การชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาที่เรียกว่า "แฟลชม็อบ" ที่กำลังกระจายตัวไปทั่วประเทศ และได้รับความสนใจจากหลายฝ่ายอยู่ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งคือการชุมนุมที่ ม.อ.ปัตตานี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 ก.ค.63
ม.อ.ปัตตานี คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นการชุมนุมที่ฝ่าฝืนประกาศของอธิการบดีที่ห้ามใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยทุกวิทยาเขต รวม 5 วิทยาเขต ในการจัดชุมนุม โดยอ้างเรื่องความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ยังคงเดินหน้าจัดชุมนุม โดยมีนักเรียนและประชาชนทั่วไปร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง
ปริมาณของผู้ชุมนุมหนาตาจนได้รับการจับตาไปทั่วประเทศ...
แต่สิ่งที่เรียกความสนใจใครหลายคนมากไปกว่านั้น ก็คือที่ ณ มุมหนึ่งของกิจกรรม มีชายหนุ่มสวมหน้ากากอนามัยยืนถือป้ายที่อ่านเผินๆ ได้ความว่า "PATANI MERDEKA" ซึ่งหมายถึง "เอกราชปาตานี" ท่ามกลางป้ายอื่นๆ ที่มุ่งประเด็นการเมือง เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกบ้าง ยุบสภาบ้าง แก้รัฐธรรมนูญบ้าง ทำให้ป้ายนี้สะดุดตาขึ้นมา (อ่านประกอบ : ม.อ.ปัตตานีพรึ่บ! ไล่นายกฯลามต้านนิคมจะนะ - ป้ายเอกราชปาตานีโผล่ร่วมวง)
เหตุเพราะ "PATANI MERDEKA" เป็นวลีที่ปรากฏบนป้ายผ้า และถูกพ่นสีตามสถานที่สาธารณะต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควบคู่กับการเกิดความรุนแรงทุกรูปแบบตลอดหลายปีที่ผ่านมา
เมื่อการชุมนุมของนักศึกษาผ่านพ้นไป "ทีมข่าวอิศรา" ตามหาชายหนุ่มรายนี้ และทราบว่าเขาคือ นายอารีฟีน โสะ อดีตประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS (เปอร์มัส)
อารีฟีน ให้สัมภาษณ์ " ทีมข่าวอิศรา" โดยเล่าย้อนถึงการตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมใน ม.อ.ปัตตานีว่า เป็นการร่วมผลักดันข้อเรียกร้อง 3 ข้อเหมือนกับม็อบที่อื่นๆ คือ นายกฯต้องประกาศยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถือเป็นความพยายามที่จะนำพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ผู้ที่เข้าร่วมม็อบส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา มอ.ปัตตานี นักเรียนมัธยม และผู้สนใจทั่วไป หากมองด้วยตาเปล่า ผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 500 คนอย่างแน่นอน สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของผู้คนต่อประเด็นทางการเมืองขณะนี้เป็นอย่างมาก
จากนั้นก็มาถึงคำอธิบายเรื่องป้ายที่เขาชูในกิจกรรรม
"ผมเดินเข้าม็อบพร้อมกับข้อความในแผ่นกระดาษว่า PATANI want Peace MERDEKA itu indah ผมจงใจเน้นคำว่า PATANI MERDEKA เพื่อเป็นเสียงหนึ่งว่า ท่ามกลางความขัดแย้งของสังคมไทย ยังมีถ้อยคำที่เป็นแรงจูงใจนำคนให้ออกมาต่อสู้มาแล้วหลายยุคสมัย เป็นเสมือนอัตลักษณ์ทางการเมือง คุณค่า และศักดิ์ศรีที่ใครมาเหยียดหยามไม่ได้ง่ายๆ ในใจเฝ้าบอกตัวเองว่า ผมต้องพร้อมรับแรงเสียดทานที่จะตามมา ผมต้องเซฟตัวเอง เมื่อเป็นเจตจำนงของตัวเองแล้วก็ต้องเชิดหน้าสู้ต่อไป"
จริงๆ แล้วข้อความบนป้ายของ อารีฟีน แยกเป็น 2 ประโยค คือ PATANI want Peace ซึ่งแปลว่า ปาตานี หรือคนปาตานี ต้องการสันติภาพ กับอีกประโยคหนึ่งคือ MERDEKA itu indah เป็นภาษามลายู แปลว่า อิสรภาพ (เอกราช) คือสิ่งสวยงาม แต่ป้ายของ อารีฟีน เน้นตัวใหญ่เฉพาะ PATANI กับ MERDEKA ทำให้ถูกมองว่าออกมาเรียกร้องเอกราชปาตานีผิดงานหรือเปล่า
"ข้อความนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้จัดม็อบ" อารีฟีน ชี้แจง และว่า "ผมไม่ได้มีเป้าประสงค์จะทำลายบรรยากาศหรือเป้าหมายของม็อบ ผมคิดว่าป้ายแผ่นเดียวไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือทำให้ม็อบเดินต่อไปไม่ได้ ผมเพียงจะยืนยันถึงสิทธิ์ในการแสดงออกทางการเมืองเท่านั้น"
เขาเผยความรู้สึกลึกๆ ว่า เมื่อได้เข้าไปร่วมม็อบจริงๆ ทำให้มุมมองของตัวเองเปลึ่ยนแปลงไป
"เมื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในม็อบที่มีคนมากๆ ทำให้ผมมองตัวเองชัดขึ้น เราเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของผู้คนเท่านั้น ข้อความนี้ไม่ได้สะดุดตาผู้คนที่เดินผ่านไปมามากนัก อาจจะไม่เข้าใจหรือแทบจะไม่อยากรับรู้ว่ามันจะสื่ออะไร คนที่มองผ่านมาคงคิดคล้ายกับว่ามันเป็นสิ่งล้าสมัย ตกยุคไปแล้ว"
"แต่หากมองภาพที่กว้างขึ้น ประเด็นความขัดแย้งในปาตานีคือส่วนเสี้ยวของความบิดเบี้ยวในสังคมไทยด้วยเช่นเดียวกัน เป็นผลพวงจากระบอบที่กดขี่ผู้คนในประเทศตัวเองมาอย่างยาวนาน ประเด็นปาตานีกับปัญหาการเมืองไทยจึงแยกจากกันไม่ได้ ตราบใดที่โครงสร้างสังคมไทยไม่เคารพความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน ไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก กระบวนการประชาธิปไตยถูกทำลายอย่างเป็นระบบ แกนกลางของความขัดแย้งปาตานีก็จะถูกกลบเกลื่อนด้วยปัญหาที่เป็นที่รับรู้มากกว่าในขณะนั้นไป"
อารีฟีน ยังอธิบายว่า คำว่า PATANI MERDEKA ถูกกระแส IO (information operation หรือ ปฏิบัติการข่าวสาร) จนกลายเป็นเรื่องเดียวกับการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ ทั้งๆ ที่เป็นคนละเรื่องกัน
"คำว่า PATANI MERDEKA ไหลไปตามการกล่อมเกลาของกระแส IO ว่าผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่อง PATANI คือกลุ่มเดียวกันกับผู้ใช้อาวุธในการต่อสู้กับรัฐไทย สภาวะเช่นนี้เอื้อให้เกิดความไม่เข้าใจกันได้ง่าย เป็นโอกาสให้ฝ่ายอำนาจนิยมไทยแบ่งแยกขบวนการทางการเมืองต่อไปได้"
อารีฟีน สรุปว่า "ถ้าคนปาตานียังคงแยกส่วนว่าประเด็นการกำหนดอนาคตทางการเมืองของตนเอง ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นประชาธิปไตยไทยแล้ว เราก็จะเป็นผู้ที่ไม่มีปากเสียงต่อไป หรือไม่ก็ทำได้เพียงส่งเสียงด้วยดินปืนและกลิ่นเขม่าควันที่คนหลายยุคสู้กันมาและพิสูจน์แล้วว่ามันไม่สำเร็จ เพราะตราบใดที่ระบบการเมืองของประเทศไทยยังเละเทะ คนปาตานีก็ต้องรับผลกระทบเช่นเดียวกันคนไทยในภูมิภาคอื่นๆ"
"ในทางกลับกัน ถ้าระบบการเมืองไทยดีขึ้น เข้าถึงความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์ มีระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงแล้ว คนปาตานีก็ย่อมจะได้รับประโยชน์นั้นด้วยเช่นเดียวกัน เพราะเรายังคงอยู่ใต้เขตแดนและอธิปไตยเดียวกันอยู่"
เขาย้ำทิ้งท้ายว่า การต่อสู้ครั้งนี้ยังอีกยาวไกล
"แม้ม็อบที่ ม.อ.ปัตตานี จะไม่ได้มีกลิ่นอายของความเป็นท้องถิ่น และไม่ได้แตะต้นตอของความขัดแย้งมากนัก แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้เราได้เรียนรู้และกำหนดจังหวะก้าวต่อไปได้ การต่อสู้กับอำนาจนิยมยังอีกยาวไกล ผมขอเชิญชวนทุกท่านที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงให้สังคมเราดีกว่าที่เป็นอยู่ ไปร่วมสนับสนุนม็อบครั้งต่อๆ ไป"