“เขาจากไปโดยยังไม่ได้บอกกล่าวอะไรสักคำ ไม่ได้ร่ำลา ไม่มีแม้แต่คำสั่งเสียใดๆ”
คำพูดแผ่วๆ ปนสะอื้นสื่อสารถึงความรู้สึกเสียใจอย่างไม่ต้องแปลความของ ศศิธร หะยีเลาะ หญิงสาวที่ต้องกลายเป็นหญิงหม้าย หลังจากที่ อาหมะกอซี หะยีเลาะ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี สามีของเธอถูกยิงเสียชีวิต ขณะร่วมปฏิบัติหน้าที่เข้าไปเจรจาเกลี้ยกล่อมให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงยอมมอบตัว เมื่อวันที่ 4 ก.ค.66
ปฏิบัติการในครั้งนั้นคือการปิดล้อมตรวจค้นและจับกุม สาการียา สาอิ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 6 หมายจับที่ถูกทางการระบุว่าก่อคดีอุกฉกรรจ์มามากมาย
แม้สุดท้ายผู้ก่อเหตุรุนแรงคนสำคัญจะเสียชีวิต แต่ก็ต้องแลกด้วยชีวิตของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านน้ำดีคนหนึ่ง
ศศิธร เล่าถึงเหตุการณ์ก่อนรับทราบข่าวร้ายที่สุดในชีวิต...
“วันเกิดเหตุ สามีออกไปทำงานตามปกติ วันนั้นทั้งวันไม่ได้เจอกัน ไม่ได้คุยกันเลย มารู้อีกทีก็ตอน 8 โมง 10 นาทีว่าเขาถูกยิง ลูกสาวเป็นคนโทรมาบอกว่ามามี้ ป๊าโดนยิง”
“ตอนนั้นก็ยังคิดว่าเขาจะรอด 50-50 คือไม่ตาย จึงรีบขับรถกลับมาที่บ้าน เมื่อมาถึงมีตำรวจรออยู่แล้วบอกว่าให้ใจเย็นๆ ทำใจดีๆ ตอนนี้ยังเอาสามีเราออกมาไม่ได้นะ ได้ยินแบบนั้นเราก็รู้แล้วว่า เขาไม่รอด เข่าแทบทรุด มันตื้อไปหมด ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องจริง"
ศศิธร เล่าเรื่องราวของสามีผู้เป็นที่รักของคนในครอบครัว...
“เหตุผลที่สามีอยากมาเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เพราะอยากมาพัฒนาหมู่บ้านของเขา และอยากมาดูแลแม่ที่แก่มากแล้ว จะให้น้องสาวของเขามาดูแล น้องสาวก็ทำงานอยู่ต่างอำเภอ ทำให้ไม่มีใครดูแลแม่ในช่วงกลางวัน เขาจึงตัดสินใจทิ้งงานที่เป็นกุ๊กอยู่ที่ร้านอาหารในมาเลเซีย อาสากลับมาทำงานที่บ้าน เพื่อจะได้มาดูแลแม่ด้วย”
“เมื่อได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สามีเป็นคนขยันมาก อาสาช่วยเหลือทุกคนในหมู่บ้าน ไม่ว่าใครเดือดร้อนเรื่องอะไรก็ตาม ก็จะอาสาเข้าไปช่วยเหลือลูกบ้านทันที เขาเป็นคนมุ่งมั่นเต็มที่กับการทำงาน ทำให้เขาเป็นที่รักของเพื่อนร่วมงานทุกคน เพราะเป็นคนดีชอบช่วยเหลือคนอื่น ทุกคนยังเสียดาย ตอนเกิดเหตุไม่มีใครเชื่อว่าจะเป็นสามี ยังถามว่าใช่จริงๆ หรือ”
ศศิธร บอกอีกว่า ตั้งแต่สามีตัดสินใจทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ทุกวันที่ออกไปทำงานก็จะเตือนตลอดว่า ให้ระมัดระวังดูแลตัวเอง เซฟตัวเองให้ดี เพราะอย่างที่รู้ที่เห็นกันตามข่าวต่างๆ พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่ของรัฐมักโดนยิงบ้าง โดนทำร้ายบ้าง บ่อยครั้งมากๆ
“แต่ในวันที่เกิดเหตุ วันนั้นเราแทบจะไม่ได้คุยกันเลย ตอนนี้เขาจากไปแล้ว เรายังทำใจไม่ได้ ยังรู้สึกเหมือนว่าสามียังอยู่ อยู่ข้างๆ เรากับลูก”
ศศิธร บอกถึงความรู้สึกในใจของเธอ แบบที่ไม่เคยพูดที่ไหนมาก่อน...
“ปกติเป็นคนไม่แสดงความรู้สึก ที่ผ่านมาไม่เคยพูดคำว่ารักกับสามีเลย หากย้อนเวลากลับไปได้ อยากบอกให้เขารู้ว่าเรารักนะ รักมากๆ รักเขาที่สุด เพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้บอก ไม่เคยแสดงความรักต่อกัน จนถึงวันที่เขาจากไปไม่มีวันกลับ”
“ส่วนลูกสาว บอกเลยว่าเข้มแข็งกว่าเรามาก แต่ก็รู้ว่าลูกแอบไปร้องไห้ และพยายามไม่ให้เราเห็น ทุกครั้งที่ลูกสาวขึ้นไปบนห้องของป๊าเขา เห็นเสื้อผ้าป๊า ก็จะยืนมองด้วยความรักและคิดถึง เพราะเขารักป๊าของเขามาก”
“หลังจากป๊าของเขาเสีย เขาก็ไปเอาผ้าห่ม ผ้าปูที่นอนของป๊าเขามากอด แล้วบอกห้ามเราว่า ผ้าปูที่นอนของป๊า มามี้อย่าซักนะ อย่าซักนะ อาเด๊ะจะเอามานอน มาหนุน มากอด น้องอยากเอามาหอม”
ชีวิตที่สูญเสียเสาหลักของครอบครัว ต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง...
“ทุกคืนตอนนี้ สิ่งที่เราทำได้คือนอนกอดกัน จับมือกันสองแม่ลูก ให้กำลังใจกัน และบอกกับลูกว่า ถึงแม้ป๊าจะไม่อยู่แล้ว แต่ยังมีมามี้ มามี้จะเป็นทั้งมามี้และป๊าให้ลูกเอง”
ศศิธร บอกอีกว่า ท่ามกลางความเสียใจของครอบครัว แต่ก็รู้สึกภาคภูมิใจที่สามีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ที่ได้เสียสละทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติอย่างดีที่สุด จวบจนวินาทีสุดท้าย ยิ่งได้เห็นรูปภาพของสามีในบางมุมที่สื่อหยิบไปนำเสนอ เป็นภาพถ่ายตอนเขายิ้ม ทำให้เราได้เห็นรอยยิ้มของเขา มันคือ รอยยิ้มของนักสู้ รอยยิ้มของวีรบุรุษ
“หากสามีรับรู้ได้ ก็อยากบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงลูก พี่ๆ น้องๆ ญาติทุกคนคอยดูแลให้กำลังใจอย่างดี ส่วนอนาคตของลูกสาว สามีเขาเคยบอกไว้เมื่อตอนยังมีชีวิตอยู่ว่า ไม่ต้องการบังคับลูก เขาอยากเรียน อยากเป็นอะไรก็ตามแต่ที่ลูกต้องการ แต่ป๊าเขาอยากให้เรียนจนจบปริญญาตรี ซึ่งตอนนี้ก็มีหน่วยงานของรัฐที่มาดูแลเรื่องการศึกษา เข้ามารับปากว่าจะช่วยเหลือดูแลลูกของเราอย่างดีที่สุด”
ศศิธร เล่าด้วยว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุ มีทั้งฝ่ายปกครอง ผู้ว่าฯปัตตานี แม่ทัพภาคที่ 4 ก็มาเยี่ยมให้กำลังใจไม่ขาดสาย ทำให้รู้สึกเข้มแข็งขึ้น แต่ถามว่า 100 เปอร์เซ็นต์ไหม ตอบได้เลยว่าไม่ และไม่รู้จะบรรยายอย่างไร
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับ ศศิธรและครอบครัว เป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมซ้ำๆ ที่เกิดกับอีกหลายบ้าน หลายครอบครัว นับพันนับหมื่นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บนห้วงเวลามืดมนกินที่ยืดเยื้อยาวนานร่วม 2 ทศวรรษ