การลงพื้นที่จังหวัดปัตตานีของ 7 พรรคฝ่ายค้าน แม้ด้านหนึ่งจะถูกมองว่ามีเป้าประสงค์เพื่อหวังผลทางการเมือง โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีคุณูปการในแง่ของการกระตุ้นให้สังคมหันมาสนใจปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแแดนภาคใต้ขึ้นมาอีกคำรบ
โดยเฉพาะในวาระที่ไฟใต้กำลังคุโชนต่อเนื่องยาวนานถึง 16 ปีเต็ม หมดงบไปกว่า 3 แสนล้านบาท และกำลังมีรัฐบาลชุดใหม่ (นายกฯคนเก่า) กับหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯคนใหม่ แต่มีสถานะเป็นอดีตนายพลในกองทัพเหมือนกับคนเดิม
"ทีมข่าวอิศรา" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชียวชาญด้านประวัติศาสตร์ ในฐานะที่เคยเขียนหนังสือ "ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย" อันลือลั่น โดยอาจารย์เดินทางมาร่วมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "พลวัตบนเส้นทางดับไฟใต้" ณ ลานวัฒนธรรม อำเภอเมืองปัตตานี
บทสรุปของอาจารย์ธเนศ จากที่ได้เกาะติดแนวทางการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้มานานหลายปีก็คือ ยังมองไม่เห็นพลวัตของการจัดการปัญหาที่จะนำพาไปสู่สันติสุข โดยเฉพาะหากยังให้บทบาทนำกับกองทัพ แทนที่จะเป็นประชาชน
O กระบวนการพูดคุยดับไฟใต้เพิ่งได้หัวหน้าคณะพูดคุยฯคนใหม่ (พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ) อาจารย์มองว่าจะมีจุดเปลี่ยนที่จะทำให้เกิดสันติสุขขึ้นได้หรือไม่?
คงไม่มีอะไรเปลี่ยน เพราะการเจรจาพูดคุยภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการเจรจาพูดคุยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของฝ่ายความมั่นคงเป็นหลัก ซึ่งไมใช่เป็นจุดหมายที่ประชาชนในพื้นที่เขาต้องกานร สิ่งที่ทำคือเส้นคู่ขนานเลย ฉะนั้นไม่ว่าจะแต่งตั้งใครมาก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่
จริงๆ รัฐบาลเขาไม่ได้มียุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่จะไปบรรลุขั้น 1 ขั้น 2 ขั้น 3 เพื่อสันติภาพจริงๆ เพราะถ้าจะทำไปแบบนั้นหมายความว่ามันจะมีผลต่อการเปลี่ยนนโยบายความมั่นคงของรัฐโดยรวมเลย ไม่ใช่แค่รัฐบาลอย่างเดียว แต่รัฐไทยทั้งหมดต้องจัดระบบการบริหารความมั่นคงทางทหารใหม่เลย
O แล้วบทบาทของทหารเป็นอย่างไร?
อย่างภารกิจการรักษาความสงบในพื้นที่ จริงๆ แล้วควรเป็นงานของตำรวจ เป็นงานของเจ้าหน้าที่พื้นถิ่น เพราะภารกิจของทหารคือปกป้องประเทศจากศัตรูนอกประเทศ ไม่ใช่มารบภายในประเทศ แต่เรากลับให้ทหารมาทำหน้าที่นี้ ทำแบบนี้ปัญหาภาคใต้ก็ไม่สงบ คือมันคุกรุ่นอยู่ตลอด มันอาจจะลดความรุนแรงต่างๆ ลงได้บ้าง แต่มันไม่จบ เพราะมันเกิดเงื่อนไขอื่นตามมาอีกหลายอย่าง
ทางออกหนึ่งที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาได้ ก็เช่นกระจายโครงการพัฒนาต่างๆ ให้กลุ่มประชาสังคม กลุ่มประชาชนในพื้นที่ได้ทำ เพราะมีการเอางบลงมาเยอะมาก ต้องไม่ลืมว่าความรุนแรงมันมาจากหลายมูลเหตุมาก ไม่ใช่เพราะขบวนการ (ขบวนการแบ่งแยกดินแดน) เข้ามาทำทุกอย่าง มันทำไม่ได้หมดหรอก ผมว่ามันทำได้ 5% ก็เก่งแล้ว ส่วนอีก 50-60% มีเจ้าภาพเยอะงานนี้
O ทางออกของปัญหาต้องทำอย่างไร?
ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอทางออกและต้องแก้ด้วยตัวเอง จะพัฒนาอาชีพ จะพัฒนาความมั่นคง การใช้อาวุธต่างๆ เช่น เมื่อมีการยิง มีการใช้อาวุธ ในหมู่บ้าน ชาวบ้านต้องมากำกับ ใครรับผิดชอบ หามาซิว่าใครต้องรับผิดชอบ ถ้าชาวบ้านควบคุมเองกำกับกันเอง เขาก็ต้องรู้ว่าใครเป็นคนใช้
แต่ทหารเขาเชื่อว่านโยบายแบบที่ทำอยู่นี้เป็นนโยบายที่จะแก้ได้ เขาไม่ให้ใครพูด ไม่มีใครพูดอะไรได้ แค่อธิบายมากกว่านี้เขาก็รับไม่ได้ ประวัติศาสตร์เป็นอย่างไรเขาไม่ยอมรับ ที่เราพูดไปเขาก็ไม่ยอมให้เผยแพร่ข้อเท็จจริง มันหายไปหมดเลย มันก็เลยกลายเป็นบาดแผล เป็นประวัติศาสตร์บาดแผล คนเขาก็เลยมีแต่ความสั่งสมเจ็บช้ำน้ำใจ บางคนก็บอกว่ามันหลายปีแล้ว ยืดเยื้อ เขาอยากจะลืมแล้ว แต่จะลืมได้อย่างไรเมื่อเรื่องปัจจุบันไปเปิดแผลเก่า คนก็เลยต่อว่า และมันแสดงให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เขาได้ยินปู่ยาตายายที่เล่าว่า ซีแย (สยาม) ทำอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็เป็นความจริง เพราะปัจจุบันยังเจออยู่
O กฎหมายพิเศษยังมีความจำเป็นหรือไม่?
กฎหมายพิเศษจริงๆ ไม่มีประโยชน์อะไร ควบคุมอะไรไม่ได้ เพียงแต่ทำให้เจ้าหน้าที่มีกลไกตอบโต้ จับได้ ควบคุมได้ โดยไม่ต้องมีหมาย ขณะที่ศาลก็ทำอะไรไม่ได้ถ้าเจ้าหน้าที่ทำผิด แบบนี้ทำให้ชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ หรือกึ่งบริสุทธิ์โดนคดีเต็มคุกไปหมด
O สรุปว่ากฎหมายพิเศษไม่ได้ช่วยอะไร?
มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย ระยะยาวก็เป็นเหมือนเดิม ทุกอย่างอยู่กับที่
----------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : ธเนศ : ลดลัทธิไทยเป็นใหญ่ แล้วจะเข้าใจปัตตานี