ข่าวความเคลื่อนไหวของสมาคมผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกแห่งประเทศไทย ที่ได้ยื่นรายชื่อประชาชนผู้เลี้ยงนก และผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่อง จำนวนกว่า 110,000 รายชื่อ เพื่อเรียกร้องให้มีถอน “นกกรงหัวจุก” ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 นั้น
ล่าสุดมีการชี้แจงจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ หรือ ศอ.บต.แล้วว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ แถมยังอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการตามข้อเรียกร้องแล้วด้วย
โดย ศอ.บต.ร่วมกับภาคประชาชน ได้จัดกิจกรรมเรื่องนี้ต่อเนื่อง ตามมติ กพต. หรือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 7 ก.พ.67 เกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล
แนวทางการดำเนินการ คือ ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันพัฒนา “นกกรงหัวจุก” ให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกิดวงจรการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน บนพื้นฐานการทำงานหลักที่ไม่ทำให้นกกรงหัวหัจจุกตามธรรมชาติมีจำนวนลดลง และนำไปสู่การสูญพันธุ์
ในการนี้ ศอ.บต.ได้จัดสรรงบประมาณ 3,943,200 บาท ในปีงบประมาณ 2568 เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการขับเคลื่อนยกระดับ “นกปรอดหัวโขน” หรือ “นกกรงหัวจุก” ให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ และขับเคลื่อนนโยบายสร้างสรรค์ ตลอดจนพัฒนาทักษะอาชีพทั้งวงจรของนกปรอดหัวโขน รวมไปถึงการจัดแข่งขันนกปรอดหัวโขน และจัดแสดงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับนกด้วย
โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้นโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ในคราวแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11-12 ก.ย.66 กำหนดให้มียุทธศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนา Soft Power ของชาติ จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้มีการยกระดับการพัฒนานกกกรงหัวจุกให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างเศรษฐกิจที่ดีของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามนโยบายพัฒนา Soft Power
ด้วยเหตุนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพต. (ขณะนั้น) จึงได้มอบหมายให้ ศอ.บต.ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามข้อเสนอของสมาคมผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกแห่งประเทศไทย ที่มีการยื่นรายชื่อประชาชน กว่า 110,000 รายชื่อ ให้มีถอนนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง พร้อมจัดงบเพื่อทำงานร่วมกับภาคประชาชนคู่ขนานกันไปดังกล่าว
สำหรับ “นกปรอดหัวโขน” หรือ “นกกรงหัวจุก” เป็นสัตว์เลี้ยงที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นิยมเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ฟังเสียง และแข่งขันกันเป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลจากการศึกษา มูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ ตลอดจนห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของธุรกิจการเลี้ยงนกกรงหัวจุกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจำนวนนกกรงหัวจุกที่เลี้ยงอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ประมาณ 100,000 ตัว รวมมูลค่าราคานกกรงหัวจุกทั้งสิ้น 645,580,000 บาท สร้างกำไรที่ได้จากการเลี้ยง การแข่งขันและการขายนกกรงหัวจุก ภายหลังการแข่งขันในระยะเวลา 1 ปี จำนวนทั้งสิ้น 1,136,420,000 บาท (ข้อมูล ณวันที่ 28 ธ.ค.66 จากสมาชิกเครือข่ายของชมรมผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกจังหวัดชายแดนภาคใต้)
แม้ว่าธุรกิจการเลี้ยงนกกรงหัวจุกจะก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก แต่ยังมีข้อจำกัดเนื่องจากสถานะปัจจุบันนกกรงหัวจุกเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ผู้ครองครองต้องขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งทำให้เกิดความไม่คล่องตัวในการยกระดับการพัฒนานกกรงหัวจุกอย่างเป็นระบบและครบวงจร
ส่วนประเด็นข้อเรียกร้องให้ถอดชื่อนกกรงหัวจุกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง มีรายงานว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2567 โดยปัจจุบันได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาเรียบร้อยแล้ว โดยมีฝ่ายอนุรักษ์ ฝ่ายผู้เลี้ยง และฝ่ายวิชาการ ร่วมหารือกันจัดทำข้อเสนอให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการและเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ เพื่อประกาศเป็นรายกิจจานุเบกษา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ลงนามต่อไป