ทั้งนายกฯแพทองธาร ชินวัตร และ มท.1 อนุทิน ชาญวีรกูล พากันประสานเสียงตอกย้ำว่า การดำเนินการกับปลัดอำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม ต้องเป็นไปตามกฎหมาย
หลังจากปลัดอำเภอรายนี้ตกเป็นผู้ต้องหาคดีตากใบ สำนวนที่ 2 และยื่นใบลาราชการในจังหวะเวลาใกล้กับคดีตากใบขาดอายุความ
ทำให้สุดท้ายตนเองรอดคดี ไม่ต้องไปขึ้นศาล ไม่ต้องต่อสู้คดีในศาล แม้ตำรวจจะส่งกำลังไปติดตามตัวถึงที่ว่าการอำเภอก็ตาม แต่ก็ไม่พบ
รมว.มหาดไทย ออกตัวล่วงหน้าว่า โทษของปลัดอำเภอรายนี้ ไม่น่าจะถึงขั้นไล่ออกจากราชการ เพราะขาดราชการไม่เกิน 15 วัน
ทั้งหมดเป็นความเคลื่อนไหวท่ามกลางกระแสสังคมที่เรียกร้องให้ดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับบรรดาข้าราชการที่หลบหนีคดี และใช้ช่องว่างทางกฎหมายลางานเพื่อหลบเลี่ยงหมายจับ
ขณะเดียวกันก็ให้หาช่องทางงดจ่ายบำนาญให้กับข้าราชการเกษียณ 7 คนที่ตกเป็นจำเลยคดีตากใบ เพราะไม่ยอมไปขึ้นศาลเช่นกัน
การดำเนินการกับปลัดอำเภอท่าอุเทน ดูจะมีช่องลอดทางกฎหมาย แต่ “ทีมข่าวอิศรา” ตรวจพบว่า ข้อมูลการลาราชการของปลัดอำเภอรายนี้ กับห้วงเวลาที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องคดี น่าจะมีพิรุธหลายประการ
12 ก.ย.67 อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องคดีตากใบ สำนวน 2
18 ก.ย.67 คณะโฆษกอัยการ แถลงคำสั่งฟ้องของอัยการสูงสุด
- ฟ้องผู้ต้องหา 8 คน ชื่อปลัดอำเภอท่าอุเทน วิษณุ เลิศสงคราม เป็นผู้ต้องหาที่ 3
- มีการระบุชื่อในเอกสารแถลงข่าว และสื่อทุกแขนงรายงานอย่างครึกโครม
30 ก.ย. - 1 ต.ค.67 พนักงานสอบสวนขออนุมัติหมายจับและหมายเรียกจากศาลจังหวัดปัตตานี (มี 3 ผู้ต้องหาที่ศาลออกเป็นหมายเรียก เพราะเป็นข้าราชการ แต่ไม่ชัดว่ารวมปลัดท่าอุเทนด้วยหรือไม่)
ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.ถึงสิ้นเดือน ก.ย.67 ตำรวจอ้างเหตุผลของการที่ยังไม่ออกหมายจับว่า สำนวนคดีที่ส่งอัยการสูงสุด ฝ่ายตำรวจทำความเห็น “สั่งไม่ฟ้อง” ฉะนั้นเมื่ออัยการสูงสุด “สั่งฟ้อง” จึงต้องแจ้งกลับมาให้ตำรวจติดตามตัวผู้ต้องหาส่งอัยการ โดยฝ่ายตำรวจไม่ได้มีหมายจับอยู่ในมือ
3 ต.ค.67 มีรายงานยืนยันว่า ปลัดอำเภอท่าอุเทนเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดปัตตานี
3-4 ต.ค.67 ตำรวจปูพรมค้นบ้านผู้ต้องหา และจำเลยคดีตากใบทั้ง 2 สำนวนในหลายพื้นที่ แต่ไม่มีที่ อำเภอท่าอุเทน
18 ต.ค.67 พล.ต.ต.นิตินัย หลังยาหน่าย รองผบช.ภ.9 ไปติดตามตัวปลัดท่าอุเทน ถึงที่ว่าการอำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม แต่ไม่พบตัว
- มีรายงานว่าปลัดท่าอุเทน ลาราชการ โดยยื่นใบลาถูกต้อง
26 ต.ค.67 หลังคดีขาดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.เพียง 1 วัน ปลัดท่าอุเทนกลับมาทำงานตามปกติ และลงพื้นที่ปฏิบัติหน้าที่ทันที คือระงับเหตุชายคลุ้มคลั่งจากการเสพยา
- มีคำชี้แจงจากผู้บังคับบัญชา และ มท.1 ที่ได้รับรายงานว่า ปลัดท่าอุเทนลาราชการอย่างถูกต้อง ระหว่างวันที่ 15-18 ต.ค.67 จากนั้นก็ขาดราชการไป กลับมาวันที่ 26 ต.ค. ถือว่าขาดราชการไม่เกิน 15 วัน จึงไล่ออกจากราชการไม่ได้
- เมื่อผู้บังคับบัญชาทราบว่าถูกออกหมายจับ จึงยกเลิกใบลา
- มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง
- การลาที่ครอบคลุมวันที่ 18 ต.ค.67 ด้วย ทำให้ พล.ต.ต.นิตินัย ซึ่งเดินทางไปติดตามตัวผู้ต้องหารายนี้ ไม่พบตัวที่ท่าอุเทน
// ข้อสังเกต //
1.ลาราชการ 15 ต.ค.67 ตามที่มีคำชี้แจง เป็นการลาก่อนที่รองผบช.ภ.9 จะไปติดตามตัวเพียง 2 วัน
- เกิดคำถามว่ามีคนสะกิดให้ลาล่วงหน้า หรือหลบฉากไปก่อนหรือไม่
2.การลาราชการ 15-18 ต.ค.67 ถ้ามีการยื่นใบลาจริง ถือว่าเป็นการลาหลังจากโดนออกหมายจับแล้ว และมีการแถลงจากอัยการสูงสุดว่าตกเป็นผู้ต้องหาแล้วนานกว่า 1 เดือน (อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง 12 ก.ย. แถลง 18 ก.ย.67)
- เกิดคำถามว่าผู้บังคับบัญชาไม่รู้เรื่่องเลยหรือ ไม่อ่านไลน์กลุ่ม ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ดูทีวี ฯลฯ เลยหรืออย่างไร อย่างนี้เข้าข่ายละเลยหรือไม่
- ตัวปลัดอำเภอลาราชการโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นผู้ต้องหาคดีสำคัญ จึงต้องการหนีเพื่อให้ขาดอายุความหรือไม่
3.การเร่งกลับมาทำงานทันทีหลังคดีขาดอายุความแค่ข้ามวัน มีวัตถุประสงค์อะไร
- ห่วงงาน รักงาน ห่วงพื้นที่ รักพี่น้องประชาชน?
- มีความรับผิดชอบสูง?
- หรือหวังลอดช่องกฎหมาย ขาดราชการไม่เกิน 15 วัน ไล่ออกไม่ได้
// คำถามสำคัญ //
1.ทั้งหมดนี้เป็นการใช้สิทธิการลาโดยชอบหรือไม่
2.ผิดจริยธรรมหรือไม่
3.ผู้บังคับบัญชาละเลย หรือรู้เห็นเป็นใจหรือไม่