แม้ โจ ไบเดน แห่งเดโมแครต ได้รับชัยชนะจากสนามเลือกตั้ง เตรียมแต่งตัวเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไป และใกล้ปิดยุค โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ถูกมองว่าสร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลกเต็มทีแล้วก็ตาม
แต่ช่วงเวลาที่เป็นรอยต่อ เข้าไต้เข้าไฟแบบนี้ กลับเกิดเหตุรุนแรงอุกอาจ เพราะมีปฏิบัติการลอบสังหารบิดาแห่งนิวเคลียร์อิหร่าน ตามด้วยผู้บัญชาการทหารอาวุโสประจำกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงถึง 2 เหตุการณ์ซ้อนๆ
หลายคนมองว่านี่คือสัญญาณร้ายทำลายความหวังที่จะได้เห็น "สันติภาพโลก" ในยุค โจ ไบเดน กันเลยทีเดียว
ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้าย และปฏิบัติการในลักษณะก่อการร้ายปรากฏถี่ขึ้น โดยเฉพาะในภาคพื้นยุโรป แถมยังมีข่าว "กลุ่มรัฐอิสลาม" หรือ ไอเอส ไม่ยอมตาย เตรียมโจมตีครั้งใหญ่ช่วงคริสต์มาส หลังปิดฉากความอหังการ์ในซีเรียด้วยความพ่ายแพ้ไปไม่นาน
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินแบบตรงไปตรงมาว่า ชัยชนะของ โจ ไบเดน และเดโมแครต ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าทิศทางของสันติภาพโลกจะสดใสขึ้น แม้จะมีความหวังมากขึ้นกว่าในยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ตาม
@@ สันติภาพ (ไม่) สดใส
"กระแสการก่อการร้ายทั่วโลกเงียบหายลงไปมาก นับจากปี 2017 ที่กลุ่มหัวรุนแรงและกลุ่มก่อการร้ายใหญ่ที่สุดของโลก คือ กลุ่มไอซิส (กลุ่มรัฐอิสลาม ; ไอเอส) พ่ายแพ้ไปในดินแดนซีเรีย" ดร.ศราวุฒิ เกริ่นถึงสถานการณ์ในภาพรวม ก่อนขยายความต่อ
"แม้ขณะนี้ โจ ไบเดน ยังไม่มีนโยบายชัดเจนด้านความมั่นคงและการก่อการร้าย แต่หากมองย้อนกลับไปในยุคสมัยของ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็จะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกัน เพราะมาจากพรรคเดโมแครตเหมือนกัน นั่นก็คือการพยายามที่จะรวบรวมพันธมิตรในการแก้ไขปัญหาสำคัญของโลก ในตอนนั้นโอบามาพยายามยื่นมือไปสร้างสัมพันธ์กับโลกมุสลิมเพื่อแก้ปัญหาความสัมพันธ์ที่ไม่ดีจากในยุคสมัยของ นายจอร์จ ดับเบิลยู ยุช เพราะฉะนั้นในยุคของโอบามา กลุ่มไอเอสถือว่ามีความพอใจพอสมควร"
แต่ในมุมมองของ อาจารย์ศราวุฒิ ที่เกาะติดสถานการณ์มาเนิ่นนาน ยังไม่คิดว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่สุด แม้ในยุคโอบามาเองก็ตาม
"เราต้องไม่ลืมว่าวิธีการในการต่อสู้ของโอบามาก็สร้างปัญหาด้วยเช่นกัน เพราะแม้ว่าโอบามามีนโยบายถอนกำลังทหารจากดินแดนที่มีความขัดแย้ง แต่อีกด้านหนึ่ง โอบามากลับใช้โดรนติดอาวุธเข้าไปโจมตีในดินแดนต่างๆ ทั้งซีเรีย อิรัก เยเมน และปากีสถาน ซึ่งมีบางส่วนส่งผลเป็นการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ ทำให้เกิดแนวร่วมจากผู้ที่ไม่ใช้ความรุนแรง แต่เข้าไปร่วมกับกลุ่มไอเอสมากขึ้น เพราะถูกทำร้าย ถูกโจมตี จนสูญเสียญาติพี่น้อง และไม่มีทางเลือกมากนัก"
ส่วนในยุค โจ ไบเดน อาจารย์ศราวุฒิ มองว่า แม้กระแสการก่อการร้ายของโลกจะเงียบลง แต่ก็ยังพบข้อมูลว่ากลุ่มไอเอสยังมีความเคลื่อนไหวในดินแดนที่มีความขัดแย้ง ฉะนั้นไบเดนจึงน่าจะยังต้องมีนโยบายในการคงทหารสหรัฐเอาไว้ในหลายพื้นที่ เพื่อต่อสู้ในสงครามก่อการร้ายต่อไป
@@ "ไอเอส" ไม่ผงาดในเอเชียอาคเนย์
หากดึงภาพเข้ามาให้ใกล้ตัวคนไทยและประเทศไทยมากขึ้นอีกนิด มีประเด็นที่น่าสนใจคือ มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่ไอเอสจะย้ายฐานมาเคลื่อนไหวและตั้งกองกำลังในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีประเทศมุสลิมหลายประเทศ และมีดินแดนที่ยังมีความขัดแย้ง ทั้งทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ไม่เว้นแม้แต่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ประเด็นนี้ อาจารย์ศราวุฒิ วิเคราะห์เอาไว้อย่างน่าสนใจ
"แน่นอน..เคยมีกระแสว่าบางปีกของกลุ่มไอเอสจะเข้ามาสร้างฐานที่มั่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เมื่อมีการติดตามในเชิงลึกจะเห็นได้ว่า ความพยายามลักษณะนั้นไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งก็มาจากประชาคมมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นประชาคมที่นิยมสายกลาง คือไม่นิยมความรุนแรง เมื่อเป็นอย่างนั้นจึงทำให้กลุ่มไอเอสไม่มีที่ยืน"
"ยิ่งไปกว่านั้น ประชาคมมุสลิมในภูมิภาคนี้ยังมีพื้นฐานหลายอย่างที่แตกต่างจากประชาคมในตะวันออกกลาง ยกตัวอย่างเช่น ความเป็นอยู่ที่ดีและมีความมั่นคง, การเรียนการสอนศาสนาสายกลาง เหล่านี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาจึงไม่ค่อยเห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มไอเอสในภูมิภาคนี้"
อาจารย์ศราวุฒิ ยังยกกรณีการโจมตีฝรั่งเศส หลังจากผู้นำประเทศแสดงท่าทีแข็งกร้าวกับมุสลิมหัวรุนแรง โดยมองว่าโครงสร้างทางสังคมของฝรั่งเศส และอีกหลายประเทศในยุโรป แตกต่างจากในเอเชียอาคเนย์อย่างสิ้นเชิง
"มีความสลับซับซ้อนและเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าวระหว่างพี่น้องมุสลิมกับสังคมฝรั่งเศส เพราะมุสลิมในฝรั่งเศสไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ได้รับการบูรณาการเข้ากับสังคมใหญ่ ฝรั่งเศสเองเคยปกครองประเทศในแถบแอลจีเรีย เคยเข้าไปก่อปัญหาที่นั่น รวมถึงให้คนแอลจีเรียมาเป็นชนชั้นแรงงาน เพราะฉะนั้นจึงมีประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยดี"
"เมื่อชนชั้นแรงงานมีลูกมีหลานเติบโตขึ้นท่ามกลางคนฝรั่งเศส ใช้ภาษาฝรั่งเศส มีวัฒนธรรมประเพณีคล้ายกับคนฝรั่งเศส แต่ไม่ได้รับการยอมรับในสังคม คนเหล่านี้จึงกลายเป็นชนชั้นสองในสังคมฝรั่งเศส เมื่อมีการดูหมิ่นศาสนาอิสลาม จึงทำให้คนบางส่วนไม่พอใจถึงขั้นใช้ความรุนแรง ซึ่งการแสดงออกแบบนี้มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมอยู่ด้วย และจะสังเกตว่าการโจมตีที่เกิดขึ้น หลายกรณีไม่ได้มีความเชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องกับไอเอส"
@@ ไฟใต้ยุค "จริงใจเจรจา"
มุมมองของ อาจารย์ศราวุฒิ ชัดเจนว่าปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ไม่เกี่ยวข้องกับไอเอส หรือขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ เป็นเรื่องระหว่างกลุ่มผู้เห็นต่าง ซึ่งบางส่วนติดอาวุธภายใต้ขบวนการบีอาร์เอ็นที่ต่อสู้กับรัฐบาลไทยเท่านั้น ด้วยเหตุนี้แนวทางแก้ไขปัญหาตามที่อาจารย์ศราวุฒิมองเห็นและให้ความสำคัญ ก็คือการพูดคุยเจรจา ซึ่งต้องใช้ความจริงใจ เนื่องจากเป็นเพื่อนร่วมแผ่นดินเดียวกัน
"ผมมองว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นอาจต้องการเข้าสู่กระบวนการเจรจาเพื่อต่อรองข้อเสนออะไรบางอย่าง แต่ที่ผ่านมากลับไม่ค่อยไว้เนื้อเชื่อใจคณะผู้แทนของรัฐบาลไทย ไม่แน่ใจว่าคนเหล่านั้นมีความจริงใจในการเจรจาหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่แล้วคณะพูดคุยเจรจาของทางการไทยก็เป็นกลุ่มคนที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม คือไม่ต้องการที่จะสูญเสียอะไรเลย ในขณะที่กลุ่มบีอาร์เอ็นต้องการการปกครองตนเองแบบพิเศษ แต่ทางการไทยกลับไม่โอนอ่อนผ่อนตาม"
"ฉะนั้นหากต้องการให้การแก้ไขปัญหาขยับเดินหน้า รัฐบาลควรปรับวิธีคิดและเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการสันติภาพที่ต้องได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ ให้คนที่มีความหลากหลายทางความคิดในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม คนไทยพุทธ และคนไทยมุสลิม ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการหาทางออกร่วมกัน เพราะคนเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการผลักดันสันติภาพ ไม่ใช่เพียงแค่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่เห็นต่างกับรัฐเท่านั้น"
@@ ไทยกลางกรงเล็บมหาอำนาจ
จากปัญหาใต้ ขยับไปมองสถานะของไทยกลางวงล้อมมหาอำนาจกันบ้าง อาจารย์ศราวุฒิ บอกว่า โจ ไบเดน ขึ้นเป็นผู้นำในขณะที่สหรัฐกำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่หลายปัญหาทับซ้อนกัน โดยเฉพาะสงครามเย็นกับจีน ซึ่งที่ผ่านมาอดีตประธานาธิบดีหลายคนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับประเทศในตะวันออกกลางมาก แต่ในยุคท้ายๆ ของบารัค โอบามา มีนโยบายลดอำนาจในตะวันออกกลาง แล้วหันมาให้ความสำคัญกับเอเชียมากขึ้น และทิศทางนี้จะเป็นธงในการทำงานของไบเดน ในมุมมองของอาจารย์ศราวุฒิ
"การมาของ โจ ไบเดน เขาจะสร้างพันธมิตรแนวร่วมในการต่อสู้กับจีน นั่นหมายถึงว่าอาจจะทำให้ไทยต้องหนักใจกับการถูกกดดันให้เลือกข้าง ฉะนั้นไทยต้องให้ความสำคัญและระมัดระวังเรื่องการละะเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และประเด็นการคุ้มครองสิทธิต่างๆ มิฉะนั้นไทยอาจจะถูกเล่นงาน เชื่อมโยงการกีดกันทางการค้า เพื่อกดดันให้ปฏิบัติในสิ่งที่สหรัฐต้องการ รวมถึงเรื่องความเป็นประชาธิปไตยด้วย"
"ผมคิดว่ามีแนวโน้มสูงที่ไทยจะถูกแทรกแซงทางการเมือง โดยอ้างเรื่องความเป็นประชาธิปไตย แต่เมื่อเป็นประชาธิปไตยแล้ว กลับกลายเป็นว่าเป็นการปิดกั้นจีน"
อาจารย์ศราวุฒิ ยอมรับว่า การเดินเกมการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐ ใช้วิธีการหลากหลายรูปแบบ วิธีหนึ่งคือสนับสนุนกลุ่มเอ็นจีโอ และอยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ เพื่อบังคับวิถีให้เป็นไปอย่างที่สหรัฐต้องการ โดยอ้างเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตย
และทั้งหมดนี้คือโจทย์ยากของประเทศไทยที่จะต้องสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน เพื่อลดการถูกแทรกแซงจากภายนอก ในสถานการณ์สงครามเย็นยุคใหม่ระหว่างสองกลุ่มมหาอำนาจโลก!