"สอนหนังสือมา 26 ปี เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้หวั่นๆ กลัวๆ แต่ด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบทำให้ความกลัวลดลง เดินทางไปกลับในการสอนวันละ 40 กิโลเมตร มีเจ้าหน้าที่ชุด รปภ.ครูคอยดูแลอย่างดี ทำให้มั่นใจมากขึ้น"
เป็นความรู้สึกของ ฉวีวรรณ ขุนเจริญ ครูจากโรงเรียนบ้านบางราพา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ที่พูดถึงการทำหน้าที่สอนหนังสือท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อมานานกว่า 16 ปี
นับจากปี 2547 วันเสียงปืนแตก 4 มกราคม มีครูและบุคลากรทางการศึกษาตกเป็นเป้าหมายการลอบทำร้ายด้วยความรุนแรงทุกรูปแบบ จนมีครูเสียชีวิตมากถึง 182 ราย บาดเจ็บอีก 161 ราย นักเรียนเสียชีวิต 56 ราย บาดเจ็บ 20 ราย ถือเป็นความสูญเสียของคนในแวดวงการศึกษาแทบจะมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย และมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในทุกภาคของประเทศ
รูปแบบการทำร้ายครูที่ร้ายแรงที่สุด คือการบุกเข้าไปยิงถึงในห้องเรียน ต่อหน้าต่อตาเด็กนักเรียน เรียกว่ายิงคาชอล์คหน้ากระดานดำก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่ใช่แค่รายเดียว แต่มีถึง 11 ราย (อ่านประกอบ : บันทึกครูใต้ในวันครูปี 61 สูญเสีย 184 ชีวิตกับอีก 2 เรื่องที่อยากขอ...)
นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์กรุ้มรุมทำร้าย ครูจูหลิง ปงกันมูล เมื่อ 19 พฤษภาคม 2549 ที่โรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทำให้ครูผู้หญิงตัวเล็กๆ จากจังหวัดเชียงราย ต้องจบชีวิตลงที่ดินแดนปลายด้ามขวาน (อ่านประกอบ : 8 ปีครูจูหลิงที่จากไป...กับโศกนาฏกรรมร้ายที่ยังไม่จบบริบูรณ์)
จากความพยายามแก้ไขปัญหาทุกวิถีทาง ทำให้สถานการณ์โดยรวมดีขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งระยะหลังมีสถิติเหตุการณ์ลอบทำร้ายครูลดจำนวนลง และเกิดขึ้นไม่กี่เหมือนเก่า แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ครูอุ่นใจ คือการดูแลของเจ้าหน้าที่ชุด รปภ. ซึ่งต้องถือว่าเสี่ยงอันตรายไม่แพ้ครู
"ตั้งแต่มีการสูญเสียเมื่อปี 2547 ครูในพื้นที่ได้รับการดูแลดีขึ้นทุกด้าน ผู้ใหญ่ได้ทำตามสัญญาและสานต่อให้ดีขึ้น มีการ รปภ.ดูแลอย่างดี ครูทำตามคำแนะนำและร่วมระมัดระวังตัวเอง เหตุการณ์ก็ค่อยๆ เบาบางลง กำลังใจครูและบุคลากรดีขึ้น"
เป็นเสียงจาก นายมูหามัดไซดี มะปีเยาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนคุรุประขาสรรค์ ต.เกะรอ อ.รามัน จ.ยะลา ที่ตอกย้ำถึงความสำคัญของการมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยรักษาความปลอดภัยให้ครู
เมื่อไม่นานมานี้ ครูชายแดนใต้จำนวนกว่า 700 คน นำโดยสมาพันธ์ครูจังหวัดชยาแดนภาคใต้ ได้ร่วมกันจัดงาน "รำลึกคุรุวีรชน ครั้งที่ 11" ภายใต้ชื่องาน "สมาพันธ์ครู เคียงคู่ เชิดชู ครูชายแดนใต้" เพื่อระลึกถึงครู 182 รายที่ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ และเพื่อแสดงความรัก ความผูกพันของครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านวิกฤติ ผ่านสถานการณ์ความรุนแรงมาด้วยกัน
บรรยากาศของงานเต็มไปด้วยไออุ่น ทำให้เห็นว่าครูในพื้นที่มีความรัก ผูกพัน และยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้สมฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อเด็กๆ และเพื่อประเทศชาติต่อไป
ภายในงานมีการจัดกิจกรรมทางศาสนา ทั้งพุทธ และอิสลาม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับครูผู้วายชนม์ มีการแสดงละครที่สะท้อนถึงความรักความผูกพันของครูในพื้นที่ การอ่านบทกวี การแสดงนิทรรศการเพื่อยกย่องครู ร่วมวางดอกไม้เพื่อไว้อาลัย ยกย่องถึงความดีงาม ความเสียสละ ความตั้งใจที่ได้ทำงานเพื่อการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมา
กิจกรรมครั้งนั้นมี นายธนพร สมศรี เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ สกสค. เดินทางไปร่วมงานด้วย และได้รับฟังเสียงสะท้อนเกี่ยวกับปัญหาการเบิกจ่ายเพื่อช่วยเหลือเยียวยาครู ทำให้ยังมีผู้ที่ตกหล่น ไม่ได้รับ หรือได้รับไม่ครบถ้วนจำนวนหนึ่ง
นายธนพร บอกว่า การช่วยเหลือครูที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบถือเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องเงินช่วยเหลือเยียวยา และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ควรจะได้รับ ตนจะนำปัญหาที่ยังคงมีอยู่บางจุดซึ่งได้รับฟังจากคณะครู ไปรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพราะในความเห็นของครูชายแดนใต้ พบปัญหาขาดการเชื่อโยมระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลางอยู่จริง ส่งผลให้มีปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายต่างๆ
"ที่จริงในหลักการ รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้เสียชีวิตหรือผู้ทุกพลภาพจากเหตุอื่นๆ แต่ความเชื่อมโยงและระเบียบวิธีการจ่ายตามระเบียบการใช้งบประมาณอาจจะยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ฉะนั้นจะรีบกลับไปดำเนินการทันที และประสานไปยังสำนักงบประมาณ รวมทั้งกรมบัญชีกลาง เพื่อหารือว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เร็วที่สุด เชื่อว่าจะสามารถจ่ายเงินเยียวยาให้กับครูที่ได้รับผลกระทบได้ครบทุกราย" เลขาธิการ สกสค. รับปาก
นายธนพร บอกด้วยว่า สกสค.จะตั้งโครงการร่วมกับกระทรวงแรงงาน เพื่อจัดหางาน หาอาชีพที่มั่นคงยั่งยืน เพื่อสร้างรายได้ให้กับทายาทและครอบครัวของครูผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบ รวมถึงครอบครัวของครูทุกคน เพื่อให้มีรายได้แบบอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลดีกว่าการช่วยเหลือเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เพราะจะมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวต่อไป
จากการเรียนการสอนที่ต้องเรียกว่าทำกันกลางกระสุนปืนและเสียงระเบิด ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าครูทุกคนทำด้วยด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบ แต่นอกเหนือจากนั้นก็คือ "หัวใจ" ที่ทำให้ครูชายแดนใต้ยังคงเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แก่ลูกหลานต่อไป ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเยี่ยงไรก็ตาม