เสียงฟู่ควันก้อนใหญ่ที่พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า...นี่คือประเพณีงานบุญบั้งไฟ หนึ่งเดียวในภาคใต้ ที่ริมตะเข็บชายแดนไทย-มาเลเซีย ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส
งานบุญบั้งไฟเป็นประเพณีของคนภาคอีสาน แต่กลับจัดขึ้นที่ดินแดนปลายสุดด้ามขวานทองของไทยต่อเนื่องยาวนานเป็นปีที่ 45
บุญบั้งไฟที่นี่มีถิ่นกำเนิดจากฝีมือของคนอีสานแท้ๆ ทั้งวิธีการทำบั้งไฟ ขบวนแห่บั้งไฟ เป็นกิจกรรมที่สร้างความสามัคคี ความสนุกสนาน เป็นมนต์เสน่ห์งานประเพณีดั้งเดิมที่สวยงามตระการตา ทั้งยังเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่คนในภาคใต้หาดูได้ยาก
จุดประสงค์ของงานบุญบั้งไฟ คือการบูชาพญาแถน หรือ “เทพแห่งฝน” เพื่อต้องการให้มีฝนตกต้องตามฤดูกาล
จิราพร นกพรม สมาชิกบั้งไฟค่ายพิณพาเพลิน เล่าว่า เราคือชุมชนคนอีสานที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่นราธิวาส ที่ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน เกิดความเหงา อยากกลับบ้าน ทำอย่างไรเพื่อระลึกถึงประเพณีทางภาคอีสาน ก็ต้อง...บุญบั้งไฟ
ในอดีตเรามาอยู่ที่นี่นานกว่า 40 ปี บางคนมาตั้งแต่ พ.ศ.2523 หรือ พ.ศ.2524 ดั้งเดิมก็คือคนอีสานที่มีฐานะยากจน อพยพมาอยู่ จากนั้นประเพณีบุญบั้งไฟก็สืบทอดกันมาเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น จากพ่อสอนลูก จากลูกสอนหลาน ต่อเนื่องกันมา กลายเป็นกิจกรรมที่นิยมขึ้นชื่อของ อ.สุคิริน เป็นจุดขายในปฏิทินท่องเที่ยวของ จ.นราธิวาส ซึ่งตรงกับสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน มิ.ย.ในทุกๆ ปี
“งานบุญบั้งไฟ” ยังเป็นการกลับมารวมกลุ่มกันของคนอีสานตั้งแต่รุ่นบุกเบิก จนถึงรุ่นหนุ่มสาว ในเขตนิคมสร้างตนเองในโครงการพระราชดำริฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปัจจุบันกลายเป็นชุมชนคนอีสานซึ่งอาศัยอยู่จำนวนกว่า 2,000 ครัวเรือน และอยู่ท่ามกลางไทยมุสลิม จนกลายสภาพเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ
การจุดบั้งไฟที่ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน อาจจะไม่ยิ่งใหญ่เหมือนกับทางภาคอีสานแท้ๆ แต่ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก ถือว่าเป็นความภูมิใจของคนชุมชนอีสานพลัดถิ่น ถือว่าได้ร่วมกันสืบสานและสืบทอดประเพณีร่วมกันของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งมีทั้งสิ้น 8 หมู่บ้าน มีการจัดตั้งเป็นค่าย
“ปีนี้มีบั้งไฟมากกว่า 18 ค่ายเข้าร่วมกิจกรรม แต่ละค่ายจะมีสูตรจำเพาะ หรือสูตรลับในการทำบั้งไฟ มีการนำข้อผิดพลาดของปีก่อนๆ มาพัฒนาปรับปรุง เพื่อให้บั้งไฟของแต่ละค่ายขึ้นสู่ท้องฟ้าและตกลงมายังพื้น ใช้เวลานานที่สุด” จิราพร จากบั้งไฟค่ายพิณพาเพลิน บอก และว่าบั้งไฟแต่ละอัน ใช้เวลาผลิตถึง 2 วัน
จิราพร บอกทิ้งท้ายว่า หากพลาดกิจกรรมดีๆ ที่เป็นมนต์เสน่ห์สืบทอดกันมาร่วมครึ่งศตวรรษ ก็บอกได้คำเดียวว่า “มาชมงานที่ตระการตาได้ในปีถัดไปเด้อ!”