาใช้กับนักเรียน นักศึกษา ปัญญาชนที่ยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไทย เพียงแต่มีอุดมการณ์ ความคิดความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่าง และถูกรัฐคุกคาม จึงหนีเข้าป่า แล้วต่อสู้กับรัฐ เมื่อได้รับการนิรโทษกรรม จึงเห็นด้วย สนับสนุน ดีใจ และได้กลับบ้าน ที่สำคัญส่วนใหญ่ไม่ได้ก่อคดีอาญาสำคัญ
ส่วนกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงชายแดนใต้ที่ต่อสู้กับรัฐ ส่วนหนึ่งหรืออาจจะเป็นส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไทย แต่เป็นคนมลายูมุสลิมที่ต้องการแยกดินแดนจากรัฐไทย ภายใต้แนวคิด “ปลดปล่อยรัฐปัตตานี” ที่ถูกผลิตขึ้นและผลิตซ้ำทางความคิดมาหลายสิบปี อาจจะเป็นร้อยปี ฉะนั้นคนที่เข้าร่วมขบวนการจึงไม่ได้คิดว่าตัวเองหลงผิด หรือต้องกลับใจ
ยิ่งไปกว่านั้น หลายคนยังก่อคดีฉกรรจ์ เช่น ฆ่าเผา ฆ่าตัดคอ ทำให้เหยื่อหรือครอบครัวของเหยื่อไม่อยากให้อภัย ไม่อยากให้ลดโทษ หรือยกเว้นการดำเนินคดี จึงมีกระแสคัดค้านในพื้นที่
ฉะนั้นการฟื้นแนวทางตามนโยบาย 66/23 จึงอาจไม่ใช่คำตอบของไฟใต้ใน พ.ศ.นี้
หรืออาจจะต้องฟื้นแนวทางการแก้ไข พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาตรา 21 ซึ่งมีการยกร่างเพื่อ “อุดช่องโหว่” ไว้แล้วตั้งแต่รัฐบาลอดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสิน แต่ไม่มีการสานต่อ จึงอาจต้องนำมาปัดฝุ่นใหม่…ก็เป็นได้
อ่านประกอบ : ป่วนใต้กลับใจอบรม 2 ปี – ขยายถึง "ผู้ต้องสงสัย”