แม้วันนี้คดีตากใบจะขาดอายุความไปแล้ว ท่ามกลางกระแสและภาพลักษณ์เชิงลบที่รัฐบาลต้องรับไปเต็มๆ
แต่เบื้องหลังการฟ้องคดีตากใบ เป็นประเด็นที่ไม่ถูกพูดถึงมากนัก โดยเฉพาะเหตุผลที่ศาลจังหวัดนราธิวาสประทับรับฟ้อง ทั้งๆ ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าคดีถึงที่สุดไปแล้ว คือ ไม่มีการสั่งฟ้องคดี จึงมีการออกมติคณะรัฐมนตรี “จ่ายเยียวยากรณีพิเศษ” ให้กับผู้เสียหายและครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดจากเหตุการณ์ตากใบ เมื่อปี 2555
อ่านถึงตรงนี้อย่าเพิ่งเข้าใจผิด เพราะบทความนี้ไม่ได้บอกว่า ชาวบ้านรับเงินเยียวยาไปแล้ว จะฟ้องรัฐไม่ได้ เนื่องจากสิทธิในการฟ้องคดีอาญายังคงมีอยู่ ตราบเท่าที่ยังไม่ขาดอายุความ
เพียงแต่มีประเด็นน่าสนใจว่าเหตุใดศาลจึงประทับรับฟ้อง ฝ่ายโจทก์ซึ่งนำโดยกลุ่มทนายมุสลิม และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนบางองค์กร รวมถึงคนทำเว็บไซต์สื่อทางเลือกเกี่ยวกับกฎหมายบางสำนัก ไปนำข้อมูลข้อเท็จจริงจากที่ไหนมาเป็นน้ำหนักเหตุผลให้ศาลประทับรับฟ้อง ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ผ่านมานานเกือบ 20 ปีแล้ว
และเป็นที่รับรู้กันในหมู่คนทำงานภาคใต้ว่า ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามชักชวนหว่านล้อมให้ชาวบ้านที่สูญเสียหรือได้รับผลกระทบ ยื่นฟ้องคดีตากใบตรงต่อศาลเองมาตลอด แต่ไม่เคยทำได้สำเร็จ
จึงเกิดคำถามว่า ความสำเร็จในวันนี้ วันที่คดีตากใบใกล้จะขาดอายุความ เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะผลสะเทือนที่เกิดขึ้นกระทบต่อความเชื่อมั่นทางการเมืองอย่างมหาศาลต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ก็พลอยโดนหางเลขไปด้วย รวมถึงกองทัพและฝ่ายความมั่นคง
และที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือ ผลกระทบต่อสถานการณ์ความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งล่อแหลมมากขึ้นทุกขณะ เมื่อรัฐไทยถูกรุกทั้งสงครามด้วยอาวุธ และสงครามการเมือง
“ทีมข่าวอิศรา” ได้รับข้อมูลจากนายทหารท่านหนึ่งว่า มีการนำข้อมูลคำให้การที่ตนเองได้ให้ไว้กับคณะกรรมการอิสระ ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้น (ปี 2547 รัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร) ตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ตากใบ โดยนำไปตัดต่อใหม่จนกลายเป็นน้ำหนักให้ศาลรับฟ้องคดีในข้อหาฉกรรจ์ “ฆ่าผู้อื่น และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล”
นายทหารรายนี้ คือ พล.อ.นพนันต์ ชั้นประดับ อดีตนายทหารยุทธการ กองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้า ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในราชการ โดยขณะเกิดเหตุการณ์ตากใบ พล.อ.นพนันต์ ครองยศ “พันเอก” เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในส่วนของค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ปลายทางของขบวนรถบรรทุกที่เคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมจากหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ไปที่ค่ายทหารแห่งนี้ เพื่อเตรียมดำเนินคดีในขั้นตอนต่อไป
โดย พล.อ.นพนันต์ เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกเรียกเข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมการอิสระ ผ่านมาเกือบ 20 ปี เขาพบว่าคำให้การของเขาถูกนำไปตัดต่อใหม่ ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ก็ตาม และมีการนำไปเป็นหลักฐานสำคัญในการยื่นฟ้องคดี รวมถึงไม่อ้างเขาไปเป็นพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องด้วย ทำให้ไม่มีโอกาสได้โต้แย้ง ชี้แจง
โดยในมุมมองของ พล.อ.นพนันต์ ยืนยันว่า ไม่ได้ปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการในวันนั้น ทั้งที่หน้า สภ.ตากใบ และการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมว่าไม่มีความผิด แต่สาระสำคัญของความผิด ไม่น่าจะใช่ “ฆ่าโดยเจตนา”
@@ ย้อนที่มาข้อมูลตากใบ 3 ส่วน เลือกใช้ส่วนเดียว
“ขณะนั้นผมเป็นนายทหารยุทธการ ยศพันเอก เพิ่งถูกส่งมาจากกองทัพบกไปช่วยงานในพื้นที่ได้แค่ 4 วัน แต่ไม่ได้อยู่ที่ตากใบ วันนั้นมีหน้าที่รับผิดชอบต่อจากรองแม่ทัพ ในการรับผู้ที่ถูกควบคุมตัวมายังเรือนจำค่ายอิงคยุทธฯ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดมันอยู่ในรายงานของคณะกรรมการอิสระฯ แล้ว เพียงแต่ว่าในรายงานคณะกรรมการอิสระฯ เขาบอกว่าใครพูดอะไรก่อน แล้วมาสรุปทีหลัง คือไม่ได้เรียงตามลำดับเวลาของเหตุการณ์
ข้อมูลสำคัญมาจาก 3 แหล่ง ส่วนแรกคือที่คณะกรรมการอิสระฯ สอบข้อเท็จจริงจากผู้ที่รับผู้ชุมนุม ซึ่งอยู่เรือนจำ คือ ตัวผม, พ.ท.วัชระ สุขวงศ์ และ นพ.จิรศักดิ์ อินทะสอน
ส่วนที่ 2 เป็นข้อมูลที่คณะอนุกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงฯ สอบจากผู้ที่ถูกควบคุมตัวมา
และส่วนที่ 3 ซึ่งถูกนำเอาไปฟ้องคดีตากใบจนศาลประทับรับฟ้อง เป็นข้อมูลรายงานของ กอ.สสส.จชต. (กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้) ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้มีการสอบสวนใดๆ
โดยข้อมูลจากทั้ง 2 ส่วนแรก กล่าวไว้ตรงกันว่า ใครพูดอะไร แต่ยังไม่มีการสรุป เพราะคณะกรรมการอิสระฯ นำไปสรุปตอนท้าย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คนที่ไม่อยู่ในเหตุการณ์จะลำดับไทม์ไลน์ไม่ถูก และรายงานของคณะกรรมการอิสระฯ ท่านไม่ได้เป็นศาล และก็ไม่ได้มีการจัดลำดับเหตุการณ์ให้มันเป็นลำดับไทม์ไลน์ ว่าเกิดเหตุการณ์อย่างไรก่อนหลัง ท่านไม่ได้ทำไว้ คนอ่านถ้าไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จริงก็จะสับสน จับต้นชนปลายไม่ถูก เพราะคนที่อยู่ที่ค่ายอิงคยุทธฯ มันมีอยู่แค่ 3 คน ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน
@@ เปิดไทม์ไลน์ใหม่ ผู้ชุมนุม 400 คนแรกถึงค่ายฯ ไร้ปัญหา
วันนั้นผมได้รับภารกิจว่า จะมีขบวนจากตากใบมา 400 คน ผมจึงได้ไปเตรียมพื้นที่ เตรียมคนมารับ 17.30 น. ขบวนรถมาถึง 8 คัน ผมก็เป็นคนไปรับ พร้อมกับแพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่ต่างๆ
คนที่มาชุดแรก (ผู้ชุมนุมจากตากใบ) ก็กระโดดลงมาจากรถปกติ ไม่มีอะไร มีคนเดียวที่อ้วนลงจากรถไม่ได้ ผมก็ไปช่วยพยุงลงมา แล้วมันเหลืออยู่ 1 คนที่ไม่ลงจากรถ ก็ให้หมอขึ้นไปตรวจ พบว่าเสียชีวิตแล้ว โดยพบว่าถูกตีที่หัว สอบถามคนประจำรถทุกคนก็ไม่รู้เรื่องว่าเพราะอะไร แต่น่าจะถูกตีมาก่อนจากเหตุการณ์ แล้วขึ้นมาตายบนรถ ซึ่งตรงนี้รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ก็มีอยู่แล้วว่าถูกตีด้วยของแข็งศพแรก
แต่คำฟ้องของฝ่ายโจทก์ หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์สื่อทางเลือกเกี่ยวกับกฎหมาย หรือ สส.ที่ออกมาเคลื่อนไหว ก็ไปตัดเอาข้อความบางส่วนมา แล้วก็ต่อเติมกันเอง ไม่เอาข้อมูลตรงที่ผมเล่านี้ไปต่อเลย เอาแค่จากพบศพ แล้วก็อ้างว่าไปจากการบรรทุกเลย นั่นคือช่วงแรก ส่วนแรกที่ผมมองว่าเป็นการบิดเบือน
หลังจาก 17.30 น. ผมรับเองก็ไม่มีอะไร พยาบาลมาตรวจ ทุกคนปกติดี ก็ให้นั่งรอที่สนามหญ้า จัดทำชื่อ ทำประวัติ เพราะฉะนั้นตรงท้ายรายงานของคณะกรรมการอิสระฯ มีการไปสอบถามผู้ถูกควบคุมทุกคนแล้ว เขาก็บอกว่าได้รับการต้อนรับอย่างดี ซึ่งข้อมูลนี้มันอยู่ตรงท้ายรายงานฯ ซึ่งมันไม่มีปัญหาอะไรในช่วงแรก
พอ 20.30 น.ผู้ถูกควบคุม (ผู้ชุมนุม) เข้าเรือนจำไปหมดแล้ว ซึ่งถ้ามีสิ่งผิดปกติ มันก็ต้องนำไปส่งโรงพยาบาลตามคำฟ้องที่กล่าวอ้างขึ้นมา
ในเวลา 21.30 น. ผมเป็นคนสุดท้ายที่ขับรถลาดตระเวนรอบเรือนจำ แล้วก็กลับเข้าไปที่ บก. (กองบังคับการของค่าย) ซึ่งอยู่ห่างไป 300 เมตร เราก็เข้าใจว่ามีแค่นี้ ตามคำสั่งในการรับผู้ถูกควบคุม ในรายงานฯก็จะบอกว่า รับคำสั่งแค่เพียงตรงนี้
@@ จับโยงเสียชีวิตรายแรกกับการเคลื่อนย้าย ทั้งที่เป็นคนละรอบ
ฉะนั้นคำฟ้องที่เขาเอาไปฟ้องบอกว่า 18.00 น. พบผู้ถูกควบคุมรายแรกเสียชีวิตแล้วไม่แก้ไข จึงทำให้เกิดผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เป็นคำฟ้องเท็จ ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นจริง
ดังนั้นจำเลยทั้ง 7 คน (ที่ศาลประทับรับฟ้อง นำโดยอดีตแม่ทัพภาคที่ 4) เขาไม่สามารถสั่งการแก้ไขได้ เพราะมันมาเกิดขึ้นอีกทีตอน 23.00 น. มันคนละส่วนกัน (หมายถึงการพบผู้เสียชีวิตจำนวนมาก)
คือผมไม่ได้บอกว่าไม่ผิดนะ แต่มันผิดในข้อหาอื่น คือน่าจะกระทำโดยประมาท ซึ่งผมเป็นคนพบตอนแรกเวลา 17.30 น. ไม่ได้พบตอนเวลา 18.00 น. และมีผู้เสียชีวิต 1 รายที่ว่าตามรายงานก็บอกว่า ถูกตีด้วยของแข็ง ไม่ใช่เสียชีวิตจากการทำให้ซ้อนกันในรถบรรทุก”
@@ ถามถ้าตายเยอะตั้งแต่เย็น ทำไมไม่เป็นข่าวใหญ่?
พล.อ.นพนันต์ ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุผลที่มีการนำข้อมูลไปเรียบเรียงใหม่ โดยเชื่อว่ามีเป้าหมายเพื่อให้ศาลรับฟ้องข้อหาหนัก เนื่องจากข้อหาที่ควรจะเป็น คือ ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ขาดอายุความไปตั้งแต่ 15 ปีแล้ว
“ทำไมเขาถึงทำแบบนั้น ก็เพราะถ้าเขาฟ้องตามหลักฐานจริง มันฟ้องเจตนาฆ่าไม่ได้ มันเป็นแค่ประมาท ซึ่งมันมีอายุความ 15 ปี มันหมดอายุความไปแล้ว เขาเลยเอาที่บอกมาโยงกัน ก็คือตัดตอน
อย่างกรณีเว็บไซต์สื่อทางเลือกเกี่ยวกับกฎหมายก็เหมือนกัน ล่าสุดเขาก็เอาตรง นพ.จิรศักดิ์ ได้พบผู้เสียชีวิตคนแรก ซึ่งเขาพูดแค่เพียง 2 บรรทัดแรก ที่เหลือนำมาบรรยายฟ้องต่อเองว่าไม่ได้สั่งการแก้ไข คือบรรยายต่ออีกเป็นสิบบรรทัด มันจะเป็นอย่างนี้ทั้งหมด คำฟ้องก็เหมือนกัน นี่คือการบิดเบือน หรือฟ้องเท็จ หรือลงข้อมูลเท็จ
มันจะเป็นตามที่ผมบอกเลยว่า คณะอนุกรรมการอิสระฯ ได้สืบมาแล้วว่ารถมาถึง 17.40 น. ซึ่งใกล้เคียงกับของผมที่บอกไว้ 17.30 น. และมีลงรายงานไว้เลยว่า มีผู้เสียชีวิตถูกตีจากของแข็ง 2 ครั้ง แล้วชุดที่ 2 เกิดขึ้นหลังจากผมกลับมาที่พักแล้ว ฟังวิทยุเวลา 23.00 น.ได้ยินว่ามีผู้เสียชีวิต โดยรถจะเข้ามาประมาณ 23.00 น. ผมไม่ได้ไป ก็ให้ชุดที่ 2 คือ พ.ท.วัชระ ไประดมคนไปรับ
ถ้าเกิดมีการตายจริงตั้งแต่ 18.00 น.ตามที่เขาฟ้อง แล้วตายมากขึ้นเรื่อยๆ สื่อที่มารอทำข่าวอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธฯ ก็ต้องรู้ และก็เป็นข่าวทั้งประเทศแล้ว เพราะต้องขนย้ายคนไปยังโรงพยาบาลต่างๆในจังหวัดอีกกว่า 50 คน และตอนที่รับชุดแรก ตำรวจก็มา พยาบาลต่างๆ ก็มา มันจะเป็นไปได้หรือว่าเมื่อเจอคนตาย 30-40 คนแล้ว ทุกคนแยกย้ายกลับบ้านตอน 21.30 น.ตามที่ผมรายงาน
ฉะนั้นคำฟ้องของเขาที่บอกว่า จำเลยทั้ง 7 ไม่ได้สั่งการแก้ไข มันสั่งแก้ไขไม่ได้ เพราะในช่วงเวลา 17.30 - 23.00 น. มันไม่มีการขนย้ายคนเข้ามา และยังไม่พบคนตายจำนวนมาก”
@@ เผยคุยทนายจำเลย พบสู้ผิดจุด ทำศาลรับฟ้อง
อดีตนายทหารยุทธการ กองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้า บอกด้วยว่า พยายามติดต่อผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทนายจำเลย ตั้งแต่ทราบข่าวศาลประทับรับฟ้อง จึงทราบว่ามีการต่อสู้คดีผิดประเด็น
“จริงๆ ตอนศาลรับฟ้องคดีนี้ ผมเคย VTC (Video Teleconferencing) คุยกับทนายจำเลยมาแล้วเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะถ้าผมได้ไปไต่ส่วนมูลฟ้อง เขาอาจจะไม่รับฟ้องหรอก ส่วนทนายจำเลยเขาตอบอะไรไม่ได้เลย
เราถามว่าคุณเตรียมการอย่างไร ปรากฏว่าเขาไปเล่าเรื่องเหตุการณ์ก่อนสลายม็อบ ซึ่งมันไม่ใช่ นั่นคือจุดบกพร่อง คือเราไม่ได้เอาคนที่รู้ไปชี้แจงต่อศาลตอนไต่สวนมูลฟ้อง ถ้าตอนนั้นผมไปชี้แจงตามหลักฐาน ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นจริง เขาก็อาจจะไม่รับฟ้อง ซึ่งในตอนนั้นผมอยู่กรุงเทพฯ และผมก็พ้นหน้าที่จาก กอ.รมน. มาอยู่กองทัพบกแล้ว แต่ที่ผมมาพูดคือข้อความของผมที่ให้ข้อมูลไว้ ถูกนำไปบิดเบือน
พูดง่ายๆ เขาต้องการให้เกิดการฟ้องคดี ผมคิดว่านี่คือสาเหตุที่ทุกคน (จำเลยทั้ง 7) บอกว่าไม่เอาแล้ว ไปดีกว่า แต่ความเป็นจริงแล้วผมก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะผมไม่เจอจำเลย เจอแค่ทนายแค่ครั้งเดียว คือตอนไต่ส่วนมูลฟ้อง เขาไปติดต่อจำเลยกันเอง เป็นการฟ้องส่วนตัว เขาไปดำเนินการกันเอง เพราะแม้กระทั่งกองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้าเองก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในช่วงแรก เพราะเขาเห็นว่ามันเป็นการฟ้องส่วนตัว แล้วทนายเองก็ไม่แน่ใจว่าจะพบตัวจำเลยหรือเปล่า
แต่ถ้าวันที่ไต่สวนมูลฟ้องผมไปชี้แจงแบบนี้ ศาลเขาอาจจะไม่รับฟ้อง เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นจริง ซึ่งที่ผมพูดทั้งหมดไม่ต้องสืบพยานเลย มันอยู่ในเอกสารหมดแล้ว เพียงแต่ว่ามันกระจายอยู่
@@ ไม่เคยป้องว่าไม่ผิด แต่ไม่ใช่เจตนาฆ่า
จริงๆ แล้วถามว่าผิดตรงเจตนาฆ่าไหม มันไม่ผิดอยู่แล้ว แต่มันน่าจะผิดที่เรื่องประมาท ก็ว่ากันไป ไปฟ้องประมาท แต่มันไม่มีเวลา มันหมดอายุความไปแล้ว นี้คือสาเหตุที่เขามาฟ้องโดยพยายามรวบรัดให้เป็นเจตนาฆ่า
ส่วนในคดีสำนวน 2 ที่อัยการฟ้อง ตรงนั้นผิดอยู่แล้ว เพราะคดีอาญา ผู้ใดก็คือผู้นั้น เพราะว่าท่านแม่ทัพ (พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4) หรือคนอื่นไม่ได้สั่งให้บรรทุกแบบนั้น ในรายงานก็บอกแล้วว่า ในคลิปวิดีทัศน์ ท่านแม่ทัพกับท่านศิวะ (ศิวะ แสงมณี อดีตข้าราชการระดับสูงฝ่ายมหาดไทย) ได้เห็นการบรรทุกที่ผิดปกติ ท่านจึงได้สั่งให้รื้อลงมา แต่ที่ระบุตอนท้ายคือ ไม่ได้กำกับจนจบ นั่นก็คือตอนที่ท่านไม่อยู่ ก็เกิดปัญหาช่วงนั้น
ชุดที่มาถึงเวลา 23.00 น. ในชุดที่ 2 นี้ ผมไม่เคยบอกว่าไม่ผิด แต่ในฐานความผิดเจตนาฆ่าหรือประมาท ก็ต้องสู้กัน”
@@ สรุป 2 ปมถูกบิด เรื่องจริงเป็นไปไม่ได้
อดีตนายทหารยุทธการ กองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้า ชี้แจงเหตุผลที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับจำเลยหรือผู้ต้องหาที่ถูกฟ้องดำเนินคดี แต่เป็นเพราะคำให้การของตนถูกนำไปบิดเบือน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องส่วนตัวของตน ไม่เกี่ยวกับหน่วยงาน
“การที่ผมออกมาพูด คือผมถือเป็นผู้เสียหาย เพราะมีการเอาคำพูดผมมาบิดเบือน แต่ผมก็ย้ำเสมอนะว่า ผู้ต้องหา/จำเลยทั้ง 2 ชุด ไม่ใช่ไม่ผิดนะ แต่ผิดตรงที่ไม่ใช่เป็นเจตนาฆ่า โดยเฉพาะชุดหนึ่ง ท่านไม่ได้อยู่ที่ค่ายอิงคยุทธฯเลย มันก็หมดอายุความไปแล้ว ในเรื่องอื่นทั่วๆ ไปของตากใบ ทุกคนรู้กันอยู่แล้ว แต่จุดต่างคือที่มันมาบิดเบือน ทำให้สังคมโกรธแค้นเจ้าหน้าที่ว่าทำไมไม่ทำอะไร ทำไมมันทรมานกันถึงขนาดนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วบทสรุปตอนท้ายในรายงานระบุเลยว่า
1.ไปสอบสวนผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และผู้ถูกคุมขังที่เรือนจำและที่โรงพยาบาลทุกที่ ให้การว่ามีการต้อนรับผู้ถูกควบคุมเป็นอย่างดี คือถ้ามันมีการตายเกิดขึ้นจริงในตอนแรก เขาก็ไม่พูดแบบนี้...จริงไหมครับ
2.หากมีการเสียชีวิตกันเยอะตั้งแต่ 18.00 น. ตำรวจ พยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ เขาคงเห็นคนตาย 30-40 คนส่งโรงพยาบาล แล้วทุกคนจะแยกย้ายกันกลับบ้านได้เฉยๆ หรือ มันต้องเป็นข่าวไปทั่วประเทศตั้งแต่คืนนั้นแล้ว มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแยกย้ายกันกลับบ้าน ถ้ามีคนตายกันเยอะแบบนั้น มันก็ต้องช่วยกันหาทางแก้ไข”