“ดอกไม้ คือ สิ่งมีชีวิตที่สร้างสรรค์ สีสัน ความงามให้แก่โลก อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างสุนทรียภาพของสีคู่ตรงข้ามในธรรมชาติที่ชัดเจนที่สุด”
“สีที่ตัดกัน สีคู่ตรงข้าม (Complementary Colors) สีคู่ปฏิปักษ์ เป็นสีที่มีค่าความเข้มข้นสูงในตัวเอง เมื่ออยู่ชิดกันจะตัดกันอย่างรุนแรงที่สุด การจะกระทำให้สิ่งตรงข้ามอยู่ร่วมกันได้อย่างสวยงามนั้นต้องใช้หัวใจ สติ สมาธิ ความรอบคอบ เพื่อให้ยังคงคุณค่า ความบริสุทธิ์แห่งสีตน ทุกสีอยู่ในจังหวะของตนเฉกเช่นเดียวกับผู้คน เพราะโลกนี้เต็มไปด้วยความแตกต่าง แต่ถ้าเราอยู่กันได้ในจังหวะในที่ของตน เราก็จะอยู่กันได้อย่างสดใส และสวยงามเฉกเช่นเดียวกับดอกไม้”
คือคำกล่าวของ อัญชนา นังคลา ต่วนศิริ ศิลปินจากจังหวัดปัตตานี ซึ่งนำแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ และความแตกต่างของชีวิต มาเป็นผลงานศิลปะในชื่อว่า The Harmony in Conflict สุนทรียภาพในความขัดแย้ง ที่นำเสนอดอกไม้หลากสี ใช้คู่สีตรงข้ามแต่สร้างสุนทรียะอย่างลงตัว
อัญชนา หรือ “อ.วิ” ของนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นชาวนครศรีธรรมราชที่มาใช้ชีวิตทำงานศิลปะและชีวิตครอบครัวที่ปัตตานีตั้งแต่ปี 2549 เธอทำงานศิลปะ สื่อสารความงามของสีสันพรรณไม้บนเฟรมผ้าใบอย่างเต็มพลังตลอดมา
“จริงๆ ชอบเขียนงานดอกไม้มาตั้งแต่เรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ด้วยพื้นฐานที่บ้านเป็นร้านขายดอกไม้ ช่วยแม่จัดดอกไม้ตั้งแต่เล็กๆ ท่องหนังสือดอกไม้ สนใจอยู่สองอย่างคือ ดอกไม้กับทำกับข้าว ถ้าไม่เรียนวาดรูปคงไปเรียนคหกรรม เลือกไปเรียนจิตรกรรมที่ศิลปากร ทั้งปริญญาตรี และปริญญาโท ทำงานแนวที่ชอบคือสีสันของดอกไม้มาตลอด”
“มาอยู่ปัตตานีกลางปี 2549 ตอนนั้นยังเรียนไม่จบปริญญาโท ไปๆ มาๆ มาเพราะเพื่อนชวนมา ตอนนี้เขาลาออกไปแต่งงานแล้ว เราเรียนมาด้วยกันที่ศิลปากร เขามาสอนที่นี่ก่อน เรามาเป็นอาจารย์ บรรจุด้วยวุฒิปริญญาตรีเกียรตินิยม ช่วงนั้นเหตุการณ์ก็เยอะ แต่คิดว่าอยู่ไหนถ้าจะตายก็ตายทั้งนั้น ไม่เครียดกับสถานการณ์รอบตัว ไปจ่ายตลาดกับนักศึกษา เจอเขาปิดถนนเอาคนเจ็บจากการวางระเบิดไปโรงพยาบาล รู้สึกว่าฉันถึงปัตตานีแล้ว”
“รับอิสลามและแต่งงานปี 2551 แฟนไปเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังจากที่เขาจบกลับมา เราไปเรียนต่อที่ขอนแก่นเช่นกัน ไปเรียนเสาร์-อาทิตย์ วันจันทร์กลับมาสอน เหนื่อยมาก”
ช่วงโควิดที่เศรษฐกิจดิ่ง “อ.วิ” กลับขายงานศิลปะฝีแปรงของเธอได้ดีมาก เธอบอกว่า เพราะคนอยู่กับบ้าน แต่งบ้านกันเยอะ
“งานเราแตกต่างจากงานในพื้นที่ เราเน้นความสุข ความสวยงาม ประเด็นการทำงานศิลปะต้องเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึก กระแทก สิ่งที่สร้างความรู้สึกได้ มีทั้งแง่บวกและลบ คนทำงานศิลปะส่วนใหญ่เลือกทำที่เขารู้สึก อย่างเด็กประยุกต์เขาจะเป็นแนวสดใส มีความสุข เด็กทัศนศิลป์ก็จะเป็นแนวเลือกมุม เมื่อมีงานประกวด ต้องมีผลงานที่กระแทกความรู้สึกแรงๆ มีความหมายก็มักจะประสบความสำเร็จ คนสอนจะมีอิทธิพลต่อคนเรียน รู้สึกมีความสุขในการใช้ชีวิตที่นี่ เรามีมุมที่อินในเรื่องของเรา มองไปทุกคนก็มีความสุขอยู่นะ”
“เป็นคนทำงานที่ไม่มีสเก็ตช์ เพราะเหมือนเราหัวเราะไปแล้ว แล้วต้องมาหัวเราะซ้ำ เราไม่ชอบ ไม่ใช่อารมณ์เดิม เป็นงานที่ต้องมีความรู้สึก ไม่ทำซ้ำ แต่ถ้างานที่ต้องมีองค์ประกอบ รายละเอียด ต้องเป๊ะ ก็ต้องมีสเก็ตซ์ หรือบางครั้งลูกค้าอยากให้วาดรูปซ้ำอีก เราบอกว่าทำซ้ำไม่ได้ เพราะไม่ใช่อารมณ์นั้นแล้ว”
“เช่น วาดดอกเฟื่องฟ้าใหม่ได้ แต่ให้เหมือนเดิมไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องมาก แต่มันไม่เหมือน ต่อให้เป็นดอกประเภทเดียวกันก็ไม่เหมือน ที่ผ่านมาก็เป็นงานหนึ่งเดียวที่ไม่มีซ้ำ บางทีลงสีไปหมดแล้ว แต่งานยังไม่ไปไหน มาลงใหม่อีก สีมีทั้งแพงและถูก คุณภาพก็ต่างกัน ตอนเรียนดูอาจารย์ใช้สีแล้วสวย พอมีกำลังซื้อสีก็ต้องจัด สีแพงบีบมานิดหนึ่ง แต่เกลี่ยไปได้เยอะ คุณภาพความฉ่ำของสีอยู่ได้นาน สีถูกจะด็รอปลง ก่อนบีบก็คิด มีความสุข เพราะงานเราไม่มีสเก็ตซ์ มีเขียนงานตามออเดอร์ แต่เราไม่รับเงินหรือมัดจำมาก่อน ไม่อยากให้เขามาเพิ่มหรือลดรายละเอียดงาน งานจะไม่จบ ถ้าชอบหรือพอใจแบบที่เราเขียนก็รับไป”
เมื่อถามถึงมุมมองของผู้หญิงมุสลิมกับการทำงานศิลปะ “อ.วิ” มองว่า ผู้หญิงและผู้ชายมีสิทธิในการนำเสนอและเล่าเรื่องเท่าเทียมกัน บางคนนำเสนอด้วยการพูด การเขียน คนเขียนรูปก็เล่าเรื่องผ่านรูป ไม่ว่าจะทำงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ทุกคนก็มีความรู้สึกต้องการจะเล่า รวมทั้งการนำเสนองานผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
“การทำงานศิลปะต้องเท่าทันโลกยุคใหม่ ลงขายงานในไอจี ยิงแอด อยากลองว่าจะมีคนเห็นเพิ่มมั้ย ปรากฏว่าได้ผล มีคนติดตามหลายพันคน ลูกค้าตัวจริงอยู่ในนั้น เราต้องมีชิ้นงานให้ชม ตามให้ทันในทุกช่องทางสื่อสาร ส่วนฝรั่งจะดูในทวิตเตอร์ ถ่ายรูปไฟล์ธรรมดานี่แหละลงไป เมื่องานเราถูกใจเขาก็โอเค”
ปัจจุบัน “อ.วิ” กำลังเรียนปริญญาเอกในเรื่องศิลปะที่สนใจ ลงพื้นที่ทำวิจัยเรื่องดอกไม้ ทำให้ได้เห็นว่า จริงๆ ในพื้นที่นี้ไม่ได้มีเพียงมุสลิม แต่มีเรื่องราว การเดินทางมาผสมผสานกัน เธอบอกว่าเป็นประเด็นละเอียดอ่อนกับความเชื่อของคนในพื้นที่นี้ เป็นเรื่องจริงที่ปรากฏในพื้นที่ ไม่ใช่มโนขึ้นมาเอง แต่ไม่มีการบันทึกข้อมูลและเก็บเรื่องราวไว้เลย อีกไม่นานก็อาจหายไป เป็นงานวิจัยที่ตอบสนองงานที่ทำมาตั้งแต่ปริญญาตรี ปริญญาโท เรื่องการวาดดอกไม้ที่ไม่ใช่แค่ดอกไม้บูชา
“งานชิ้นเรียนจะต่างไปจากงานที่ทำมา คงต้องมีสเก็ตซ์ตามเรื่องและโจทย์ ดึงทั้งรูปลักษณ์และความรู้สึกมา ด้วยคนที่มีความทุกข์มา เขาหวังมาพึ่งทางจิตใจ เหมือนการบำบัดจิตใจ ไม่ใช่เรื่องไสยศาสตร์ เหมือนการไปหาจิตแพทย์หรือนักบำบัด ไม่ใช่แค่กินยาแล้วหาย มีกำลังใจมีพลังมากขึ้น อยากเก็บข้อมูลให้สมบูรณ์กว่านี้”
อัญชนา... ยังคงมีความสุข สร้างสรรค์ความงามของดอกไม้ผ่านฝีแปรงของเธออย่างสม่ำเสมอ ณ ปัตตานี สีสันและความงามที่สัมผัสได้ แม้เพียงเสี้ยวมุมที่มองเห็น...