ขณะที่สถานะของคดีตากใบกำลังเดินทางเข้าสู่ช่วงใกล้จะขาดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.67 ปรากฏว่ามีข้อเรียกร้องจากบางฝ่ายเกี่ยวกับคดีนี้ เพราะมองว่าเป็นคดีใหญ่ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และยังกระทบกับปัญหาความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องและข้อเสนอ มีถึงขั้นให้แก้ไขกฎหมายอายุความ หรือใช้กฎหมายพิเศษเพื่อยืดอายุความคดีนี้ออกไป
นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ของวุฒิสภา และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงการพิจารณาคดีตากใบว่า รัฐบาลสามารถออกพระราชกำหนดได้ในการประชุม ครม. และในวันพฤหัสบดีนี้ทางสภาผู้แทนราษฎรจะสามารถให้ความเห็นชอบพระราชกำหนดได้ในกรณีเร่งด่วน ซึ่งส่วนตัวมองว่า หาก ครม.จะดำเนินการก็สามารถดำเนินการได้ทัน เพื่อขยายเวลาให้สามารถนำตัวจำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลได้
“เป็นความหวังสุดท้ายของผู้เสียหาย หากรัฐบาลหยุดอายุความได้ก่อน จะเป็นความหวังจะสามารถได้รับความยุติธรรม แต่หากว่าประตูตรงนี้ถูกปิดยังมองไม่ออก หากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มาศาลภายใน 2 วัน คืนวันที่ 24 ตุลาคมนี้ถือว่า คดีจะหมดอายุความผู้ต้องหาและจำเลยก็พ้นผิดไป เช่นเดียวกับคดีมัสยิดกรือเซะ แต่กรณีตากใบเป็นการเสียชีวิตภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นความรับผิดชอบของรัฐที่ไม่อาจปฏิเสธได้” นางอังคณากล่าว
พร้อมกับหยิบยกว่า กรณีที่มีคนกระทำผิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวมาดำเนินคดีได้ แต่ในขณะที่กรณีเจ้าหน้าที่กระทำผิด รัฐไม่สามารถจับเจ้าหน้าที่มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ ส่วนตัวเห็นว่า จะต้องมีการปฏิรูปกฎหมาย
และได้ประเมินสถานการณ์ในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ หากไม่สามารถจับผู้ต้องหามาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยอมรับว่ากังวลตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เพราะว่าความไว้เนื้อเชื่อใจอาจจะหมดไป เกิดความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมและอาจทำให้คนกลุ่มหนึ่งใช้การต่อสู้หรือความรุนแรงเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งทุกฝ่ายตระหนักถึงเรื่องนี้ แต่รัฐกลับปล่อยให้โอกาสการเข้าสู่กระบวนการในศาลหมดไป
นางอังคณา กล่าวฝากไปถึงรัฐบาลว่า รัฐบาลต้องหยุดในการสร้างวาทกรรมโยนความผิดให้ผู้เสียหาย จะเห็นหน่วยงานรัฐบาลพยายามพูดว่า กรณีตากใบเป็นการจัดการหรือขบวนการ หรือการกระทำของคนกลุ่มหนึ่งเพื่อเกิดการชุมนุม แต่สิ่งที่กรรมาธิการเองหรือทุกฝ่าย นักสิทธิมนุษยชนได้พูดกันคือใครจะรับผิดชอบการเสียชีวิตของคน 78 คน ไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะมาจากไหน แต่ไม่สมควรถูกกระทำได้รับถึงความตาย
@@ เช็คหมายแดงไม่เจอชื่อ พล.อ.พิศาล
ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา มีวาระเพื่อพิจารณาติดตามเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลอยนวลพ้นผิด กรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส
นายสุณัย ผาสุก ผู้แทน Human Rights Watch Asia กล่าวว่า ตนได้เช็กกับองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรืออินเตอร์โพลแล้ว กลับยังไม่พบชื่อของ พล.อ.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นผู้ถูกออกหมายจับ หรือ “หมายแดง” ของอินเตอร์โพล ย้ำว่า ผลที่ออกมาจะเป็นการตอกย้ำบรรทัดฐานว่า อย่างไรก็ตามเรายังไม่สามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐได้
“ผมมีความกังวลว่าการใช้กำลังของรัฐจะดำเนินต่อไป และรัฐสามารถกระทำกับประชาชนได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร คำว่า ตายจ่ายจบแล้ว ไม่ใช่การเยียวยา ส่วนคำพูดที่บอกว่ารับเงินไปแล้วก็จบ ยังไงก็ไม่จบ เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งทดแทนความยุติธรรม”
@@ จี้ตำรวจเปิดเผยข้อมูลผู้ต้องหา/จำเลยไปอยู่ที่ไหน
นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.พรรคประชาชน ได้ตั้งคำถามถึงการขอหมายแดงไปยังอินเตอร์โพล โดยอ้างว่ารัฐบาลไทยร้องขอหมายจับไปเพียง 3 คนเท่านั้น และไม่ใช่ผู้ต้องหาในคดีตากใบแต่อย่างใด จึงไม่แน่ใจว่า คำชี้แจงต่อกรรมาธิการตกหล่นอย่างไร จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบอีกครั้งในเวลานี้ พร้อมขอให้เปิดเผยว่า จำเลยอยู่ต่างประเทศกี่คน ประเทศใดบ้าง อยู่ในประเทศไทยกี่คน อยู่ที่ไหนบ้าง และมีจำเลยหรือผู้ต้องหาบางคนอยู่ในค่ายทหารหรือไม่ ซึ่งส่งผลต่อการทำหน้าที่ของตำรวจ และทั้ง 14 คนนี้ ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เพราะคดีนี้มีเดิมพันที่สูงมากเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ รวมถึงมีมาตรการคุ้มครองญาติของผู้เสียหายที่ฟ้องคดีอย่างไรหลังจากคดีหมดอายุความ และมีแนวคิดจะฟ้องร้องประชาชนที่กล้าหาญจะฟ้องร้องคดีนี้หรือไม่ อย่างไร
@@ ยันหมายแดงออกครบ ตรวจค้นแล้วทุกจุดไม่เว้นค่ายทหาร
ด้าน พ.ต.อ.รังสี มั่นจิตร หัวหน้างานซักถาม ศูนย์พิทักษ์สันติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ชี้แจงว่า ได้ออกหมายแดงแล้ว 14 ราย ยืนยันว่า กองการต่างประเทศได้ออกหมายเลขแล้วเรียบร้อย โดยบุคคล 2 คนที่ออกจากต่างประเทศอย่างถูกต้องคือสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น จึงได้ทำหนังสือถึงสถานทูตแล้ว ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือ กองสืบของแต่ละภูมิภาคได้แจ้งกลับมาว่า ไม่ปรากฏพบ คาดว่ามีการหลบหนีผ่านช่องทางธรรมชาติ จึงทำหนังสือถึงกรมศุลกากร ซึ่งระเบียบปฏิบัติต้องอาศัยการประสานกับตำรวจท้องที่นั้นๆ ไม่สามารถจับกุมได้ทันที ส่วนยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ตนยังไม่ทราบ ขณะที่ผู้ต้องหาที่เป็นข้าราชการทหารนั้น ได้ตรวจค้นในค่ายทหารจังหวัดลำปางและแสดงหมายจับแล้ว แต่ก็ไม่ได้พบตัว
@@ เตือน ปชช.แสดงออกกรณีตากใบอย่างมีขอบเขต
พ.ต.อ.จาระวิทย์ วงศ์ชัยกิตติพร รองผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ตัวแทนจากกอ.รมน. กล่าวถึงสถานการณ์หลังพ้นอายุความวันที่ 25 ตุลาคม ว่า อาจมีการแสดงออกของประชาชนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งผู้ที่แสดงออกต้องพึงระมัดระวังข้อความหรือท่าทีที่สื่อความหมายออกไปและเกิดผลกระทบ สร้างความเสียหาย ต้องว่ากันไปเป็นรายกรณี แต่โดยพื้นฐานทุกคนสามารถแสดงออกได้ในสิ่งที่มีความถูกต้องและมีดุลยพินิจที่เหมาะสม พร้อมยืนยันว่า กอ.รมน. ภาค4 ส่วนหน้ามีการเฝ้าระวังเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ในทุกรูปแบบติดตามสถานการณ์และตั้งวอรูมในช่วงนี้และต่อไป
@@ ปั่นตามหาออกซิเจน จากตากใบ - ค่ายอิงคยุทธ
ด้านความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมในคดีตากใบ เมื่อเวลา 09.30 น.วันพุธที่ 23 ต.ค.67 ที่บริเวณสนามเด็กเล่นหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นจุดที่มีการชุมนุมกรณีตากใบในอดีต ได้มีกลุ่มเยาวชน นักกิจกรรมในพื้นที่และนักปั่นจักรยานจากประเทศมาเลเซียกว่า 50 คน ได้ร่วมกันทำกิจกรรมปั่นจักรยาน 145 กิโลเมตร จากหน้า สภ.ตากใบไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมในคดีการสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ ที่กำลังจะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.67
นายมูฮัมหมัดอลาดี เด็งนิ อดีตประธานสมัชชาสังคมเพื่อสันติ แกนนำในการจัดกิจกรรม กล่าวว่า ที่มาของการจัดกิจกรรมการปั่นจักรยานในครั้งนี้ มาจากสาเหตุที่มีผู้เสียชีวิตระหว่างการขนย้าย และถูกระบุในผลการไต่สวนการตายว่า เกิดจากการขาดอากาศหายใจ จึงได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อตามหาออกซิเจนต่อลมหายใจ ในช่วงเวลาที่เหลือของคดีตากใบ เเม้จะไม่คาดหวังว่า ผู้ต้องหาตามหมายจับทั้ง 14 คนจะมามอบตัว หรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
“โดยส่วนตัวมองว่า การไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการของศาลของผู้ที่เกี่ยวข้อง อาจทำให้เหตุการณ์ตากใบสร้างความคับเเค้น อัดอั้น เเละไม่สบายใจให้คนในพื้นที่ต่อไป เเละอาจกลายเป็นเงื่อนไขใหม่ของความขัดเเย้งก็เป็นได้” นายมูฮัมหมัดอลาดี กล่าว
@@ กสม.แถลงการณ์จี้รัฐเร่งอำนวยความยุติธรรม
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขเยียวยาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงกรณีการสลายการชุมนุมที่ตากใบ โดยมีขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เพื่ออำนวยความยุติธรรมกรณีการสลายการชุมนุมที่ตากใบดังต่อไปนี้
1. เร่งนำตัวผู้ต้องหาในคดีนี้ทุกรายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อมิให้เกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดโดยอาศัยช่องว่างจากการดำเนินคดีล่าช้าและการขาดอายุความของคดี
2. ให้มีการเยียวยาความเสียหายที่มิใช่เฉพาะตัวเงิน การเยียวยานี้ หมายรวมถึงการทำความจริงให้ประจักษ์ โดยญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายต้องได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างสมบูรณ์และครบถ้วนอันเป็นการให้ความเคารพในศักดิ์ศรีของเหยื่อและผู้สูญเสีย
3. ผลักดันแก้ไขกฎหมายให้คดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากเสียชีวิต เช่นคดีตากใบ เป็นคดีที่ไม่มีอายุความ