"เรารับคดีครอบครัวในเวลา 6 ปีที่ผ่านมา 2560-2565 ทั้งหมดจำนวน 4,678 คดี ปี 2560 ไกล่เกลี่ย 722 คดี สำเร็จ 394 คดี ฟ้องหย่า 523 คดี, ปี 2561 ไกล่เกลี่ย 826 คดี สำเร็จ 634 คดี ฟ้องหย่า 614 คดี, ปี 2562 ไกล่เกลี่ย 821 คดี สำเร็จ 617 คดี ฟ้องหย่า 619 คดี, ปี 2563 ไกล่เกลี่ย 832 คดี สำเร็จ 676 คดี ฟ้องหย่า 630 คดี, ปี 2564 ไกล่เกลี่ย 766 คดี สำเร็จ 589 คดี ฟ้องหย่า 547 คดี และปี 2565 ไกล่เกลี่ย 710 คดี สำเร็จ 534 คดี ที่เหลือเป็นฟ้องหย่า”
รวมคดีฟ้องหย่าเฉพาะปัตตานีจังหวัดเดียวในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาทั้งสิ้น 3,109 คดี
นี่เป็นข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี หรือที่เรียกกันติดปากว่า “มัจลิสปัตตานี” ที่ถูกเปิดเผยในเวทีสัมมนาแนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีในกิจการศาสนาอิสลาม ด้านเด็ก สตรี และครอบครัว จัดโดยเครือข่ายผู้หญิง ภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (CIVIC WOMEN) และองค์กรภาคี ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพภาคประชาสังคมชายแดนใต้โดยกระบวนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อำเภอเมืองปัตตานี เมื่อเร็วๆ นี้
ภายในงานมีตัวแทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคการเมือง ร่วมแชร์ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความเห็น
นี่คือตัวเลขที่น่าหนักใจที่สะท้อนผ่าน “มัจลิส” หรือ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งรับผิดชอบแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับครอบครัวตามหลักอิสลาม ทั้งเรื่องดีและไม่ดี คือทั้งการแต่งงาน การอบรมก่อนใช้ชีวิตคู่ และการหย่าร้าง แยกทางกัน รวมไปถึงเรื่องมรดก
ตัวเลขการฟ้องหย่าที่สูง สะท้อนปัญหาครอบครัวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเชื่อมโยงถึงปัญหาสังคมอีกหลายปัญหา และกระทบเข้ากับสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นต้นธารของชุมชนและสังคมเข้าอย่างจัง
ต้นเหตุของการหย่าร้างมาจากปัญหายาเสพติด สภาพการศึกษา เศรษฐกิจ และการว่างงาน
“เรามีแต่หน้าที่ แต่ไม่มีอำนาจที่จะบังคับคดีให้สามีส่งเสียลูกได้" เป็นเสียงจากตัวแทนมัจลิสปัตตานี ที่ชี้ให้เห็นถึงผลสะเทือนที่เกิดกับเด็ก จากปัญหาครอบครัวที่เกิดจากพ่อและแม่
ปัญหาการหย่าร้าง สะท้อนผ่านตัวเลขผู้ลงทะเบียนแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เปิดเป็นครั้งแรกเมื่อไม่นานมานี้ จำนวน 620 คน จำนวนนี้ร้อยละ 64 เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเพราะสามีเสียชีวิต และร้อยละ 36 มาจากการหย่าร้าง มีเด็กกำพร้าพ่อจำนวน 43 คน อยู่กับแม่จำนวน 197 คน พ่อแม่เสียชีวิตจำนวน 8 คน
ถือเป็นปัญหาหนักที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรง เศรษฐกิจ การศึกษา ยาเสพติดที่แพร่ระบาด และค่านิยมความเชื่อ ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน
“เราได้รับการร้องเรียนที่ผู้หญิงไปฟ้องหย่าปีนี้ 600 กว่าเรื่อง มีทั้งที่สิ้นสุดแล้วและกำลังดำเนินการ มัจลิสกำลังแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ขณะนี้มีการประชุมกันทุกเดือน ให้มีการอบรมก่อนแต่งงานเพื่อให้มีความรู้พื้นฐานตามหลักศาสนาของสามีและภรรยา ยินดีที่จะรับไปปรึกษาหารือเพื่อให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการทำงานของมัจลิส” ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
@@ ฝ่ามายาคติ...ผู้หญิงไม่เหมาะเป็นผู้นำ
เวทีสัมมนายังมีการเปิดรายงานวิจัยหัวข้อ "การทำงานในพื้นที่สาธารณะของผู้หญิงมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ในบริบทศาสนาอิสลาม" จากตัวแทนแกนนำผู้หญิงผู้หญิงต้นแบบในพื้นที่
ผลวิจัยพบว่า มุสลิมและผู้หญิงมุสลิมส่วนใหญ่ในพื้นที่ยังขาดชุดข้อมูลความรู้ที่ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทและสิทธิสตรีในอิสลาม และบทบาทผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะตามหลักการศาสนา ยังพบว่ามีการผลิตซ้ำมายาคติที่ว่า “ผู้หญิงไม่เหมาะสมในการเป็นผู้นำ, ครอบครัวคาดหวังผู้หญิงต้องรับผิดชอบการเลี้ยงดูแลลูก การงานภายในบ้านให้มีความสมบูรณ์”
แต่แกนนำผู้หญิงบอกว่า การทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคมต้องสามารถทำได้ โดการปรับตัว แก้ไข และปรึกษาหารือกับผู้นำศาสนา
@@ แนะจัดทำ “ชุดข้อมูล” ประสานผู้รู้ทางศาสนา
ตัวแทนผู้รู้ และนักวิชาการศาสนา มีมุมมองต่อเรื่องบทบาทของสตรีว่า อิสลามไม่ได้ห้าม แต่ไม่ได้มีหลักการที่สนับสนุน ต้องดำเนินการภายใต้ขอบเขตของหลักการศาสนา พิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม การเปลี่ยนแปลงของชายหญิงในสภาวะปัจจุบัน สามีสามารถช่วยเหลือภรรยาโดยยึดแนวทางการตกลงหารือที่เหมาะสมร่วมกันได้
การส่งเสริมบทบาทในเรื่องนี้ ควรให้แกนนำผู้หญิงมุสลิมมีบทบาทและส่วนร่วมในกิจการด้านศาสนาอิสลาม ทั้งด้านแนวคิดและการทำงานที่เป็นรูปธรรม มีการจัดทำ “ชุดข้อมูลความรู้” และการอบรมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและบทบาทหน้าที่ของหญิง-ชายในอิสลาม
การขับเคลื่อนประเด็นผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่สาธารณะ ควรมีการปรึกษาหารือประสานงาน สร้างความร่วมมือกับผู้รู้ ผู้นำศาสนา และหน่วยงานด้านศาสนา รวมทั้งผู้หญิงมุสลิมต้องพัฒนาทักษะความรู้ทั้งศาสนาและความรู้ทางโลก
@@ พรรคการเมืองเห็นพ้องขยับบทบาทหญิงมุสลิม
ด้านตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ ให้ความเห็นในประเด็นบทบาทสตรี
กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ บอกว่า มุสลิมะฮ์มีการขยับตัวในแถวหน้ามากขึ้น ซึ่งแนวทางของอิสลามไม่ได้ห้าม และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งยึดหลักการไม่ให้เลือกปฏิบัติ
"มุสลิมะฮ์ที่เรียนนิติศาสตร์มีมากขึ้น ควรดึงมาขยับให้เขาทำหน้าที่ด้านการประนีประนอมไกล่เกลี่ยให้มากกว่าเดิม”
พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เราไม่สามารถผลักดันเรื่องนี้โดยพรรคใดพรรคหนึ่ง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องให้มีทั้งการกระทำในรูปแบบ และการติดตามผลที่เหมือนกัน ฐานข้อมูลของพื้นที่ที่เป็นระบบยังไม่สามารถใช้งานได้ ทำไมผู้หญิงไม่มีส่วนร่วมโดยตรงบนโต๊ะเจรจา (กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ) การผลักดันให้ผู้หญิงเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพยังไม่เพียงพอ เป็นประเด็นร่วมที่ควรอยู่บนโต๊ะเจรจาในการส่งเสียงของผู้หญิง
ดร.รัชดา ธนาดิเรก กรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า เชื่อในศักยภาพว่าผู้หญิงว่าจะช่วยผู้หญิง ให้ผู้หญิงได้มีบทบาทในการตัดสินใจ
@@ ได้เวลาเปิดพื้นที่ “หญิงช่วยหญิง”
ขณะที่ ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า การมีส่วนร่วมในสิทธิเสรีภาพของสตรีมุสลิมในการบริหารกิจการศาสนาอิสลาม จำเป็นที่ต้องให้มีการศึกษาที่เท่าเทียมกัน อิสลามให้เกียรติผู้หญิง และผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชายในทุกที่ จึงควรให้ผู้หญิงมีบทบาท ได้สร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม
“ควรให้ผู้หญิงที่ต้องหย่าร้างมีกองทุนช่วยเหลือ จัดทำข้อมูลให้เป็นระบบเหมือนมัจลิสปัตตานี เรื่องนี้เป็นเป้าหมายเดียวกับการเจรจาสันติภาพ” ตัวแทนจาก กสม. ย้ำ
เวทีสัมมนายังมีข้อเสนอแนะจากวิทยากรและผู้ร่วมรับฟัง ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจก็เช่น
- ควรมีงบประมาณเพื่อเป็นเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์บริการให้คำปรึกษาประจำมัจลิส เพื่อให้ได้ทำงานช่วยเหลือผู้หญิงอย่างต่อเนื่องและครบวงจร
- คณะกรรมการอิสลามแต่ละจังหวัดควรเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าไปอยู่ในโครงสร้างการทำงานร่วมกัน ซึ่งไม่ได้ผิดหลักการศาสนา เป็นการมีส่วนร่วมในกิจกรรมศาสนา เพื่อร่วมแก้ปัญหาเกี่ยวกับเยาวชนและผู้หญิงในฐานะอนุกรรมการฝ่ายกิจการสตรีและครอบครัว ช่วยเหลือเด็กกำพร้าหญิงหม้าย มุอัลลัฟ (ผู้เข้ารับอิสลาม) และมีฐานข้อมูลงานวิจัยที่เป็นเชิงสถิติ