แม้บางฝ่ายจะออกมาแสดงความกังวลและท้วงติง “โต๊ะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ กระบวนการกำลังเดินหน้าต่อไป
เร็วๆ นี้จะมีประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ “เวิร์คชอป” ครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างตัวแทนคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย กับ บีอาร์เอ็น
บางฝ่ายที่มีความกังวล เกรงว่านี่คือ “โรดแมป” สู่ความพ่ายแพ้ของรัฐไทยในสงครามก่อความไม่สงบที่ปลายด้ามขวาน แต่ขณะเดียวกันก็มีนักวิชาการบางท่านที่มองว่า นี่คือ “ไทม์ไลน์ปกติ” ของกระบวนการสันติภาพ และฝ่ายไทยต่างหากที่ไม่ค่อยจะพร้อมเท่าที่ควร
นักวิชาการที่มีแนวคิดเช่นนี้ คือ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ซึ่งมีตำแหน่งแห่งหนทางความมั่นคง ทั้งในสถานะนักวิชาการ และคณะทำงานของฝ่ายการเมือง
จุดหักเหที่ทำให้กระบวนการสันติภาพรอบนี้ถูกตั้งคำถาม คือรายละเอียดของ JCPP หรือ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” ที่คณะพูดคุยของรัฐบาลกับบีอาร์เอ็นยอมรับร่วมกัน
แต่อาจารย์ปณิธานบอกว่า สิ่งที่เรียกว่า JCPP คือเรื่องธรรมดาของกระบวนการสันติภาพ และการเวิร์คชอปที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็คือขั้นตอนปกติ
“JCPP ถือว่ามีความสำคัญมาก และเป็นขั้นตอนที่พ้นจากขั้นตอนช่วงแรกๆ มาแล้ว คือช่วงแรกๆ มีการระบุตัวตน สร้างความคุ้นเคย แล้วก็พูดถึงคณะทางเทคนิค ขั้นตอนนี้จะใช้เวลานานมาก”
“แต่พอเริ่มมีการพูดถึงเรื่อง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ มันก็จะต้องมาลงรายละเอียดเรื่องพวกนี้ ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นช่วงที่ 2 คือ” อาจารย์ปณิธาน อธิบายไทม์ไลน์ที่เกิดขึ้น และประเมินถึงขั้นตอนต่อไป
”พอผ่านช่วงนี้ไปแล้ว มันก็จะต้องตั้งชุดกำกับดูแลข้อตกลงเหล่านี้ ซึ่งมันจะเป็นอีกขั้นหนึ่ง เพื่อที่จะให้พื้นที่เดินไปตามนี้ แต่มันมีรายละเอียดอื่นเยอะมาก ข้อตกลงทั้งหมด ทำเสร็จแล้วต้องแจกจ่าย ต้องซักซ้อม ช่วงนี้แหละเป็นช่วงที่จะต้องทำเวิร์คชอป เพื่อที่จะทำให้ทางเทคนิคชัดขึ้น ต้องใช้เวลา”
อาจารย์ปณิธาน ฉายภาพให้เห็นว่า หลังจากเวิร์คชอป ถือเป็นเรื่องทางเทคนิคจริงๆ และจะชี้ทิศทางให้ชัดเจนขึ้นในอนาคต ทั้งเรื่องการจัดการบริหารในพื้นที่ เรื่องการวางกำลัง การลาดตระเวน
“ตรงนี้มันจะมีเรื่องเยอะ ซึ่งทางฝ่าย (หมายถึงคณะพูดคุยฝ่ายรัฐ และฝ่ายความมั่นคง) เราก็อาจจะไม่กล้าเปิดเผยทั้งหมด เพราะมันอาจกลายเป็นจุดโจมตีว่ามันเป็นข้อตกลงที่เสียเปรียบ” นักวิชาการชื่อดังกล่าวอย่างเห็นภาพ
อาจารย์ปณิธาน ยืนยันว่า การพูดคุยเจรจา จะไม่ทำให้ฝ่ายรัฐไทยเสียเปรียบ เพราะหากคู่เจรจาไม่ทำตามที่ตกลง ฝ่ายรัฐก็สามารถกดดันด้วยการใช้กำลังได้ และไม่ผิดกติกาสากล เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลได้ทำตามกรอบที่ตกลงกันแล้ว
“ถือเป็นวิธีการปกติของการเจรจากับกองกำลัง ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ควรจะนำมาใช้ทั้งหมดกับเรา เพราะเราไม่ได้ถือว่าบีอาร์เอ็นมีกองกำลังอย่างเป็นทางการ”
@@ ติงพูดคุยไม่คืบหน้า เหตุรัฐไม่มี “ดรีมทีม”
แต่ อาจารย์ปณิธาน ยอมรับว่า ความคืบหน้าของกระบวนการสันติภาพ ยังการันตีไม่ได้ว่าจะทำให้สันติสุขเกิดขึ้นจริง เพราะรัฐบาลนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ให้ความสำคัญกับปัญหาชายแดนใต้น้อยเกินไป
“รัฐบาลชุดนี้ไม่ค่อยให้ความสำคัญ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงก็ไม่มี มีแต่ขอให้ทหาร หรือ เสธ.บางคนไปช่วยรับผิดชอบ แต่ก็ทำกันคนละทิศละทาง ไม่ชัดเจน ไม่เป็นดรีมทีม”
เมื่อฝ่ายรัฐไม่ใช่ “ดรีมทีม” ทำให้ไม่มีความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนไปตามไทม์ไลน์ของการพูดคุยเจรจา
“จริงๆ การพูดคุยมันพอจะเดินได้แล้ว และมีการเอากรอบมาบีบให้ทุกฝ่ายลดความรุนแรง ซึ่งฝ่ายเราก็ต้องปรับเปลี่ยน ลดปฏิบัติการทางทหารลงด้วย”
“แต่พอจะเดินจริง ผมว่า สมช. (สภาความมั่ืนคงแห่งชาติ) ก็ยังไม่พร้อม แม่ทัพก็ไม่ค่อยเล่นด้วย ในทางยุทธวิธีทหารก็อาจจะลำบากมากขึ้น เพราะว่าการใช้ทหารในการวางกำลัง หรือการเข้าตรวจค้น การลาดตระเวน ต้องถูกตีกรอบมากขึ้น มันเหมือนกับว่ามีกฎอัยการศึก มีกฎหมายพิเศษ แต่ใช้ไม่ได้อีกเยอะเลย”
อาจารย์ปณิธาน ย้ำว่า ภาพที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายรัฐเสียเปรียบ
“แต่ในทางยุทธศาสตร์เราไม่ได้เสียเปรียบ เพราะเราก็ต้องเข้าสู่กรอบสากลในการใช้กำลังที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งต่อไปจะมาอ้างไม่ได้ แต่ว่าจังหวะตรงนั้นกับตรงนี้ต้องคุยกันให้ดี”
อาจารย์ปณิธาน มองไกลไปถึงจุดเปลี่ยนหลังจากนี้ว่า ต้องรอโยกย้ายข้าราชการกันอีกที ทั้ง สมช. แม่ทัพภาคที่ 4 ตอนนั้นอาจมีจังหวะใหม่ อาจจะมีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ถึงตรงนั้น การทำเวิร์คชอปร่วมกันจะเห็นผลกว่า