“ทวี” ชูโมเดลพลิกโฉมชาวสวนยาง สร้างรายได้ 3 หมื่นทุกครัวเรือน ช่วงกรีดยางไม่ได้มีเยียวยาให้ หนุนปุ๋ยฟรี ลดต้นทุนการผลิต แก้ปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินทำกิน ด้านประชาธิปัตย์ประกาศ 8 นโยบายพัฒนาชายแดนใต้สู้ศึกเลือกตั้ง ตามยุทธศาสตร์ 3 ส. “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” พร้อมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
วันอาทิตย์ที่ 15 ม.ค.66 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ขึ้นเวทีเสวนาผู้แทนพรรคการเมืองกับชาวสวนยาง ในหัวข้อ “นวัตกรรมปัญหาของพรรคการเมือง เพื่อความสุขความมั่นคงชาวสวนยางพารา” ที่ศาลาอเนกประสงค์ วัดสุวรรณาราม ต.ห้วยปริก อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย ภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมัน วิสาหกิจชุมชนแปรรูปยางและกลุ่มมิตรภาพยางพารา ซึ่งมีตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ส่งตัวแทนเข้าร่วมเวที 7 พรรคการเมือง บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
พ.ต.อ.ทวี กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้วาระยางพาราเป็นวาระของพรรคประชาชาติ เราจะมีการพลิกโฉมเกษตรกรชาวสวนยางของประเทศไทยให้เกิดขึ้น ตนจะขอพูดถึงอดีตในวันเดียวกันนี้ คือวันที่ 15 ม.ค.65 ราคายางที่เคียนซา (อำเภอเคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี) วันนั้นอยู่ที่ 54 บาท แต่ชาวสวนขายได้จริงๆ 52 บาท ในวันนี้ราคายางที่เคียนซา เขียนไว้ 43 บาท แต่ชาวสวนได้ 41 บาท ราคาจะต่ำลง 10 บาท นี่คือ 1 ปีที่ผ่านมาที่ราคายางต่ำ
ใน พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ที่เขียนไว้ปี 2558 ก็คือ กยท.(การยางแห่งประเทศไทย) จะต้องทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ คำว่า “เสถียรภาพ” คือ มีความมั่นคง ไม่ขาดทุน ดังนั้นเราจึงเห็นโครงการมากมายในอดีตที่ออกมาในรูปของคำว่า “มีเสถียรภาพ”
ในรัฐบาลที่ผ่านมาก็มีอยู่ช่วงหนึ่ง ตอนนั้นยางราคาร้อยกว่าๆ ลงมาประมาณ 80-90 บาท รัฐบาลขณะนั้นก็มีโครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้มีเสถียรภาพทางการยาง ก็ได้ซื้อยางในราคา 90 -100 กว่าๆ ประมาณ 2 แสนกว่าตัน ต่อมาเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจ ก็มีโครงการมูลภัณฑ์กันชน (ซื้อสินค้าสะสมไว้ช่วงราคาต่ำ เพื่อนำออกขายช่วงที่ราคาสูง) ก็ซื้อยางอีกประมาณ 1.5 แสนตัน ในราคาประมาณ 80-90 บาท รัฐบาลผิดไหม ไม่ผิด เพราะว่าในกฎหมายระบุชัดให้รักษาเสถียรภาพราคายาง การรักษาเสถียรภาพราคายางไม่ได้บอกว่า ทำให้ราคายางสูงขึ้น แต่ทำให้เกษตรกรไม่ขาดทุน มันคือกฎหมายที่มีอยู่ และรัฐบาลปัจจุบันยังรักษาเสถียรภาพราคายางอยู่ มาประกันรายได้ ก็คือเอาเงินงบประมาณ เอาภาษีอากรมาประกัน
@@ ชาวสวนยางต้องมีรายได้ 3 หมื่นต่อครัวเรือน
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า ถ้าเราได้เป็นรัฐบาล เราจะมีโมเดลพลิกโฉมเกษตรกรชาวสวนยาง เกษตรกรชาวสวนยางทุกครอบครัวจะต้องมีรายได้ 30,000 บาท ตนไม่ได้พูดเลื่อนลอย เราได้มีการศึกษาอย่างถ่องแท้มาพอสมควร ซึ่งในมาเลเซียเขาก็ประกันเกษตรกรชาวสวนยางให้มีรายได้ 4,500 ริงกิต แล้วเราจะทำอย่างไร วันนี้เกษตรกรชาวสวนยางเรามีที่ดินอยู่เฉลี่ยไม่เกิน 9 ไร่ วันนี้เราต้องกล้าเดินไปปฏิรูปที่ดิน เราต้องกล้าทำให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ รัฐธรรมนูญปี 2517 ที่นักศึกษาออกมาเดินขบวนแล้วถูกกราดยิงเสียชีวิต เขาก็เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมามาตราหนึ่ง ต้องการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์และมีที่ทำกิน
ในภาคใต้เรามีที่ดินของรัฐที่ไปให้นายทุนเช่า ให้ส่วนราชการเช่า ผมไปดูสัญญาเช่า 30 ปี 15 บาท แล้ววันนี้ครบสัญญาแล้วยังไม่มาคืน ยังปล่อยให้เช่าอยู่อีก สิ่งแรกเราจะทำให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน วิธีการก็คือ ถ้าสามารถปฏิรูปที่ดินที่มีมากมาย ที่ดินป่าสงวนสามารถให้เช่าได้ทั้งหมดเลย อย่างป่าสงวนที่เสื่อมโทรม เราให้ประชาชนเช่า พรรคเรามีความคิดว่า ประชาชนเสียเปรียบนายทุนอยู่แล้ว วันนี้เช่าไร่ละบาท สัก 30 ปีเหมือนนายทุน นายทุนเช่าไร่ละ 50 สตางค์ แต่เราให้ประชาชนเช่าไร่ละบาท เพื่อให้มีกรรมสทธิ์
@@ เยียวยารายย่อยฤดูมรสุมกรีดยางไม่ได้
เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่จะตามมา เราหนีไม่พ้นในช่วงฤดูที่เรากรีดยางไม่ได้ประมาณ 3 เดือน ควรจะเยียวยาครัวเรือนละประมาณ 15,000 บาท ไม่ใช่เยียวยาสวนใหญ่ๆ นะ เราจะดูที่ต่ำกว่า 15 ไร่ ในเงิน 15,000 ต่อครัวเรือน แบ่งเจ้าของกับคนกรีดยางคนละครึ่ง อย่างน้อย 3 เดือน
เราต้องกล้ามีนโยบายปุ๋ยฟรีให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง การมีปุ๋ยฟรีเราได้ศึกษาแล้วว่า เราสามารถทำได้ และที่สำคัญอย่างยิ่ง ต้องเอา สกย.(สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง) คืนมา เอา กยท.ออกไป เพราะ สกย.คืออุดมการณ์และจิตใจของชาวสวนยาง ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีความคิดว่า ผลักภาระไปให้เกษตรกร คือเก็บค่าเซสส์ 2 บาทต่อกิโลกรัม (ค่าธรรมเนียมผู้ส่งออกยางพารา) มีการส่งออกยาง ซึ่งในอดีตค่าเซสส์ 2 บาทนี้ 85 เปอร์เซ็นต์ไปให้ชาวสวนยาง แต่วันนี้ กยท.ซอยยิบย่อยมากเลย และที่สำคัญไปเขียนในกฎหมาย ถ้าเกษตรกรไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย เวลาโค่นยางแทนที่จะได้ไร่ละ 16,000 บาท ก็ไม่ได้
“ดังนั้นผมคิดว่าเราต้องกล้าพลิกโฉม และพลิกโฉมสำคัญคือในพื้นที่ภาคใต้ เราต้องประกาศให้ชัดว่า เราจะส่งเสริมให้เป็นน้ำยางข้น การเป็นน้ำยางข้น เราต้องมีโรงงานผลิตถุงมือยาง มาเลเซียไม่มีน้ำยางเลย มีนิดเดียว ซื้อยางจากสุราษฎร์ฯ ซื้อยางจากนครฯ แต่ได้เป็นแชมป์ผลิตถุงมือยาง ผมคิดว่าเราต้องแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า ต้องมีโรงงานถุงมือยาง ในภาพรวมของพรรคประชาชาติ สิ่งสำคัญที่สุดที่มนุษย์ต้องทำคือต้องพลิกโฉมโดยการสร้างคน รับรองโมเดลของพรรคประชาชาติสามารถทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีความสุข”
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่ออีกว่า นโยบายของพรรคประชาชาติจะสร้างอนาคตของยางพารา อย่างแรกคือ พลิกโฉมเกษตรกรชาวสวนยาง อย่างน้อยต่อไปนี้จะต้องสามารถล้างหนี้ต่างๆ ให้ได้
ต่อมาเราจะต้องพัฒนาเกษตรให้มุ่งเป้า ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องบูรณาการ แค่เราเปลี่ยนให้ใช้ถนนผลิตจากยางพารา ราคายางก็จะสูงขึ้น อันนี้คือการบูรณาการยางพารา จากนั้นก็ต้องส่งต่อให้เกษตรกรชาวสวนยางพารามีกรรมสิทธิ์และมีที่ดินทำกิน อย่างน้อยถ้าทำสวนยางพารา ควรจะมี 20-25 ไร่ พรรคประชาชาติสามารถทำได้เลยทันที เพราะตนมีความรู้เรื่องการปฏิรูปที่ดิน และท้ายที่สุดมันเป็นการสร้างเสถียรภาพให้คน ก็คือเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่าย และลดต้นทุน ที่สำคัญก็สร้าง “Rubber Start up” เอาคนรุ่นใหม่เข้ามาแล้วก็ทำเป็น “Rubber City” ให้เกิดขึ้น นี่คือเป้าหมายของพรรประชาชาติ วาระยางพาราคือวาระของพรรคประชาชาติ
@@ ปชป.ชู 8 นโยบายพัฒนาสู้ศึกเลือกตั้งชายแดนใต้
วันเดียวกัน นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประชุม 8 นโยบายด้านการเกษตรสู้ศึกเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำสันติภาพสู่สันติสุข โดยมีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ประกอบด้วย จ.นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล และสงขลาบางส่วน เข้าร่วมประชุมรับทราบนโยบาย ที่ห้องประชุมย่อย บ้านเขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา โดยมี นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมหารือด้วย
นายนิพนธ์ กล่าวว่า วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้ออก 3 ยุทธศาสตร์หลัก เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งในครั้งนี้ คือ การสร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ โดยเฉพาะนโยบายที่นำมาใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือ การสร้างเงิน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นหลายนโยบาย โดยเฉพาะเน้นในเรื่องของ “นโยบายประกันรายได้คน” และ “ประกันรายได้ให้กับประเทศ” ซึ่งมุ่งเน้นในเรื่องของเกษตรกรรรม การประกันรายได้เงินส่วนต่างในพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์ม ยังคงนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง
ในเรื่องของการให้เงินส่วนต่าง และนโยบายช่วยเหลือชาวนา 30,000 บาทต่อครัวเรือน แม้แต่ปลูกข้าวกินก็ยังได้ส่วนต่างสำหรับผู้ที่มาลงทะเบียน นโยบายการจัดตั้งธนาคารหมู่บ้าน-ชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท การออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลงภายใน 4 ปี ฟรีนมโรงเรียน 365 วัน การให้เงินทุนสำรองประมงท้องถิ่น 100,000 บาททุกปี ทุกกลุ่มที่ขึ้นทะเบียน การออกเอกสารสิทธิ์ทำกินในที่ดินให้ผู้ที่ทำกินในที่ดินของรัฐ และการปลดล็อกประมงพาณิชย์ ภายใต้ lUU นี่คือสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ทำนโยบายในเรื่องของการสร้างเงิน 8 นโยบาย และอีก 5 ฟรี คือเรียนฟรี อาหารกลางวันฟรี นมโรงเรียนฟรี และหญิงตั้งครรภ์รับทันที 600 บาทต่อเดือน จนถึงคลอดฟรี
@@ หยุดฆ่าฟัน หันเลี้ยงโคเนื้อ สร้างงาน สร้างรายได้
“ในวันนี้เราได้เน้นในเรื่องของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งเราต้องเดินหน้าต่อ พร้อมกับการขยายการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ ซึ่งจังหวัดชายแดนใต้ต้องยุติความขัดแย้ง การสูญเสียชีวิตมันต้องยุติได้แล้ว และเราอยากเห็นจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน”
นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายสร้างเงิน 8 นโยบายที่พรรคได้ประกาศ นับเฉพาะกลุ่มแรกหลังจากที่พรรคประกาศยุทธศาสตร์ สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ ซึ่งงวดแรกที่ได้กล่าวไปแล้วนั่นคือเรื่องของการสร้างเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่ในภาคเกษตรเป็นหลัก และจะมีภาคธุรกิจอื่นตามมาอีก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเศรษฐกิจทันสมัย เรื่องของนวัตกรรม เรื่องของ SME และเรื่องอื่นๆ ที่จะทยอยประกาศตามมา เพื่อสร้างรายได้ในส่วนนั้น
@@ ชูนโยบายสันติภาพสู่สันติสุข
และในเรื่องของการสร้างคน ซึ่งจะเป็นตัวตนของประชาธิปัตย์ รวมถึงเรื่องของสาธารณสุข รวมถึงในเรื่องของ soft power และสุดท้ายในเรื่องของการสร้างชาติ นั่นคือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รวมถึงในเรื่องของการกระจายอำนาจ ซึ่งสุดท้ายนโยบายชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้ขอความเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เราเคยมีนโยบาย “ใต้สันติสุข” แต่วันนี้เราจะไม่เอาเพียงใต้สันติสุข แต่จะเป็นนโยบายใต้ชายแดน "สันติภาพสู่สันติสุข" เพราะการยุติความขัดแย้งนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมีการพูดคุยกัน ซึ่งเราจะไม่มีวันจบในเรื่องของการใช้อาวุธเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้ง แต่จะจบด้วยการพูดคุยกัน เราใช้งบประมาณ กว่า 4.9 แสนล้าน ในเวลา 19 ปี ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้นจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงต้องพูดคุยกัน ทุกฝ่ายเพื่อยุติความขัดแย้ง
ดังนั้นในพื้นที่ชายแดนใต้เราจะชูนโยบาย “สันติภาพสู่สันติสุข” และยังคงยืนยันเหมือนเดิมว่า เราจะทำให้พื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางด้านอาหาร ทั้งเรื่องของประมง การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง รวมถึงการปศุสัตว์ การเลี้ยงโคเนื้อลังกาสุกะ
นอกจากนี้ยังมีนโยบายเรื่องการเกษตร ทำในเรื่องแปลงทุเรียนภาคใต้ ซึ่งจังหวัดยะลาได้มีการนำเสนอในเรื่องการทำแปลงทุเรียน และมีความเป็นไปได้ ส่วนเรื่องอื่นก็ยังมีในเรื่องของการออกโฉนดที่ดินเทือกเขาบูโด ซึ่งมีการต่อสู้ในเรื่องที่ดินนี้มานานแล้ว และขณะนี้เริ่มเป็นรูปธรรมแล้ว และได้ทยอยแจกโฉนดที่ดินให้ประชาชนในพื้นที่มาเป็นระยะๆ