ผ่าน 10 วันเหตุระเบิดป่วนเมืองยะลา 28-30 ม.ค.65 ซึ่งเจ้าหน้าที่นับได้ 16 จุด 21 ลูก ฝ่ายตำรวจทำคดีคืบหน้าไปตามลำดับ
เบาะแสสำคัญคือภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่จับภาพคนร้ายแต่งกายและใช้รถจักรยานยนต์เลียนแบบ “ไรเดอร์ส่งอาหาร” อำพรางตัวนำระเบิดไปตระเวนวางทั่วเมือง
แต่สิ่งที่หลายคนอยากทราบมากกว่าความคืบหน้าคดีก็คือ งานนี้มีอะไรลึกๆ อยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะรัฐบาลไทยกำลังเปิดโต๊ะพูดคุยสันติสุขกับกลุ่มบีอาร์เอ็น จับไม้จับมือกันเบื้องต้นว่า จะร่วมกันลดความรุนแรง แต่กลับมีความรุนแรงเกิดขึ้นจนสะเทือนไปถึงภาพรวมเศรษฐกิจของสามจังหวัด
“ทีมข่าวอิศรา” สัมภาษณ์พิเศษ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อค้นหาความจริงที่หลายฝ่ายใครรู้...
@@ ฝีมือใคร ฝ่ายใด?
ผมเชื่อว่าเป็นกลุ่มเดิมๆ ที่เคยเคลื่อนไหว ตอนนี้เรากำลังพิสูจน์ทราบตัวบุคคล มีการไล่กล้องวงจรปิดไปจนถึงสถานที่ที่เขาใช้เป็นจุดพัก เปลี่ยนชุด เปลี่ยนเสื้อผ้า หรือเก็บซ่อนวัตถุระเบิด ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ
@@ ช่วงต้นปี (11-12 ม.ค.) เพิ่งเปิดโต๊ะพุดคุยสันติสุขกับบีอาร์เอ็น ทำไมมาเกิดเหตุแบบนี้ได้?
เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่า ทำไปทำไม ทำเพื่ออะไร
@@ เป้าหมายหลักคิดว่าเป็นเรื่องไหน?
วัตถุระเบิดที่ใช้ ทำให้เกิดเสียงดัง ไม่มีสะเก็ดระเบิด จึงไม่ได้มุ่งหวังทำลายชีวิตคน เป้าหมายจึงน่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ หรือประกาศตัวตนว่า ยังมีศักยภาพก่อเหตุได้ และอีกส่วนหนึ่งที่คิดว่า เชื่อมโยงแน่ๆ คือการเบี่ยงเบนความสนใจของเจ้าหน้าที่จากเหตุปะทะที่บาโงระนะ (อ.ระแงะ จ.นราธิวาส)
ผมไม่อยากพูดเชิงเข้าข้างเจ้าหน้าที่ว่า มาตรการเข้มของเราทำให้เขาเคลื่อนย้ายระเบิดขนาดใหญ่เข้ามาในเมืองไม่ได้ จึงต้องใช้ระเบิดลูกเล็ก และทำให้เกิดเสียงดัง แต่ถึงจะเป็นระเบิดลูกเล็กแต่ก็ส่งผลพอสมควร
@@ ผลกระทบที่หนักที่สุดคืออะไร?
คือเรื่องขวัญกำลังใจของพี่น้องประชาชน และความเชื่อมั่นในการทำมาหากิน เรามีปัญหาโควิดมานาน วันนี้ทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย เปิดเมือง เปิดธุรกิจ เปิดการท่องเที่ยว แต่พอมีเหตุแบบนี้ ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก
ที่สำคัญอาชีพไรเดอร์ อาชีพขนส่งอาหาร ส่งสินค้าต่างๆ เป็นทางออกของพี่น้องประชาชนในยามที่เศรษฐกิจไม่ดี ที่ผ่านมาเราก็อะลุ้มอล่วยผ่อนผันในเรื่องการตรวจตรา การตั้งด่าน แต่พอมาเกิดแบบนี้ ทำให้ผู้ประกอบอาชีพนี้ถูกเพ่งเล็ง ก่อผลกระทบมากขึ้นไปอีก
@@ แนวทางแก้ไขปัญหาจะเป็นอย่างไร?
ก็ต้องมีการจัดระเบียบมากขึ้นว่า ใครเป็นใคร ใครที่ประกอบอาชีพนี้บ้าง ที่ผ่านมามีบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการตั้งด่าน คัดค้านการตั้งด่าน เรียกร้องให้ยกเลิกด่าน ผมขอถามว่า เกิดเหตุแบบนี้ จะยกเลิกด่านได้อย่างไร กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว จัดทำรายงาน เรารู้หมดว่าเป็นใคร มีเจตนาอะไร
@@ มีข่าวว่ามีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือบนโต๊ะพูดคุยกับบีอาร์เอ็นด้วย?
ไม่มีครับ การพูดคุยเราคุยกันในสารัตถะ 3 ด้าน ไปย้อนดูได้ ไม่มีเรื่องการตั้งด่าน แต่ประเด็นเรื่องการตั้งด่าน ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่เราไม่เคยสนใจความรู้สึกของพี่น้องประชาชน เราก็ไปสำรวจตลอด
ผลสำรวจก็พบว่าประชาชนอุ่นใจที่มีด่าน แต่ก็อาจจะมีบางกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน ได้รับผลกระทบบ้าง เราก็พยายามแก้ไข ผ่อนคลาย ผ่อนปรน ด่านที่ไม่จำเป็นที่ไม่ใช่ “ด่านความมั่นคง” เราก็ลดไปเยอะแล้ว ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่เราไม่เคยสนใจประชาชนตามที่มีการกล่าวหา แต่หากจะเลิกหมดมันเป็นไปไม่ได้ ยิ่งสถานการณ์เป็นอย่างที่เห็นนี้ด้วย
@@ ยังยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นน้ำมือกลุ่มก่อความไม่สงบ ไม่ใช่เรื่องอื่น เช่น ความขัดแย้งเรื่องเศรษฐกิจ?
เราให้น้ำหนักเรื่องก่อความไม่สงบมากที่สุด จากกลุ่มคนเดิมๆ ส่วนเรื่องอื่นปัญหาอื่น เราลงไปดูแล้ว ก็ไม่พบอะไรผิดปกติ