ท่ามกลางกระแสฝุ่นตลบของ “คดีตากใบ” ที่บานปลายกลายเป็นประเด็นทางการเมือง
เนื่องจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนสำคัญที่สุดที่ “ศาลนราธิวาส” ประทับรับฟ้อง เป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 24 ของพรรคเพื่อไทย พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ผู้ที่ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ตากใบ
เหตุนี้จึงมีกระแสเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยต้องแสดงความรับผิดชอบมากกว่าการ “อยู่เฉย” ในสถานการณ์ที่ พล.อ.พิศาล หายหน้าไปจากสภา และเชื่อว่าน่าจะหลบหนีไปต่างประเทศเพื่อรอเวลาให้คดีขาดอายุความ วันที่ 25 ต.ค.ที่จะถึงนี้
คดีตากใบที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในช่วงใกล้หมดอายุความ 20 ปี ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็น “ความเป็นธรรม” และ “ประวัติศาสตร์บาดแผล” จากภาพลบๆ และผลกระทบอย่างร้ายแรงของเหตุการณ์
กระทั่งมีข้อถกเถียงจากบางฝ่ายว่า บรรยากาศที่เกิดขึ้นขณะนี้ส่งผลดีต่อภาพรวมของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะข้อกล่าวหาในลักษณะโจมตี “รัฐไทย” จากฝ่ายไทยด้วยกันเองว่าไม่เคยให้ความเป็นธรรมกับความสูญเสียที่เกิดจากเหตุการณ์ตากใบเลย
มีการหยิบยก “ข้อมูลเยียวยา” ซึ่งมีการจ่ายกันไปแล้วในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเป็นการจ่าย “กรณีพิเศษ” สูงสุด 7,500,000 บาท กรณีเสียชีวิต มาเป็นตัวอย่างเชิงประจักษ์เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่า รัฐไม่ได้ละเลยความสูญเสีย หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างสิ้นเชิงเสียทีเดียว
ฉะนั้นการเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์จึงควรจำกัดวงไม่ให้กระทบกับมิติความมั่นคงในภาพรวม ซึ่งอาจส่งผลต่อสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้...หรือไม่
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และความมั่นคงชื่อดัง คือผู้ที่ออกมาชูธงเรียกร้องให้สังคมตั้งสติในมุมนี้
ล่าสุดอาจารย์เขียนบทความเกี่ยวกับข้อมูลเยียวยา “เหยื่อตากใบ” เพื่อตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า รัฐไทยไม่ได้ละเลยกับปัญหาที่เกิดขึ้นเสียทีเดียว
พร้อมออกตัวว่า ไม่ได้บอกว่าเงินเยียวยาสามารถทดแทนชีวิตที่สูญสิ้นไปได้ เพียงแต่เป็นการสะท้อนภาพว่ารัฐไทยไม่ได้ละเลยกับความสูญเสีย และพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นกัน
จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มที่ดีหากจะใช้ข้อมูลนี้เป็นจุดร่วมของการพูดคุยเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งและความรุนแรงที่ดำรงอยู่มานานหลายทศวรรษ ก่อนเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อปี 2547 ซึ่งถือเป็น “ความรุนแรงระลอก 3” ของไฟใต้เสียด้วยซ้ำ
@@ เยียวยาตากใบ!
ในกรณีของความสูญเสียที่เกิดในกระบวนการขนส่งผู้ถูกจับกุมจากการประท้วงที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 85 รายและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในขณะที่อยู่ผู้ถูกจับกุมอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำให้รัฐหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรับผิดชอบดูแลความสูญเสียดังกล่าว
ดังนั้น ในสมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงได้นำเอาเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการ “เยียวยา” แก่ผู้ได้รับผลกระทบเหล่านั้นทั้งหมด
แน่นอนว่า การเยียวยาที่เกิดขึ้นนั้น ไม่อาจทดแทนต่อการเสียชีวิตได้ หากแต่เป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบของรัฐต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และเพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐไทยตระหนักถึงความสูญเสียในครั้งนี้ รัฐจึงต้องทำการ “เยียวยา” ให้แก่ครอบครัวของผู้สูญเสียและแก่บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บ
อีกทั้งการกระทำเช่นนี้เป็นคำตอบในอีกด้านหนึ่งให้แก่พี่น้องชาวมุสลิมในพื้นที่ว่า รัฐไทยมิได้ละเลยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น หรือรัฐไทยไม่ใส่ใจต่อความสูญเสียเหล่านั้นแต่อย่างใด
การเยียวยายังมีนัยถึงการชี้ให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐได้ตระหนักเสมอว่า การดำเนินการในการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เจ้าหน้าที่รัฐในทุกระดับ โดยเฉพาะในระดับผู้บังคับบัญชา จำเป็นต้องมีความละเอียดอ่อนและระมัดระวังผลที่จะเกิดตามมาจากการกระทำที่ประมาทและขาดความใคร่ครวญ ตลอดรวมถึงการใส่ใจต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติที่อาจละเลยต่อสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกจับกุม เพราะเงินเยียวยาเกิดมาจากการใช้ภาษีของประชาชน
ดังนั้น คณะรัฐมนตรีในสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จึงได้มีมติจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ประสบปัญหาจำนวน 987 รายและแยกผู้ที่ได้รับการเยียวยาออกเป็น 3 ประเภท ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
(1) ผู้เสียชีวิตและทุพพลภาพ
1) ผู้เสียชีวิตจำนวน 85 รายๆ ละ 7,500,000 บาท จ่ายจริงเป็นเงิน 651,10,000 บาท
2) ผู้ทุพพลภาพจำนวน 1 รายๆ ละ 7,500,000 บาท จ่ายจริงเป็นเงิน 6,380,000 บาท
(2) ผู้บาดเจ็บในลักษณะต่างๆ 49 ราย ได้แก่
3) ผู้บาดเจ็บพิการจำนวน 8 รายๆ ละ 4,500,000 บาท เป็นเงิน 33,140,000 บาท
4) ผู้บาดเจ็บสาหัสจำนวน 11 รายๆ ละ 1,125,000 บาท เป็นเงิน 11,705,000 บาท
5) ผู้บาดเจ็บปานกลาง 22 รายๆ ละ 675,000 บาท เป็นเงิน 13,970,000 บาท
6) ผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 8 รายๆ ละ 225,000 บาท เป็นเงิน 1,640,000 บาท
(3) ผู้ถูกควบคุมดำเนินคดีและไม่ดำเนินคดี แต่ไม่บาดเจ็บ
7) ผู้ที่ถูกดำเนินคดี 56 รายๆ ละ 30,000 บาท เป็นเงิน 2,025,200 บาท (จ่ายวันละ 400 บาท)
8) ผู้ถูกควบคุมตัวแต่ไม่ถูกดำเนินคดี 794 รายๆ ละ 15,000 บาท เป็นเงิน 11,532,000 บาท
สรุปยอดรวมผู้ที่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 987 ราย คิดเป็นเงินทั้งหมด 641,493,200 บาท สำหรับในกรณีผู้เสียชีวิตและผู้ที่ทุพพลภาพนั้น ยอดที่ได้รับจะลดลงจากตัวเลขที่กำหนดไว้ตามมติ ครม. เพราะได้รับการเยียวยาจากเงินของรัฐในส่วนอื่นไปก่อนแล้ว
การเยียวยาในสมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ดำเนินการโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการศูนย์อำนวนการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ. บต.) และขณะเดียวกัน ศอ. บต. ยังได้ผลักดันแนวคิด “ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” โดยใช้ พ.ร.บ.การบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ที่รัฐไทยจะให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ที่ประสบความเสียหายและได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และการเยียวยานี้ จะไม่ไปตัดสิทธิประโยชน์ที่บุคคลผู้นั้น ควรได้รับตามกฎหมายอื่น
นอกจากนี้ มติ ครม. ในวันที่ 14 สิงหาคม 2555 ยังปรับการเยียวยาของประชาชนจากรายละ 100,000 บาท ให้ได้รับเพิ่มขึ้นเท่ากับข้าราชการเป็นรายละ 500,000 บาท และให้มีผลย้อนหลังกลับไปจนถึงเหตุการณ์ปล้นปืนในเดือนมกราคม 2547 โดยให้มีการทยอยจ่ายเพิ่มเติมปีละ 100,000 บาท
การกำหนดเกณฑ์เยียวยาเช่นนี้ ถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และ พ.ต.อ.ทวี ที่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันแนวคิดดังกล่าว จนสำเร็จเป็นมติคณะรัฐมนตรี และเป็นสัญญาณสำคัญของความพยายามของรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ที่มิใช่เพียงกรณีตากใบเท่านั้น หากยังถอยสิทธิประโยชน์ไปครอบคลุมถึงผู้ประสบเหตุตั้งแต่กรณีปล้นปืน 4 มกราคม 2547
ข้อมูลในส่วนนี้ เป็นอีกด้านของกรณีตากใบที่มักไม่ได้ถูกนำมาเผยแพร่ในเวทีสาธารณะมากนัก รวมถึงในเรื่องของการแก้ปัญหาภาคใต้ แต่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า บทความนี้ มิได้ต้องการนำเสนอว่า เงินเยียวยาทดแทนการสูญเสียชีวิตและการบาดเจ็บที่เกิดได้ หากแต่เป็นภาพสะท้อนถึง การที่รัฐไม่ได้ละเลยปัญหาความสูญเสียที่เกิดขึ้น และพยายามหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว
อีกทั้ง ต้องถือว่า กรณีตากใบเป็นบทเรียนสำคัญในการจัดการปัญหาความมั่นคงที่รัฐไทยจะต้องเรียนรู้อย่างปฏิเสธไม่ได้ ในอีกด้าน ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ล้วนมีบริบททางการเมือง - ความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของขบวนติดอาวุธในภาคใต้อย่างที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันด้วย !
ข้อมูล : ตัวเลขเงินเยียวยามาจาก ศูนย์ข่าวภาคใต้, “17 ปีตากใบ…เหตุการณ์เดียวเยียวยา 641 ล้าน กระทบ 987 ชีวิต!” สำนักข่าวอิศรา, 25 ตุลาคม 2564.