มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
แม้เมื่อวันที่ 30 เม.ย.67 เพิ่งมีการประชุม “ฝ่ายเทคนิค” ของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ “ไทยกับบีอาร์เอ็น” จบไปสดๆ ร้อนๆ แถมได้ข้อสรุปที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ทว่ากลับปรากฏว่าข่าวใหญ่กว่าแทรกเข้ามา นั่นก็คือข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองทางทหารที่ว่า กลุ่มป่วนใต้กำลัง “ฝึกบินโดรน” เพื่อทิ้ง “ไปป์บอม” ถล่มฐานทหารในพื้นที่
ข้อมูลนี้ไม่ใช่ “ข้อมูลลอยๆ” แต่ได้มาจากหน่วยข่าวกรองทางทหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุแหล่งข่าวชัดเจนว่า มาจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพราน 48
ตามข่าวอ้างอิงว่า ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวฝั่งประเทศเพื่อนบ้านว่า มีกลุ่มแนวร่วมก่อความไม่สงบชายแดนใต้ของไทย ระบุชื่อ นายเกรียงไกร สงวนนามสกุล กับ นายอิสมาแอ สงวนนามสกุล ซึ่งมีชื่ออยู่ใน “ฝ่ายเศรษฐกิจ” ของกลุ่มขบวนการแยกดินแดน ติดต่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินโดรน ซึ่งเป็นกลุ่มใต้ดินจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ให้ไปสอนฝึกบินโดรนในพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส
โดยรูปแบบการทดสอบบินโดรน มีการฝึกการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักใกล้เคียงกับ “ไปป์บอมบ์” ซึ่งเป็น “ระเบิดแสวงเครื่อง” ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในพื้นที่
กิจกรรมฝึกบิน และทดสอบการใช้งาน ทำมาประมาณ 2 เดือนแล้ว คาดว่าเพื่อเตรียมก่อเหตุกับฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โดยเน้นฐานที่ไม่มีต้นไม้สูง จะได้ง่ายต่อการทิ้งระเบิด /รือฐานปฏิบัติการที่มีกำลังพลจำนวนมาก โดยปักหมุดในพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง และ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ราบเป็นส่วนใหญ่
ทันทีที่เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวได้รับข้อมูล ก็ได้แจ้งไปยังทุกหน่วย โดยเฉพาะหน่วยกำลังในพื้นที่เสี่ยงตกเป็นเป้าหมาย ให้ยกระดับความเข้มงวดในการเฝ้าระวังและดูแลความปลอดภัยบริเวณฐานที่ตั้ง และกำลังพล เพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝัน
@@ รู้จัก “โดรนทางทหาร” ติดปืน - ขนระเบิด
สำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารด้านความมั่นคงและยุทโธปกรณ์ อาจจะงงว่า “โดรน” หรือ “อากาศยานไร้คนขับ” คืออะไร แตกต่างจาก “เครื่องบินบังคับ” แค่ไหน อย่างไร
แหล่งข่าวซึ่งเคยเป็นหัวหน้าหน่วยงานด้านความมั่นคงระดับประเทศ อธิบายว่า...
“เครื่องบินบังคับ” มีมานานแล้ว เป็นเครื่องบินเล็กที่มีลักษณะเหมือนเครื่องบินจริง แต่ย่อส่วนให้เล็กลง มีปีก มีใบพัด มีเครื่องยนต์ หรือเป็นเฮลิคอปเตอร์ การขึ้นลงต้องมีรันเวย์ บังคับด้วยวิทยุ รัศมีการควบคุมไม่ไกลนัก ไม่ได้ประกอบสร้างขึ้นมาเพื่อบรรทุกสิ่งของหรือติดตั้งยุทโธปกรณ์
ส่วน “โดรน” เป็นอากาศยานไร้คนขับ มีหลายรูปแบบ เช่น “โดรน” เชิงพาณิชย์ เชิงเกษตรกรรม ใช้ขนของ ขนปุ๋ย ขนสินค้า ซึ่งใช้กันแพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน
แต่ “โดรน” ที่กำลังพูดถึงนี้ คือ “โดรน” ที่ใช้ปฏิบัติการทางทหาร รูปร่างคล้ายเครื่องบิน มีใบพัดหลายๆ อันทำหน้าที่พยุงตัวอากาศยาน ต่างกันที่การติดตั้งอาวุธที่อาจยิงจากโดรนได้โดยตรง หรือทำให้โดรนเป็นอาวุธในตัวเอง เรียกว่า “โดรนพุ่งชน” พร้อมติดตั้งระบบกล้อง บินได้ไกลและสูงมาก สามารถติดปืน และบรรทุกระเบิดได้ ขนาดระเบิดหรือปืนก็แปรผันไปตามศักยภาพของโดรน
ความต่างระหว่างโดรนกับเครื่องบินบังคับ คือ
1.ขึ้นลงทางดิ่งได้ ไม่เปลืองพื้นที่ โดรนบางประเภทใช้คนส่งขึ้นบิน ไม่ต้องมีรันเวย์
2.บรรทุกยุทโธปกรณ์ได้ ทั้งปืน และระเบิด
3.บังคับได้ไกลกว่าเครื่องบินจำลอง บินได้ไกลกว่าเครื่องบินบังคับ
@@ ผู้เชี่ยวชาญ เชื่อ กลุ่มป่วนใต้พัฒนาใช้ “โดรน” โจมตี
เมื่อรู้จัก “โดรน” กันแล้ว คราวนี้มาประเมินกันต่อถึงความเป็นไปได้ที่กลุ่มป่วนใต้จะใช้ “โดรน” บรรทุกระเบิด โจมตีฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่
ประเด็นนี้ อดีตหัวหน้าหน่วยงานด้านความมั่นคงระดับประเทศ ให้ข้อมูลว่า มีความเป็นไปได้เรื่องการจัดหาโดรนขนาดเล็ก ซึ่งหาซื้อได้ไม่ยาก ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน และในไทยเอง
ส่วนการติดตั้งระเบิด ก็ทำได้ไม่ยากเช่นกัน เพราะเป็นเพียงการนำระเบิดไปติดตั้งในโดรน แล้วใช้ตัวบังคับจุดระเบิด
แต่การใช้ “โดรน” จะมีข้อจำกัดเรื่องปริมาณการบรรทุกระเบิด เพราะหากเป็นโดรนขนาดเล็ก จะบรรทุกได้ไม่มาก ความเสียหายต่อเป้าหมายอาจไม่คุ้มค่า และการใช้โดรนในพื้นที่ป่าเขาทำได้ยาก เนื่องจากมีต้นไม้เป็นอุปสรรคกีดขวาง และผู้ใช้โดรนต้องผ่านการฝึกฝนพอสมควร
“ทราบว่าที่ผ่านมามีการประเมินของกองทัพ มีการเตรียมมาตรการป้องกันเอาไว้แล้ว” อดีตหัวหน้าหน่วยงานด้านความมั่นคงระดับประเทศ ระบุ
“ทีมข่าวอิศรา” ติดต่อไปยัง รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง อาจารย์มองว่า มีแนวโน้มสูงพอสมควรที่กลุ่มขบวนการในภาคใต้จะพัฒนาการใช้โดรนเพื่อก่อเหตุ ซึ่งคาดว่ามีการฝึกในบ้านเรา และในพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้าน
@@ โฆษก กอ.รมน.ปลอบ “ข่าวเก่า” เน้นเฝ้าระวัง
ข้ามไปฟังหน่วยปฏิบัติในพื้นที่กันบ้าง โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พ.อ.เอกวริทธิ์ ชอบชูผล บอกทำนองว่า “ไม่ต้องตกใจ” เพราะมีข่าวแจ้งเตือนแบบนี้มาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ยังไม่เห็นว่ามีของจริง
“ทั้งหมดเป็นข่าวจากการบอกเล่า แต่ยังไม่มีหลักฐานการปฏิบัติจริง ทางฝ่ายความมั่นคงถือเป็นสมมติฐานหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังเป็นปกติอยู่แล้ว” พ.อ.เอกวริทธิ์ ระบุ
@@ ออกประกาศห้ามบินโดรน - ฝ่าฝืนคุก 2 ปี
ที่สำคัญ เรื่องนี้ได้มีประกาศของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ห้ามใช้ “โดรน” ในพื้นที่อย่างเด็ดขาด
ประกาศฉบับนี้ เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2561 นับย้อนไปก็ 6 ปีก่อน โดยสั่งห้ามอากาศยานที่ใช้การควบคุมการบินจากภายนอก ทำการบินเข้าไปในบริเวณฐานปฏิบัติการ จุดตรวจ รวมทั้งที่ตั้งของหน่วยงานด้านความมั่นคง ฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร
และห้ามการใช้อากาศยานในลักษณะใช้ติดตาม เฝ้าตรวจ สอดแนมการปฏิบัติงานของหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่
หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบ ให้ทำการยึดและดำเนินการตามกฎหมาย ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
@@ กำลังพลแฉ เคยเจอ “โดรนสอดแนม” ไล่ยิงแต่ไม่โดน
ในขณะที่โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า บอกว่ายังไม่พบการปฏิบัติจริงของคนร้ายในการใช้ “โดรน” โจมตีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนใต้
แต่จากการตรวจสอบข่าวย้อนหลัง และพูดคุยกับกำลังพลในพื้นที่ พบว่าเคยเผชิญหน้ากับ “โดรน” มาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะ “โดรนสอดแนม”
เจ้าหน้าที่นายหนึ่งให้ข้อมูลว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงแล้ว เมื่อเวลา 23.35 น.ของคืนวันที่ 18 พ.ค.ปีที่แล้ว เราพบโดนต้องสงสัยบินสำรวจบริเวณด้านหลังของโรงพัก สภ.จะแนะ จ.นราธิวาส
เมื่อพบเห็น ตำรวจ สภ.จะแนะ จึงใช้ปืนยิงโดรน แต่ยิงไม่ถูกตัวโดรน คนร้ายจึงบังคับหนีไปได้ ฉะนั้นข่าวการฝึกบินโดรน จึงไม่ใช่เรื่องแปลก และเชื่อว่ามีจริงแน่นอน
จากการตรวจสอบของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่ามีรายงานการใช้ “โดรน” ในการปฏิบัติการของกลุ่มก่อความไม่สงบมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่ได้เป็นข่าวโด่งดัง แต่ประเด็นที่ยังเป็นคำถามก็คือ ฝ่ายความมั่นคงพร้อมรับมือแล้วหรือยัง
เพราะต้องไม่ลืมว่า การต่อสู้โดยใช้ “โดรน” กำลังเป็นเทรนด์ของการสู้รบของกองกำลังกลุ่มต่างๆ ในยุคนี้ ที่ต่อสู้กับรัฐ หรือกองทัพขนาดใหญ่ เช่น ในสงครามกลางเมืองเมียนมา หรือแม้แต่ในสงครามยูเครน