คำว่า “ความมั่นคงด้านการท่องเที่ยว” หรือ Tourism Security ดูจะไม่ค่อยมีใครพูดถึงนักในบ้านเรา
เพราะเมื่อเอ่ยถึงยุทธศาสตร์ “บูมการท่องเที่ยว” ก็มักจะมีแต่ข่าวว่าจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวมาเมืองไทยมากๆ ก็จะเน้น “แคมเปญ ลด-แลก-แจก-แถม” และคุณค่าความเป็นไทย ตลอดจนความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวเป็นหลัก
เช่น สยามเมืองยิ้ม, วัดวาอาราม, หาดสวยน้ำใส, การอำนวยความสะดวกทุกรูปแบบ แม้แต่ “ฟรีวีซ่า” หรือ “วีซ่าฟรี” ที่รัฐบาลเพิ่งประกาศให้นักท่องเที่ยวจีนกับคาซัคสถาน ก็เป็นหนึ่งในแคมเปญดึงดูดนักท่องเที่ยวเช่นกัน
แต่สิ่งที่ถูกมองข้ามมาตลอดก็คือ “ความมั่นคงด้านการท่องเที่ยว”
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง อธิบายว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมิติ “ความมั่นคง” กับปัญหา “การท่องเที่ยว” นั้น แม้คนทั่วไปอาจจะรู้สึกว่าทั้ง 2 ประเด็นไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความมั่นคงเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
และนั่นคือสิ่งที่เรียกว่า “ความมั่นคงด้านการท่องเที่ยว” หรือ Tourism Security
เหตุการณ์การใช้อาวุธปืนกราดยิงของเยาวชนชายในบริเวณห้างสยามพารากอน จนมีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมาไม่ใช่เป็นข่าวใหญ่แค่ในสังคมไทยเท่านั้น หากแต่เป็นรายงานข่าวที่ปรากฏในสื่อระหว่างประเทศหลายสำนัก รวมทั้งสื่อจีน
รายงานข่าวเช่นนี้เป็นภาพสะท้อนที่สำคัญของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ที่ข้อมูลข่าวสารจะแพร่ไปอย่างรวดเร็วในเวทีโลก
ในเหตุการณ์กราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าครั้งนี้ ผู้เสียชีวิตเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน และมีผู้บาดเจ็บชาวไทยอีกจำนวนหนึ่ง…ภาพของข่าวการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในยามนี้ ส่งผลกระทบต่อนโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลอย่างแน่นอน เพราะเป็นช่วงที่รัฐบาลของ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นรัฐบาลใหม่ของไทย พยายามอย่างมากที่จะพลิกฟื้นการท่องเที่ยวในยุคหลังโควิด-19 จนถึงขนาดที่เปิด “ฟรีวีซ่า” ให้แก่ชาวจีนในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย
ความพยายามที่จะดึงการท่องเที่ยวจากจีนให้กลับมาสู่ไทย ด้วยการเปิดให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาโดยไม่ต้องทำวีซ่านั้น จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ยังจำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากเศรษฐกิจภาคบริการที่มีการท่องเที่ยวเป็นเสาหลัก
ฉะนั้น เหตุร้ายที่มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตเช่นนี้ จึงเป็นความท้าทายโดยตรงต่อการจัดการของภาครัฐ และท้าทายอย่างมากต่อแนวคิดในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เนื่องจาก “สงครามการท่องเที่ยว” ที่มีความหมายถึงการแย่งชิงนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาใช้จ่ายในประเทศของตนนั้น มีการแข่งขันสูง และทุกประเทศพยายามที่ดึงรายได้จากชัยชนะในสงครามการท่องเที่ยวให้ได้ เพราะรายได้นี้จะช่วยโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของ จีดีพี ของประเทศอย่างแน่นอน และเป็นรายได้ที่ทุกประเทศต้องการในขณะนี้
การจะเอาชนะใน “สงครามการท่องเที่ยว” นั้น บางทีรัฐบาลอาจจะต้องคิดมากขึ้นในเรื่องความ “ปลอดภัย” ของการเดินทางท่องเที่ยวในไทย มากกว่าจะเน้นอยู่กับเรื่องของการทำ “โปรโมชั่น”
กล่าวคือ รัฐบาลไทยอาจต้องคิดเพิ่มเติมว่า ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยของการทำโปรโมชั่นในตัวเอง และความปลอดภัยนี้ยังมีนัยถึงความปลอดภัยของสังคมโดยรวมที่มิได้เป็นเรื่องของนักท่องเที่ยวจากภายนอกเท่านั้น
จากปัญหาการกราดยิงที่เกิดขึ้นนั้น เราอาจพิจารณาประเด็นนี้ในมิติของปัญหา “ความมั่นคงด้านการท่องเที่ยว” (Tourism Security) ที่มีความหมายถึงการให้ความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว และการเสริมสร้างความมั่นคงสำหรับการเดินทางสู่จุดหมายปลายทาง ซึ่งรัฐที่พึ่งพาการท่องเที่ยวจะต้องคิดในเรื่องนี้ให้ได้
ทั้งยังต้องตระหนักว่า การตัดสินใจของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังประเทศหนึ่งประเทศใดนั้น สะท้อนถึงความเชื่อมั่นว่า การเดินทางของพวกเขาจะต้องมีความปลอดภัยในจุดหมายปลายทาง เนื่องจากจะต้องตระหนักว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะไปอยู่ในจุดที่ไม่ใช่ประเทศของเขา และเขาจะไม่มีความคุ้นเคยกับพื้นที่ดังกล่าวทั้งในทางภาษาและวัฒนธรรมแต่อย่างใดเลย
ฉะนั้น รัฐเจ้าของพื้นที่จะต้องคิดให้ได้มากกว่าที่จะยึดติดอยู่กับการนำเสนอภาพของ “การต้อนรับอย่างอบอุ่น” (hospitality) เท่านั้น หากแต่จะต้องหาทางลด “ความกังวล” ของนักท่องเที่ยว และทำให้พวกเขาจะต้องมั่นใจว่า พื้นที่ของการท่องเที่ยวนั้น ไม่มี “ความเสี่ยง” หรือหากมีความเสี่ยง ก็อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ เช่น คงไม่มีใครชักชวนกันไปเที่ยวในพื้นที่การรบ เนื่องจากสงครามเป็นความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ เป็นต้น
เงื่อนไขเช่นนี้อาจกล่าวในทางรัฐศาสตร์ได้ว่า พื้นที่ที่มีสันติภาพและเสถียรภาพจะมีโอกาสพัฒนาเป็นจุดส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยนัยดังกล่าว ความมั่นคงจึงเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และจะเป็นส่วนของการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ เพราะหลักการที่ชัดเจนคือ ไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนอยากไปเที่ยวและพักผ่อนในประเทศที่ไร้เสถียรภาพและไม่มีสันติภาพอย่างแน่นอน หรือนักท่องเที่ยวคงไม่อยากไปท่องเที่ยวในประเทศที่เต็มไปด้วยอาชญากรรม และเป็นการพักผ่อนที่ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน
ตัวอย่างของภัยความมั่นคงด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่ อาชญากรรม การก่อการร้าย สงคราม โรคระบาด วิกฤตใหญ่ทางธรรมชาติ การจลาจล และความไม่สงบทางสังคมในพื้นที่ที่เป็นจุดหมายปลายทาง พื้นที่ที่มีเหตุดังที่กล่าวแล้ว ไม่ว่าจะสวยเพียงใด น่าเที่ยวเพียงใดก็ตาม แต่พื้นที่เช่นนี้จะ “ไม่ชวนเที่ยว” แต่อย่างใด เพราะเป็นพื้นที่ที่ไม่มีความมั่นคงและความปลอดภัยในตัวเอง
ฉะนั้น การโปรโมทการท่องเที่ยวในมิติเช่นนี้คือ รัฐบาลจะต้องสร้าง “สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย” ให้แก่นักท่องเที่ยว แม้ในด้านหนึ่ง นักท่องเที่ยวอาจต้องเผชิญกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นตามแหล่งท่องเที่ยว แต่ก็จะต้องมีหลักประกันว่า พวกเขาจะได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในการดูแลรักษาความปลอดภัย แม้พวกเขาที่เป็นคนต่างชาติที่อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีความแตกต่างทางสังคมอย่างมากก็ตาม
หรือเมื่อเกิดเหตุจนนำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิตแล้ว พวกเขาจะได้รับการดูแลจาก “กองทุนความปลอดภัยนักท่องเที่ยว” ซึ่งรัฐบาลควรจะต้องจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันให้แก่นักท่องเที่ยวในอนาคต เป็นต้น
การกล่าวเช่นนี้ มิได้หมายความว่ารัฐบาลจะดูแลแต่ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และไม่สนใจคนในประเทศ ซึ่งว่าที่จริงแล้ว ความปลอดภัยโดยรวมของประเทศคือ ปัจจัยของการส่งเสริมการท่องเที่ยวในตัวเอง
นอกจากนี้ ตัวอย่างที่เป็นสัญญาณเตือนในเรื่องของความมั่นคงด้านการท่องเที่ยวที่ชัดเจนจากอดีตที่ไม่ไกลนัก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไทยเองเคยเผชิญกับปัญหาความมั่นคงด้านการท่องเที่ยวมาแล้วอย่างมีนัยสำคัญ คือ กรณีเรือรับนักท่องเที่ยวที่พบกับพายุอย่างฉับพลัน และเกิดการอับปางลงที่จังหวัดภูเก็ต จนทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนในเรือเสียชีวิตมากถึง 47 คนในต้นเดือนกรกฎาคม 2561…
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น จนถึงการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวจีนในเหตุกราดยิงครั้งนี้ ตลอดรวมถึงการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวหลายสัญชาติอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในหลายกรณี ล้วนต้องถือว่าเป็นสัญญาณเตือนให้รัฐบาลไทยคิดเรื่อง “ความมั่นคงด้านการท่องเที่ยว” อย่างจริงจัง บนหลักการเบื้องต้นของการสร้าง “พื้นที่ความมั่นคงและปลอดภัย” สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย!