ถือเป็นพรรคการเมืองที่มีความเคลื่อนไหวในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง สำหรับพรรคประชาชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากเป็นพรรคที่ครองความนิยมอันดับ 1 ในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 62 กวาด ส.ส. 6 เก้าอี้จากทั้งหมด 11 เก้าอี้ มากกว่าครึ่ง
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในฐานะเลขาธิการพรรค ขยันลงพื้นที่ เสริมด้วยบารมีของ "บ้านใหญ่" อย่าง วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค
อย่างเมื่อวันดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน พ.ต.อ.ทวี พร้อมด้วย วันมูหะมัดนอร์ มะทา ก็เดินทางไปที่หอชมดวงจันทร์ อ.ยะหา จ.ยะลา เพื่อร่วมในกิจกรรมสำคัญตามหลักศาสนาของพี่น้องมุสลิม
ในวันนั้น พ.ต.อ.ทวี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเอาไว้หลายเรื่อง แต่ละเรื่องแม้ไม่ใช่ประเด็นเฉพาะหน้า แต่ก็เป็นประเด็นสำคัญในเชิงหลักการที่สมควรบันทึกเอาไว้
เริ่มจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ซึ่งเป็นคลัสเตอร์สถานบันเทิง ทำให้พื้นที่ชายแดนใต้โดนเพียงหางเลข
"ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เราได้รับผลกระทบจากการระบาดมาหลายครั้ง แต่ในรอบที่ 3 นี้ ก็ต้องชื่นชมเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายของทั้งสามจังหวัดที่มีระบบการป้องกันอย่างดี ขณะที่ประชาชนก็มีความตระหนักและตื่นรู้ว่าเรื่องโรคติดต่อนี้สำคัญที่สุด การปฏิบัติตัวของคนทุกคน คนอื่นจะช่วยไม่ได้ ต้องมีวินัยและมีความรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แน่นอนว่าการปฏิบัติศาสนกิจต้องไม่ขาดตกบกพร่อง ขณะเดียวกัน เราก็ต้องป้องกันการแพร่ระบาดด้วย โดยไม่ประมาท"
แต่สิ่งที่ พ.ต.อ.ทวี แสดงความเป็นห่วง และฝากไปถึงรัฐบาลให้เร่งแก้ไขโดยด่วน ก็คือเรื่องวัคซีน
"ฝ่ายการเมืองต้องดูว่าจะมาร่วมกันบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้ประชาชนมีวัคซีนและมีภูมิคุ้มกันให้กว้างขวางที่สุด อยากเรียนว่าการลงทุนเพื่อให้ชีวิตพี่น้องประชาชนปลอดภัย เราไม่มีขาดทุน ก็ต้องรักษาชีวิตไว้ก่อน"
ส่วนปัญหาการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่วันนี้มีการประกาศทั่วประเทศเพื่อรับมือกับโรคระบาดด้วย แต่สามจังหวัดใต้อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก มาล่วงหน้านานกว่า 16 ปีแล้ว ท่ามกลางกระแสเรียกร้องจากคนในพื้นที่บางส่วนให้ลดระดับการใช้ลง หรือยกเลิกไปเสียที
"เราก็พยายามเสนอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ซึ่งการยกเลิกกฎอัยการศึก เราพบว่าจะไปผูกพันกับรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นเพื่อไม่ให้กฎอัยการศึกคงอยู่เป็นร้อยปี มีการพูดกันว่าเราน่าจะต้องแก้รัฐธรรมนูญ กำหนดว่าการประกาศกฎอัยการศึกควรประกาศโดยรัฐบาล ไม่ใช่ประกาศได้โดยทหาร แล้วก็ควรจะมีอายุ 1 เดือน 2 เดือนเท่านั้น เนื่องจากตามหลักสากล เราจะประกาศกฎอัยการศึกก็ต่อเมื่อทำการรบกับข้าศึก หรือมีภาวะสงคราม แต่ปัจจุบันสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสงครามอยู่หรือไม่ และคนในพื้นที่ไม่ใช่ข้าศึก จึงน่าจะมีการทบทวน"
"เช่นเดียวกับเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องเรียนว่าพี่น้องในสามจังหวัด และพี่น้องทั้งประเทศได้รับผลกระทบเท่ากัน น่าจะถึงเวลายกเลิก เพราะเป็นกฎหมายที่ปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐให้พ้นผิดทั้งในทางอาญา ทางแพ่งและทางปกครอง จึงง่ายต่อการใช้อำนาจตามอำเภอใจ"
พ.ต.อ.ทวี บอกว่า ในนามของฝ่ายการเมือง พรรคประชาชาติผลักดันให้ยกเลิกทั้งการประกาศกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วกลับมาใช้กฎหมายปกติ กระบวนการยุติธรรมตามปกติ
"การใช้กฎหมายพิเศษ ทำให้บ้านเมืองดูไม่ปกติ อย่างการเดินทางมาวันนี้ ก็พบว่ามีด่านอีกเยอะ ทำให้เราถูกมองว่าทำไมบ้านเราจึงเหมือนมีเรือนจำนอกเหนือจากเรือนจำจริงๆ คือมีเรือนจำตามถนน ตามหมู่บ้านทุกแห่ง คิดว่าทุกฝ่ายต้องช่วยกันเรียกร้องให้ยกเลิกสิ่งเหล่านี้"
ก่อนหน้าลงพื้นที่ชายแดนใต้ พ.ต.อ.ทวี พร้อมหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน อย่าง นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ได้ลงพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งกำลังมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน และสิทธิเหนือดินแดนที่เรียกว่า "ใจแผ่นดิน"
พ.ต.อ.ทวี พาคณะตัวแทนครูและนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) ไปเยี่ยมเยียนชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย พร้อมมอบเครื่องอุปโภคบริโภค และแลกเปลี่ยนเรียนรู้พร้อมสัมผัสวิถีชีวิตซึ่งกันและกัน ตามเจตนารมณ์ของพรรคประชาชาติที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มชาติพันธุ์และคนชายขอบ
ตัวแทนชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยได้พาคณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนชายแดนใต้ เยี่ยมชมสภาพชีวิต เล่าข้อเท็จจริง แฃะประสบการณ์การถูกกดทับทางวัฒนธรรม ตลอดจนปัญหาที่สะท้อนถึงผลกระทบจากนโยบายและกฎหมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ปัญหาชุมชนเกิดจากนโยบายและกฎหมาย การจัดการทรัพยากรที่ดิน-ป่าไม้ของรัฐได้สร้างผลกระทบต่อเนื่องกับประชาชนและบั่นทอนศักยภาพของประเทศมาตลอดทุกยุคทุกสมัย เพราะรัฐคือผู้ผูกขาดรวมศูนย์อำนาจการจัดการ มีการบังคับให้ประชาชนอพยพโยกย้ายโดยอ้างว่าได้มีการจัดพื้นที่รองรับไว้ แต่รัฐมุ่มเพียงใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่ได้ไต่ถามชุมชนและไม่มีส่วนรวม มีการทำลายพืชผลอาสินและห้ามเข้าทำกิน มีการจับกุมดำเนินคดี การข่มขู่บังคับให้ลงลายมือชื่อยินยอมออกไปจากที่ดินทำกิน ฯลฯ
การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายด้านป่าไม้ที่สำคัญหลายฉบับในปี 2562 ทำให้ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดินถูกจับกุมดำเนินคดีอีกระลอก จำนวน 22 คน ผู้แทนชุมชนเห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่บังคับให้เปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ วิถีชีวิตความเชื่อ จะทำให้เกิดปัญหาใหม่อีกหลายปัญหาที่นับวันจะรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ สิทธิทางชาติพันธุ์ สิทธิการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นและกระบวนการยุติธรรม
ในเรื่องความไม่ยุติธรรม ผู้แทนชุมชนยังได้เล่าเรื่อง อ.ทัศน์กมล โอบอ้อม ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานที่ถูกยิงตาย, กรณี "บิลลี่" พอละจี รักจงเจริญ หลานชายแท้ๆ ของ "ปู่คออี้" ที่รู้ภาษาไทย เป็นผู้กล้าหาหลักฐานเพื่อดำเนินการกับผู้ที่ฆ่า อ.ทัศน์กมล และนำเรื่องฟ้องศาลปกครอง กรณีการขับไล่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยออกจากพ้นที่ด้วยวิธีการรุนแรง เผาบ้านเรือน จนในที่สุด "บิลลี่" ได้ถูกทำให้หายตัวไปเมื่อปี 2557 จนต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงยืนยันว่าบิลลี่เสียชีวิตแล้ว และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 4 คน น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยดีเอสไอรวบรวมพยานหลักฐานและทำความเห็นสั่งฟ้องรวม 7 ข้อหา แต่อัยการคดีพิเศษมีคำสั่งไม่ฟ้อง 6 ข้อหา สั่งฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ เพียงข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพียงข้อหาเดียว
ปัจจุบัน ดีเอสไอไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ จึงมีการทำความเห็นแย้ง และส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาด เมื่อเดือน ส.ค.2563 ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างรอคำสั่งอัยการสูงสุดว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง
จากเรื่องราวชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ทำให้ชุมชนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไปร่วมรับฟัง ได้รับทราบที่มาที่ไปของปัญหา นอกเหนือจากที่นำเสนอบนหน้าสื่อมวลชน มีการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า อยากฝากถึงรัฐบาลเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพยากรที่ดิน ป่าไม้ และแหล่งน้ำกับ "ชุมชนชาติพันธุ์บางกลอย" จะต้องปรับปรุงแก้ไขกฏหมายในบริบทที่ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมบนพื้นฐานประชาธิปไตย และมิติที่ต้องให้ความสำคัญคือ สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน สิทธิทางชาติพันธุ์ตามหลักการสากล กับสิทธิการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ต้องให้กลุ่มชาติพันธุ์และคนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมใช้อำนาจและการพัฒนาในการจัดการที่ดินป่าไม้เพื่อชุมชนเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้บริหารและเป็นผู้ปฏิบัติงาน จะต้องเป็นผู้ที่ยึดมั่นในความเป็นจริง และไม่ใช้กฎหมายอยู่เหนือความยุติธรรม เพราะความอยู่รอดของชีวิตมนุษย์ต้องสำคัญที่สุด!