การเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลมาเลเซีย ถูกมองจากนักวิชาการที่เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดว่า ก่อให้เกิดผลสะเทือนตามมาหลายมิติ
ทั้งในแง่ของประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่ผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ แตกต่างจากคนเก่าอย่างแทบจะสิ้นเชิง ทำให้พอมองเห็นทิศทางที่มาเลเซียต้องการเดินต่อไป
ขณะที่กระบวนการดับไฟใต้ไม่ค่อยคืบหน้าเพราะอะไร แน่นอนว่าไม่ได้มีเหตุปัจจัยจากผู้อำนวยความสะดวกเป็นด้านหลัก แต่มาจาก “ทฤษฎีวงกลม 2 วง” ที่ ผศ.ดร.ชัยวัฒน์ มีสัณฐาน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดประเด็นเอาไว้อย่างน่าสนใจ
@@ การเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกโต๊ะพูดคุยฯ หรือ facilitator จากอดีตนายทหารใหญ่ เป็นอดีตทูต และอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ คิดว่ามีนัยอะไรบ้าง?
เหตุผลอย่างแรก ผมคิดว่าในปัจจุบันสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างจะเกิดขึ้นถี่กว่าที่ผ่านมา น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการพิจารณาเปลี่ยนตัวผู้ประสานงาน เพราะอาจต้องใช้ความเชี่ยวชาญในมิติของความมั่นคง ซึ่งคนเก่าเขามีอยู่แล้ว แต่อีกมิติหนึ่งคนที่มาแทนใหม่มีมากกว่า คือ เขาทำงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย เคยเป็นอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติของมาเลเซียมาด้วย
ในสถานการณ์เช่นนี้ เขาคงต้องการให้ตัวผู้ประสานงานมีความเชี่ยวชาญในมิติของงานระหว่างประเทศมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาที่โฟกัสแต่เรื่องความมั่นคงมิติเดียว อันนี้เป็นปัจจัยหนึ่ง บวกกับสถานการณ์ที่เพิ่มขึ้นด้วย
ช่วงเวลาก่อนหน้านี้ คนที่ได้รับความไว้วางใจเพียงพอ และเข้าใจปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงพอ ค่อนข้างน้อยมากในมาเลเซีย ฉะนั้นการได้รับแอคชั่นตรงนี้ไม่ง่าย พอได้ตัวเลือกตรงนี้มา เป็นสถานการณ์เหมาะที่จะเปลี่ยน แล้วเอาคนที่มีลักษณะเฉพาะมากกว่าเข้าไปทำงาน
@@ คิดว่าอดีตนายกฯทักษิณ ที่มีข่าวไปพบปะกับนายกฯมาเลเซียช่วงก่อนหน้านี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยฯด้วยหรือไม่?
ก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราสังเกตก็จะพบว่าในการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ประสานงาน จะมีการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งถ้ามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
แต่ตอนนี้แม้ว่าในไทยเราเองไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น คือมีคุณทักษิณ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลจากรัฐบาลเข้ามา จึงอาจจะมีส่วนที่เป็นไปได้
@@ ภารกิจหลักของผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ คิดว่าคืออะไรเป็นเรื่องหลัก?
เชื่อว่าสิ่งที่เขาอยากให้ทำมาก คือการเดินหน้าในมิติของการเมืองระหว่างประเทศ ในปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการสร้างภาพในเวทีระหว่างประเทศด้วย ขณะเดียวกันก็แก้ไขปัญหาความมั่นคงภายในที่เป็นความมั่นคงตามแนวชายแดน ทำสองอย่างควบคู่กันไป ซึ่งแตกต่างจากผู้ประสานงานคนก่อนหน้านี้
@@ มีบางฝ่ายมองว่าการพูดคุยสันติสุขฯไม่ค่อยคืบหน้า...
การพูดคุยที่ผ่านมายังไม่เจอส่วนที่ทับซ้อนกัน ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมของทั้งสองฝ่ายจริงๆ เหมือนวงกลม 2 วงวิ่งไปวิ่งมาในกรอบสี่เหลี่ยม วิ่งไปวิ่งมาได้ แต่ไม่เคยวิ่งมาทับกัน ต่างคนต่างแก้ปัญหาวิธีของตนเอง ต่างคนต่างเสนอเนื้อหาตามวิธีของตัวเอง โดยที่ไม่พยายามหรืออาจพยายามโดยที่ทำให้วงกลม 2 วงนี้เริ่มมาทับกัน เหมือนเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด
สิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลอยากได้ มันไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลอยากให้ และสิ่งที่รัฐบาลอยากให้เป็น มันก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ตรงข้ามฝั่งรัฐอยากได้อีก ก็ยังหาผลประโยชน์ร่วมกันของคู่เจรจาไม่ได้
ถ้าจะเอาให้ตรงๆ ตราบใดที่ปัญหาหรือรากเหง้าของปัญหาที่ถูกยกขึ้นมาพูด มันเป็นเรื่องยากมากที่เราจะแก้ไขปัญหาได้ แม้กระทั่งจุดเริ่มต้นของปัญหาซึ่งหลายคนพยายามจะปฏิเสธ
จริงๆ แล้วประวัติศาสตร์เป็นเรื่องเก่า เราย้อนไปไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ ความขัดแย้งต่างๆ มันมีจุดเริ่มต้น แล้วมันถูกปลุกด้วยพลังของประวัติศาสตร์บาดแผลล้วนๆ เลย
ดังนั้นผู้ก่อเหตุ ผู้ก่อความไม่สงบ ใช้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในการสร้างปัญหา ในขณะที่ รัฐบาลใช้ประวัติศาสตร์ชาติในการแก้ไข้ปัญหา วงกลม 2 วงมันไม่วิ่งเข้ามาทับกันเลย เหมือนเรากินยาพาราเซตามอลเพื่อรักษาอาการกลากเกลื้อน เป็นการให้ยาไม่ตรงกับโรค
เราพบว่ามีกระบวนการเปลี่ยนแปลงให้เป็นความเกลียดชัง ถ้าสังเกตในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราจะพบว่าความเกลียดชังของผู้อยู่ตรงข้ามรัฐชัดเจนมากๆ มันมาเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็คือขบวนการติดอาวุธจริงๆ มันเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ได้เกิดขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
และประเด็นที่น่าสนใจมาก ก็คือนิยามของคำว่า “รัฐ” สามจังหวัดเป็นเรื่องของ “ชาติ” กับ “ศาสนา” แต่ไม่รวมสถาบันพระมหากษัตริย์ไปด้วย คือผู้ที่อยู่ตรงข้ามรัฐไม่เอาชาติ ไม่เอาไทย มันเป็นการไม่เอาชาติไทย กับไม่เอาศาสนา แต่เราไม่เคยเห็นเคส 112 เคสการเผาพระบรมรูปเกิดขึ้นเลยในสามจังหวัด ซึ่งมันน่าแปลก
ถ้าไม่เอาชาติ มันก็ควรจะไม่เอาทั้งองคาพยพ แต่เรากลับพบว่าในพื้นที่ ในนิยามของผู้ก่อเหตุเป็นชาติกับศาสนา มันไม่ใช่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมเป็นหนึ่งองคาพยพ
ฉะนั้นการต่อสู้มันจึงเป็นการต่อสู้ใน 2 มิติเท่านั้น ก็คือเรื่องชาติของตัวเอง กับการขับเคลื่อนเรื่องของศาสนา ไม่ไปแตะเรื่องสถาบัน ซึ่งมันน่าแปลกใจมาก ทั้งที่ในความเป็นจริงถ้าต้องการเอกราช เรื่องที่ต้องแตะเพื่อสร้างความไม่พอใจ และปลุกพลังมากขึ้น ก็คือเรื่องของสถาบัน ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าจับตามาก มันจึงมีอะไรพิเศษที่เราน่าจะต้องค้นหาดู
@@ วงกลม 2 วงจะมาทับซ้อนกันได้อย่างไร?
เชื่อว่าเรื่องนี้มีคนที่เข้าใจ และรัฐบาลเองก็เข้าใจและรู้ถึงปัญหา แต่ด้วยความเป็น “รัฐ” ทำให้เรื่องนี้ต้องถูกวางไว้ข้างหลัง แล้วเจรจาบนพื้นฐานของความเป็น “รัฐ” คือจะไม่ต่อรองกับผู้ที่ต้องการแบ่งแยก
การที่รัฐเป็น “รัฐ” แล้วมีอำนาจอธิปไตยของตัวเอง ลงไปคุยอย่างนี้มันก็ผิดวิสัย และด้วยความเป็น “รัฐ” ใช้ประวัติศาสตร์ชาติลักษณะนี้ ทำให้ถอยออกมาไม่ได้ เพราะถ้าถอยก็เป็นการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองได้ทำผิดพลาดไป
ก็ได้แต่หวังว่าวันหนึ่งจะเห็นถึงปัญหาตรงนี้ แล้วถอยออกมาคนละก้าว แม้ว่ามันไม่ใช่ความเสียหาย เพราะสุดท้ายแล้วเอาเข้าจริงมันก็จะได้ประโยชน์กันทั้งตัวของคนในพื้นที่เอง แล้วก็ตัวของรัฐบาลเองด้วย
@@ ยังมองว่าการพูดคุยฯเป็นทางออกหรือไม่?
สุดท้ายแล้วการพูดคุยจะเป็นทางออก และเป็นสิ่งที่ดี โดยต้องแก้ไขบนพื้นฐานของความอดทน และหวังว่าวงกลมทั้ง 2 วงมันจะวิ่งทับกัน และมันจะทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ปวดหัวก็กินยาพาราฯ แต่อย่างน้อยก็ทุเลาได้บ้าง เหมือนกับปัจจุบันเหมือนหายไป แต่จริงๆแล้วมันอาจจะไม่ได้หายไป เพียงแค่มันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้น แล้วก็ไม่ได้หมดไป มันพร้อมที่จะกลับมาทุกเมื่อ แต่ปัจจุบันกลับมาค่อนข้างเยอะ
อีกเรื่องหนึ่งเราต้องมาดูว่าเมื่อเปลี่ยนตัวผู้ประสานงานที่มีทักษะมากกว่าด้านความมั่นคงมิติเดียว แต่มีทักษะทางด้านงานระหว่างประเทศด้วย มีทักษะการประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆด้วย ก็จะต้องดูบทบาทสำคัญของเขาว่าจะเดินบทบาทนี้ได้มากน้อยขนาดไหน และเขาจะยืนระยะแล้วใช้พื้นที่ตรงนี้ในการประสานงานพูดคุยได้มากน้อยเพียงใด อันนี้ต้องจับตาดูด้วยความคาดหวังว่ามันจะมีแนวทางในมิติที่ดีขึ้น