ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ใน “วิกฤติยูเครน” เอาไว้อย่างน่าติดตาม
โดยเฉพาะบทสรุปทิ้งทุ่นที่บอกว่า “เมืองหลวงต่างๆ ของโลกไม่อาจเข้านอนได้อย่างสบายใจ”
เพราะเหตุใดอาจารย์ถึงมองแบบนั้น สงครามที่ไม่มีใครอยากให้เกิด กำลังจะเกิดแน่นอนแล้วหรือ?? ทั้งหมดนี้มีคำตอบ...
@@ ยกระดับสถานการณ์!
เช้าวันอังคาร (22 ก.พ.) ตามเวลาในประเทศไทยนั้น ดูจะไม่ใช่วันที่สดใสสำหรับสถานการณ์ในเวทีโลกแต่อย่างใด ข่าวการประกาศผนวกดินแดนในภาคตะวันออกของยูเครนคือ ลูฮันส์ (Luhansk) และโดนิตส์ (Donetsk) เป็นประเด็นสำคัญในเวทีโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหลายฝ่ายกังวลอย่างมากว่า การผนวกดินแดนสองส่วนนี้ คือ การ “ยกระดับ” สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และเป็นการตอกย้ำว่า ความหวังที่จะ “ลดระดับ” ของความตึงเครียดอาจจะยังดูห่างไกลออกไป
การประกาศผนวกดินแดนครั้งนี้ ไม่ใช่สิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย หลายฝ่ายประเมินมาก่อนแล้วว่า เมื่อประธานาธิบดีปูติน ตัดสินใจเคลื่อนกำลังรบขนาดใหญ่ของรัสเซียเข้าประชิดแนวชายแดนของยูเครนแล้ว สุดท้ายแล้ว รัสเซียคงต้องเข้ายึดและผนวกดินแดนบางส่วน
การดำเนินการเช่นนี้น่าจะเป็น “ความต้องการขั้นต่ำ” และผลจากการผนวกดินแดนในส่วนนี้ จะมีส่วนในการตอบสนองต่อกระแสชาตินิยมที่ถูกสร้างมาอย่างต่อเนื่องในการเมืองรัสเซีย อีกทั้งเราอาจจะต้องถือว่า ประธานาธิบดีปูตินเองก็เป็นตัวแทนของกระแสชาตินิยมในปัจจุบัน ซึ่งการผนวกดินแดนเช่นนี้ในทางกลับกันจะมีส่วนในการเสริมสร้างสถานะของปูตินในการเมืองรัสเซียอีกด้วย
หากมองจากมุมของฝ่ายยูเครนและฝ่ายตะวันตกแล้ว การผนวกดินแดนคือ “สัญญาณขั้นต้น” ของการเตรียมเปิดปฎิบัติการทางทหารที่จะทำการรุกต่อ เพราะการผนวกดินแดนที่เกิดขึ้นนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปฎิบัติการทางทหารของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครนภาคตะวันออก ดังนั้นการผนวกดินแดนจะเปิดโอกาสให้รัสเซียมีข้ออ้างที่จะวางกำลังปิดล้อมยูเครนได้มากขึ้น และยังกลายเป็นโอกาสสำคัญให้รัสเซียจัดตั้งฐานทัพในดินแดนดังกล่าวอีกด้วย เนื่องจากการวางกำลังเช่นนี้ อยู่ในพื้นที่ของรัสเซียเองแล้ว แม้จะเคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของยูเครน แต่ก็ถูกผนวกและมีสถานะเป็นดินแดนของรัสเซียอย่างเป็นทางการ
อีกทั้งรัสเซียยังกล่าวอ้างอีกว่า กำลังที่ส่งเข้ามานี้เป็นการเข้ามา “ปฏิบัติการรักษาสันติภาพ” เนื่องจากเกิดสถานการณ์ไม่สงบในพื้นที่บริเวณดังกล่าว โดยรัสเซียได้กล่าวหาตอบโต้ว่า ทางฝ่ายยูเครนเป็น “ตัวปัญหา” ที่มีการนำกำลังติดอาวุธเข้าไปในพื้นที่นี้จนเกิดเป็นความรุนแรง และต้องมีการอพยพคนบางส่วนที่เป็นผู้สูงอายุและเด็กออก
นอกจากนี้ รัสเซียยังกล่าวหาว่ารัฐบาลยูเครนกำลังดำเนินนโยบาย “สุ่มเสี่ยงทางทหาร” ที่ทำให้ปัญหาความขัดแย้งนี้ขยายตัวมากขึ้น และรัสเซียต้องเข้ามาเพื่อรักษาสันติภาพ
ข้ออ้างเช่นนี้ ทำให้ฝ่ายตะวันตกไม่อาจยอมรับได้ อันเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้กองทัพรัสเซียกระชับกำลังเพื่อกระทำต่อยูเครนได้มากขึ้น ซึ่งผู้นำยูเครนได้ตอบโต้ด้วยการออกโทรทัศน์ กล่าวหาถึงการละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน
พร้อมกันนี้ยังได้เรียกร้องขอความช่วยเหลือจากเวทีระหว่างประเทศ จึงได้การมีการนำเอาวิกฤติครั้งนี้ เข้าสู่การประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ (UNSC) ซึ่งคณะมนตรีฯ ได้ใช้เวลาในการถกแถลงราว 90 นาที และเรียกร้องให้มีการใช้มาตรการทางการเมืองและการทูตเพื่อสร้างสันติภาพในวิกฤตินี้ มากกว่าจะปล่อยให้เป็นเรื่องของการใช้มาตรการทางทหารในการแก้ปัญหา
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้นำยูเครนเรียกร้องมาโดยตลอดให้โลกตะวันตกออกมาตรการ “แซงก์ชั่น” เพื่อกดดันทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ในที่สุดสหรัฐและพันธมิตรจึงได้ออกมาตรการแซงก์ชั่นเพื่อตอบโต้รัสเซียแล้วในวันอังคารที่ผ่านมา โดยประธานาธิบดีไบเดน ได้ลงนามในคำสั่งของฝ่ายบริหารในการห้ามการค้าและการลงทุนในรัสเซียและในดินแดนที่ถูกผนวก
การแซงก์ชั่นเช่นนี้อาจไม่ต่างจากวิกฤตจอร์เจียในปี 2008 และวิกฤตไครเมียในปี 2014 ซึ่งในด้านหนึ่งก็มีคำถามอย่างมากว่า การแซงก์ชั่นจะยังคงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการกดดันรัสเซียได้จริงเพียงใด เพราะรัสเซียเองก็ถูกกดดันทางเศรษฐกิจจากโลกตะวันตกมาแล้ว และไม่ใช่เรื่องใหม่ที่รัสเซียไม่เคยเผชิญ และการแซงก์ชั่นนี้น่าจะถูกตอบกลับด้วยการตัดการส่งก๊าซธรรมชาติของรัสเซียให้แก่ยุโรป ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามในอนาคต
การผนวกดินแดนในครั้งนี้ในอีกส่วนหนึ่งสร้างความกังวลให้รัฐอิสระในพื้นที่ดังกล่าวอย่างมาก นายกรัฐมนตรีของลิทัวเนียได้ออกมาประนามการผนวกดังกล่าว เพราะเกรงว่า การขยายอิทธิพลของรัสเซียเพื่อหวนกลับคืนสู่การเป็น “ผู้ควบคุมและครอบครอง” ดินแดนแถบนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในส่วนของรัฐริมชายฝั่งทะเลบอลติกทั้งสาม ซึ่งถือเสมอว่า ตนเองเป็นรัฐเอกราชมาก่อน แต่ต้องตกอยู่ภายใต้การผนวกดินแดนของสหหภาพโซเวียตในยุคก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะเริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1939
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของฝ่ายตะวันตกแล้ว การผนวกดินแดนครั้งนี้อาจถือเป็น “สัญญาณเริ่มต้น” ของการเตรียมการรุกใหญ่ในทางทหาร ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้กำลังสร้างความกังวลอย่างมากในเวทีระหว่างประเทศ จนอาจจะต้องกล่าวด้วยสำนวนการเมืองว่า สถานการณ์ที่กำลังเกิดที่ยูเครนครั้งนี้ ทำให้ “เมืองหลวงต่างๆ ของโลกไม่อาจเข้านอนได้อย่างสบายใจ”
และแน่นอนว่า จะตามมาด้วยความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีท่าทีจะฟื้นได้จริงจากวิกฤติโควิค-19 แปลว่า โลกจากนี้ไปกำลังเผชิญกับทั้งวิกฤติความมั่นคงที่ยูเครน และวิกฤติโควิดพร้อมวิกฤตเศรษฐกิจโลกคู่ขนานกันไป…
แน่นอนว่า ไม่มีทางที่โลกจะนอนหลับได้เลยในยามนี้!