กระแสวิจารณ์เกี่ยวกับ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ JCPP ที่คณะพูดคุยดับไฟใต้ของรัฐบาลไทย ไปเจรจาเบื้องต้นกับกลุ่มบีอารเอ็น เมื่อวันที่ 6-7 ก.พ.67 เริ่มเบาบางลง
ข่าวว่า คณะพูดคุยฯ เดินสายพบปะผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคน และบางคนมีสถานะที่ทุกหน่วยต้องเงี่ยหูฟัง
ข่าวแจ้งว่า คณะพูดคุยฯ ได้ทำความเข้าใจกับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอย่างละเอียด กระทั่งได้รับ "ไฟเขียว” ให้คุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นต่อไปได้ ตามกรอบ JCPP ที่เห็นชอบร่วมกันมา
แต่มีเงื่อนไข 2 ข้อที่กำชับให้รับปากกันเป็นมั่นเหมาะ นั่นก็คือ
- ทุกการตกลง และทุกการกระทำนับจากนี้ ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทยอย่างแท้จริง แบบไม่ต้องตีความ
- ต้องไม่เกิดสถานการณ์ที่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน สูญเสียดินแดน หรือสูญเสียอำนาจการปกครองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไป
ข่าวที่ไม่ยืนยันชัดเจนระบุว่า คำว่า “เขตปกครองตนเอง” ก็ไม่ควรเกิดขึ้น หรือไม่ควรไปถึงจุดนั้น
สัญญาณนี้ต้องถือว่าเป็น “แง่บวก” ของคณะพูดคุยฯ เพราะได้รับไฟเขียวให้ทำงานต่อ ในขณะที่บางฝ่ายเชื่อว่าสุดท้ายจะนำไปสู่การ “ล้มโต๊ะ” อีกครั้ง
ความเคลื่อนไหวนี้เองที่ทำให้หลายคนแนะให้ดูบทบาทของกองทัพ ที่เงียบสงบผิดสังเกต ไม่ออกมาค้าน JCPP เลยแม้แต่แอะเดียว ขณะที่นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ก็เหมือนนั่งอยู่ในรถที่ใส่เกียร์ N เอาไว้ตลอด
@@ บทเรียนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข
เมื่อกระบวนการพูดคุยกับบีอาร์เอ็น กำลังจะเดินหน้าต่อไป ก็สมควรที่จะหันไปรับฟังข้อเสนอแนะ และข้อห่วงใยจากคนมีประสบการณ์
หนึ่งในนั้นคือผู้มีประสบการณ์ตรงอย่าง พลเอก อักษรา เกิดผล สมาชิกวุฒิสภา อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยดับไฟใต้คนที่ 2 ที่เคยจัดกระบวนการพูดคุยกับกลุ่ม “มารา ปาตานี”
พลเอก อักษรา ได้เขียนบทความขึ้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 ในหัวข้อ “บทเรียนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข” มีข้อสังเกตและข้อเสนอ 6 ข้ออย่างตรงไปตรงมา และตรงประเด็นที่สุด
1.การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องยึดหลักการว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาภายในของประเทศไทย แก้โดยสันติวิธีผ่านกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ยึดถือยุทธศาสตร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ด้วยหลักการนี้ทำให้ทั้ง UN, OIC, ตะวันออกกลาง และยุโรปไม่มาแทรกแซงการแก้ปัญหาของไทย
2.ผมขอเรียนว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขนั้น โดยข้อเท็จจริงเรื่องการพูดคุยในปี 58 ของผมก็แตกต่างจากการพูดคุยในปี 56 โดยสิ้นเชิง เพราะในปี 56 ท่านอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้ไปในนามของรัฐบาล นางสาว ยิ่งลักษณ์ฯ และคุยกับ BRN เพียงกลุ่มเดียว โดยรับข้อเสนอของ นายฮัสซัน ตอยิบ ที่มีข้อเรียกร้อง 5 ข้อ เพื่อมาปรึกษาหารือกับประชาชน
ผมจำได้ว่าท่านอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่ปรึกษาหารือกับประชาชน และมีผู้นำศาสนาท่านหนึ่งเห็นด้วยกับข้อเสนอ BRN ทั้ง 5 ข้อ ซึ่งท่านบอกว่าดีเหมือนกัน แต่จะปกครองอย่างไรค่อยดูกันอีกที
3.ดังนั้นในปี 58 เมื่อผมได้รับการแต่งตั้งจากท่าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ผมเห็นบทเรียนจากคณะแรกในปี 56 แล้วว่าท่านอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปในฐานะตัวแทนรัฐบาล ในขณะที่ BRN เป็นตัวแทนประชาชนปาตานี ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ไปปรึกษาหารือประชาชนเพื่อกำหนดรูปแบบการปกครองที่เหมาะสม เข้าทาง BRN แน่นอน
4.จากบทเรียนดังกล่าว ผมจึงได้ปรับแนวทางการพูดคุยในปี 58 ใหม่ ดังนี้ คือผมต้องไปในฐานะ “ผู้แทนประชาชน” ไม่ใช่ในฐานะผู้แทนส่วนราชการ และผมจะไม่ยกระดับขบวนการใดเป็นพิเศษ เพราะสถานการณ์ในขณะนั้นทั้ง 6 ขบวนการกำลังขาดเอกภาพและแย่งชิงการนำ ซึ่งเป็นผลดีต่อรัฐบาลไทย
ผมจึงเสนอให้ผู้อำนวยความสะดวกไปรวมทั้ง 6 กลุ่มมาคุยกับผมที่ไปคุยในฐานะผู้แทนประชาชน โดยผมไม่มีข้อเรียกร้องใดๆ นอกจากความปลอดภัยของประชาชนเพียงเรื่องเดียว ทำให้กลุ่มขบวนการผู้เห็นต่างๆ ต้องเก็บข้อเรียกร้องมากมายไว้ในกระเป๋า และให้ความร่วมมือสร้างพื้นปลอดภัยให้ประชาชนก่อน แล้วค่อยถามประชาชนทีหลังว่าจะอยู่กับรัฐบาลไทยหรือกลุ่มผู้เห็นต่างฯ โดยเป็นการเริ่มต้นงานมวลชนในพื้นที่ของทุกฝ่าย
5.ผมยึดถือตามแนวทางยุทธศาสตร์พระราชทาน คือไปคุยกับกลุ่มขบวนการผู้เห็นต่างฯ ให้เข้าใจต่อจากนั้นก็เข้าถึงด้วยการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกันก่อน เพื่อพิสูจน์ความไว้วางใจว่าเป็นตัวจริง ต่อจากนั้น จึงเริ่มการพัฒนา เพื่อยุติความรุนแรงทั้งปวง
เรื่อง "ความเข้าใจ" กระผมสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกับเรื่องพื้นที่ปลอดภัยบนหลักการ 8 ข้อที่ประชาชนได้ประโยชน์เต็มๆ แล้ว
ต่อมาเรื่องการ "เข้าถึง" นั้น กลุ่มขบวนการทั้ง 6 กลุ่ม ที่มี BRN เป็นแกนนำ ได้ตกลงเลือก อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เป็นพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง หรือ SAFETY ZONE ที่จะทำงานร่วมกัน
สถานการณ์ภาพรวมในปี 2561 นั้น เป็นไปด้วยดี สถิติการก่อเหตุรุนแรงลดลงมากที่สุด จากเดิมกว่าพันเหตุการณ์ เหลือเพียงแค่หลักร้อย และการสูญเสียลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยการเดินหน้าพื้นที่ปลอดภัยนี้มีแผนจะขยายพื้นที่ต่อไปทุกปีให้ครบทั้ง 37 อำเภอ
6.แต่เป็นที่น่าเสียดาย เพราะเมื่อผมพ้นหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ทุกอย่างก็จบลง และรัฐบาลได้หันกลับไปใช้แนวทางการพูดคุยแบบเดิมเหมือนในปี 56 คือ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นหัวหน้าคณะฯ ไปคุยกับ BRN เพียงกลุ่มเดียว ยกระดับให้เป็นคู่ขัดแย้งของรัฐบาลไทย และไปดึง NGOs มาช่วยร่างแผน JCPP บนหลักการ 3 ข้อ เหมือนปี 56 ทุกอย่าง
คือมีการปรึกษาหารือกับประชาชนให้ได้รูปแบบการปกครองที่เหมาะสมภายใต้รัฐธรรมนูญไทย นั่นก็คือ “เขตปกครองพิเศษ” ที่ในอนาคตจะมีต่างชาติมาแทรกแซงให้ “ลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ” จบลงที่ไปต่อไม่ได้ เพราะคนไทยทั้งประเทศไม่ยอมรับข้อเสนอของ BRN ที่ซ่อนอยู่ใน JCPP
เรียกร้องมากกว่า 5 ข้อ ในปี 56 เสียอีก!!!