ป.ป.ช.ปัตตานี ลงพื้นที่ตรวจเสาไฟไฮแมส 28 ต้น มูลค่ากว่า 18 ล้านบาท ถูกทิ้งร้างใช้งานไม่ได้ เหตุถูกลักขโมยตัดสายไฟพร้อมอุปกรณ์ ด้านโยธาและผังเมืองฯ แจงสร้างไว้รองรับโครงการขยายเมือง ดันเป็นแลนด์มาร์คแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดริมทะเลปัตตานี “ทีมข่าวอิศรา” ตะลุยสำรวจยามค่ำ ไฟไม่ติด มืดสนิท ไม่มีใครเที่ยว
จากกรณีมีการร้องเรียนการใช้งบประมาณการก่อสร้างเสาไฟไฮแมส จำนวนถึง 28 ต้น ซึ่งตั้งตลอดแนว ในพื้นที่หมู่ 6 บ้านสวนสมเด็จ ต.รูสะมิแล อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี หรือบริเวณพื้นที่ปากอ่าวปัตตานี ซึ่งสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดปัตตานี เป็นเจ้าของโครงการ แต่กลับถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ กระทั่งปัจจุบันกลายเป็นสภาพพื้นที่ถูกทิ้งให้เปล่าประโยชน์
เสาไฟไฮแมส หมายถึง เสาไฟถนนแบบสูง โดยเว็บไซต์ Infinity Lighting อธิบายเพิ่มเติมว่า คุณสมบัติทั่วไปของเสาไฟไฮแมส (High mast pole) คือทำด้วยเหล็กชิ้นเดียวที่ไม่มีการต่อเชื่อมติดกับแผ่นฐานเสา และมีชุดวงแหวนสำหรับติดตั้งโคมไฟถนน LED, สปอตไลต์ค่าวัตต์สูงๆ และเสาไฟจะสามารถรองรับโคมไฟได้ทั้งหมด 4-16 ดวง ทั้งในรูปแบบวงแหวนส่องรอบทิศทาง หรือแบบส่องด้านเดียว อยู่กับความต้องการของแต่ละพื้นที่
โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดปัตตานี ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น โดยขอทราบรายละเอียดจากผู้เกี่ยวข้อง อาทิ โยธาธิการและผังเมืองปัตตานี ผู้รับผิดชอบโดยตรง, ธนารักษ์พื้นที่ปัตตานี และนายกเทศมนตรีตำบลรูสะมิแล
@@ ทั้งโครงการ 75 ล้าน เฉพาะเสาไฟ 18 ล้าน...พังเรียบ!
นายธีรชัย สุขเกษม ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดปัตตานี ได้นำคณะตรวจสอบลงไปยังพื้นที่จริง พบว่า โครงการก่อสร้างนี้อยู่ในโครงการก่อสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันการกัดเซาะผิวดิน พื้นที่ริมปากแม่น้ำปัตตานี พร้อมกับปรับปรุงภูมิทัศน์ เป็นงบประมาณมูลค่ากว่า 75 ล้านบาท
แต่สำหรับในส่วนของการก่อสร้างเสาไฟฟ้าไฮแมส จำนวน 28 ต้น ใช้งบประมาณก่อสร้างไป 18,089,372 บาท ปัจจุบันเสาไฟฟ้าทุกต้นไม่สามารถใช้งานได้ สาเหตุเกิดจากได้มีการลักลอบขโมยตัดสายไฟ มอเตอร์ไฟฟ้า และอุปกรณ์จากเสาไฟฟ้าไปหลายครั้ง ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่รกร้างและมืด ต่อมาสภาเทศบาลตำบลรูสะมิแล มีมติเห็นชอบให้รับโอนทรัพย์สินจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 พ.ค.64
@@ ยังอ้างสร้างเยอะๆ รองรับขยายโครงการ
โดย นายนภพร ชูอ่องสกุล โยธาธิการและผังเมืองปัตตานี ให้ข้อมูลว่า ในขอบเขตงานจ้างตามสัญญาไม่ได้ระบุไว้ แต่กำหนดไว้เพียงแต่จำนวนเสาไฟว่าต้องมีจำนวนกี่ต้น และระยะห่างระหว่างต้นเท่าไหร่
ต่อมามีโครงการของหน่วยงานด้านป่าไม้บริเวณใกล้ๆ เขื่อน จากนั้นได้มีการก่อสร้างถนน พื้นที่โครงการจึงไม่เพียงพอให้ติดตั้งเสาไฟในพื้นที่ให้ได้ตามแบบแปลน คือให้ได้ระยะห่างต้นละ 50 เมตร
ดังนั้นมติที่ประชุมของทางโยธาธิการฯ ปัตตานี จึงเห็นควรให้ขยายพื้นที่การก่อสร้างออกไป และติดตั้งเสาไฟฟ้าไฮแมสเพื่อรองรับกับโครงการที่จะขยายต่อในอนาคต
@@ แฉสร้าง 28 ต้นเกินจำเป็น - ป.ป.ช.ย้ำต้องมีคนรับผิด
นายธีรชัย สุขเกษม ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นประโยชน์กับประชาชนชาวปัตตานีที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ทาง ป.ป.ช.ปัตตานี จะได้เฝ้าระวังติดตามการดำเนินโครงการ และตรวจสอบข้อเท็จจริงของโครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าไฮแมสว่าเป็นไปตามแบบแปลนที่กำหนดในสัญญา และมีความคุ้มค่ากับงบประมาณของเสาไฟฟ้าที่มีราคากว่าต้นละ 6 แสนบาทหรือไม่ ซึ่งในมุมมองของชุมชนในพื้นที่เห็นว่า เสาไฟ 28 ต้น เกินความจำเป็น
“หากสำนักงานโยธาธิการฯ ในฐานะเจ้าของโครงการชี้แจงว่า มีไว้ใช้เพื่อรองรับโครงการที่ 2 ที่จะตามมาในอนาคต แต่ควรพิจารณาความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และที่สำคัญคือในการตรวจรับเพื่อส่งมอบงานจ้างนี้มีความถูกต้องตามแบบแปลนหรือตามสัญญาหรือไม่ เพราะอาจขัดต่อระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐได้” ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดปัตตานี ระบุ
สำหรับการก่อสร้างเสาไฟฟ้าของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดปัตตานี เป็นหนึ่งในแผนงานการขยายพื้นที่รอบรับความเจริญของเมืองปัตตานีโดยตรง ที่ต้องการสร้างให้เกิดแลนด์มาร์คเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด แต่คำถามที่ยังค้างคาใจตามมาของชุมชนก็คือ เรื่องความคุ้มค่ากับงบประมาณในหลายๆ จุด การก่อสร้างที่ปราศจากการดูแลรักษาที่เหมาะสม เป็นเหตุให้เกิดการลักลอบขโมยทรัพย์สินของทางราชการ
อีกทั้งจะต้องใช้จ่ายงบประมาณเพื่อปรับปรุงดูแลรักษาอีกจำนวนมาก เช่น การปรับมาเป็นสายไฟฟ้าแบบฝังดินตามแบบเดิมแทน เพื่อป้องกันการถูกขโมยซ้ำ ซึ่งต้องใช้งบประมาณอีกกว่า 180,000 บาท
นอกจากนั้น ยังมีอาจมีความเสียหายจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ถูกขโมย ทั้งการตัดสายไฟ มอเตอร์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ติดตั้งกับเสาไฟฟ้าไฮแมส รวมมูลค่ากว่า 5,600,000 บาท ซึ่งต้องมีผู้รับผิดชอบ เพราะหากปล่อยให้ไม่มีการดูแลรักษา และทิ้งร้างอีก เหมือนสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โครงการการก่อสร้างนี้จึงไม่น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายของวัตถุประสงค์โครงการ
@@ ลงพื้นที่ตอนพลบค่ำ มืดสนิท ไร้คนเที่ยว มีแต่หมาจรจัด
“ทีมข่าวอิศรา” ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณที่ติดตั้งเสาไฟไฮแมส ซึ่งอยู่ติดกับหาดริมทะเล หลังสวนสมเด็จฯ โดยไปใช้ช่วงใกล้ค่ำ พบว่าบรรยากาศโดยรวมมีแต่ความมืด ไม่มีใครไปท่องเที่ยวตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่จะให้เป็นแลนด์มาร์คใหม่ของปัตตานี มีเพียงหมาจรจัดอาศัยอยู่ บ่งบอกถึงการถูกทิ้งร้างมานาน เสาไฟไม่ได้มีการซ่อมบำรุง และไม่มีหน่วยงานเข้ามาดูแล จนทำให้อุปกรณ์ของเสาไฟฟ้าชำรุด เสียหาย และสูญหาย
เสาบางต้น มีต้นไม้ใบหญ้าขึ้นปกคลุมเป็นจำนวนมาก ไม่มีการดูแลหรือถางออก นอกจากนี้ เสาไฟบางต้นถูกพ่อค้าแม่ค้าใช้เป็นเสาร้านขายของ ตั้งเป็นเพิงขายของก็มี