คำสัมภาษณ์ของ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย จากพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ในฐานะ "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" นับว่าน่าสนใจยิ่ง
เพราะเป็นการให้สัมภาษณ์ท่ามกลางกระแสคัดค้านโครงการพัฒนาขนาดยักษ์ หรือ เมกะโปรเจค ทั้งท่าเรือ และโรงไฟฟ้า ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลจะนะ ซึ่งถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งหลังตำรวจเข้าเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมซึ่งเป็นชาวบ้าน อ.จะนะ ออกจากหน้าทำเนียบรัฐบาล ช่วงกลางคืนของวันจันทร์ที่ 6 ธ.ค.64
ทั้งๆ ที่ชาวบ้านมีอยู่แค่ 37 คน และเป็นการรวมตัวกันอย่างสงบ แต่ฝั่งเจ้าหน้าที่และรัฐบาลอ้างว่ากำลังจะมีกลุ่มอื่นไปผสมโรง "มั่วสุม" จึงต้องเคลียร์พื้นที่ก่อน
โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ถูกพูดถึงมานาน และมาเร่งผลักดันจนมีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในรัฐบาล คสช. ต่อเนื่องรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 มีการพยายามทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่ แต่ก็มีปัญหา ชาวบ้านจึงต้องยกขบวนกันมาหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว กระทั่งได้ข้อตกลงที่ถือว่าชาวบ้านกลุ่มคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมพึงพอใจ เพราะจะมีการทบทวนโครงการใหม่ เหมือนกับ "นับหนึ่งใหม่"
และที่สำคัญคือ มีการรับปากว่าจะต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA ของจังหวัดสงขลาทั้งจังหวัด ไม่ใช่แค่ประเมินผลกระทบเฉพาะพื้นที่โดยรอบโครงการ โดยมีหลักการประเมิน คือ
- ประเมินบนฐานทรัพยากรของพื้นฐานศักยภาพของระบบนิเวศ
- การประเมินจะต้องยึดถือหลักการว่าจะพัฒนาพื้นที่สงขลาบนพื้นฐานศักยภาพของทรัพยากรอย่างไร
- การประเมินยุทธศาสตร์เพื่อออกแบบการพัฒนาต้องคำนึงถึงการเติบโตของคนท้องถิ่นเป็นหลัก ส่วนกลุ่มทุนภายนอกเป็นปัจจัยเสริมเพื่อเข้ามาต่อยอดศักยภาพของพื้นที่
- การประเมินยุทธศาสตร์ให้ยึดหลักการกระจายรายได้ของประชาชน ความเป็นธรรมของคน และระบบนิเวศมีการเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการสร้างขุดข้อมูลทางวิชาการที่มีคุณภาพประกอบกับตัดสินใจทางเลือกการพัฒนาจังหวัดสงขลาที่เหมาะสม
ทุกอย่างเหมือนจะจบลงด้วยดี แต่ผ่านมา 1 ปี กลับไม่มีความคืบหน้าในมุมมองของชาวบ้าน จึงกลายเป็นแรงขับดันให้ "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" เดินทางมารวมตัวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดย น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ ลูกสาวแห่งท้องทะเลจะนะ เดินทางล่วงหน้ามาปักหลักอยู่ก่อนแล้ว แต่แทบไม่มีข่าวทางสื่อแขนงต่างๆ กระทั่งมีปฏิบัติการเคลื่อนย้ายและจับกุมผู้ชุมนุม เรื่องนี้จึงกลายเป็นขาวใหญ่ให้สังคมหันมาสนใจ และตั้งคำถามถึงโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
แต่บุคคลที่ยืนหนึ่งในการแสดงท่าทีสนับสนุน ก็คือ นายนิพนธ์ บุญญามณี ซึ่งเคยเป็นอดีต ส.ส. และอดีตนายก อบจ.สงขลา เขาเคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ในประเด็นนี้ด้วย
รมช.มหาดไทย เจ้าของรหัส "มท.2" ซึ่งเป็นคนจะนะโดยกำเนิด คิดอย่างไรกับกระแสคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรม และเหตุใดเขาจึงเดินหน้าสนับสนุนโครงการพัฒนา ท่ามกลางกระแสคัดค้านของ "เครือขายจะนะรักษ์ถิ่น" เอ็นจีโอ และองค์กรภาคประชาสังคม ตลอดจนกลุ่มการเมือง และพรรคการเมืองบางพรรค
ที่สำคัญไปฟังคำตอบของเขากับข้อกล่าวหา...นายหน้ารวบรวมที่ดินขายเอกชน
@@ โครงการนี้คืบหน้าถึงไหนแล้ว?
โครงการนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กฎหมายระบุว่าจะต้องมีการทำอีไอเอ (จัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม) เสียก่อน ต้องว่ากันไปตามขั้นตอน ผมไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย
แต่โครงการนี้มีอยู่ 2 มุม คือ ถ้ากังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็ต้องไปดูเรื่องสิ่งแวดล้อมและสร้างหลักประกันให้เกิดขึ้น แต่หากบอกว่าพื้นที่นี้ทำอะไรไม่ได้เลย ก็จะต้องมาพิจารณาเหมือนกับการลงทุนทั่วไป ถ้าเอกชนสนใจที่จะลงทุน ก็ต้องไปพิจารณาว่าเขาพร้อมทำตามกฎหมายหรือไม่ หากกฎหมายให้ทำอีเอไอ หรือให้ทำอีเอชไอเอ (รายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน) ก็ต้องทำให้ครบถ้วน
ผมในฐานะคนพื้นถิ่น ต้องปล่อยให้เป็นกระบวนการของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดีกว่า ปล่อยไปตามขั้นตอน ถึงแม้ว่าผมจะเป็นคนในพื้นที่นี้ก็ตาม ขอให้ไปฟังคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ดูแล้วกัน
@@ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีชาวบ้านขึ้นมาคัดค้านถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล?
ต้องขอให้ไปพิจารณาดูด้วยว่าโครงการจะต้องทำตามขั้นตอนกฎหมายอย่างไร เพราะกฎหมายกำหนดไว้แล้วว่ากรณีไหนต้องทำอีไอเอ กรณีไหนต้องทำอีเอชไอเอ ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายบังคับใช้ ความจริงเรื่องนี้มีการพูดคุยกันมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ประมาณปี 59 ก่อนที่รัฐบาลนี้จะมาเสียอีก
@@ กลุ่มผู้คัดค้านโครงการกล่าวหาว่าท่านเองเป็นผู้รวบรวมโฉนดให้กับนายทุน?
เรื่องที่ดินนั้นหากเอกชนเขาสนใจก็มีสิทธิ์ที่จะดำเนินการเหมือนกับเรื่องทั่วๆ ไป แต่เมื่อรวบรวมที่ดินแล้ว ก็ต้องทำตามขั้นตอนกฎหมายอยู่ดี
@@ ตัวท่านเองมีส่วนเข้าไปรวบรวมที่ดินตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่?
หลายคนที่ไปรวบรวมก็เป็นสิทธิ์ของเขา เพราะการรวบรวมที่ดินไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าการที่จะทำโรงงานแล้วไม่ทำตามขั้นตอนกฎหมาย นั่นถือเป็นประเด็น ส่วนที่กล่าวหาผมว่าเป็นคนรวบรวมที่ดินนั้น หากเขาถามผมว่าเห็นด้วยกับโครงการนี้หรือไม่ ผมเห็นด้วยที่จะเข้าไปทำตรงนั้น เนื่องจากที่ดิน อ.จะนะ เป็นที่ดินที่ปลูกอะไรก็ลำบาก เป็นพื้นทราย
@@ แสดงว่าท่านเห็นด้วยกับโครงการนี้ จึงรวบรวมที่ดินให้กับเอกชน?
ก็ใช่ ในเบื้องต้นเขาถามผมว่าทำได้หรือไม่ ผมก็บอกว่าทำได้ แต่การจะอนุญาตหรือไม่ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ตอนนั้นผมยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ตอนนั้นอยู่ในตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่รัฐมนตรี ซึ่งโครงการนี้เริ่มคิดมาตั้งแต่ปี 59
@@ เหตุผลที่ไปรวบรวมที่ดิน เพราะต้องการเห็น อ.จะนะ พัฒนาไปอย่างไร?
ผมคิดว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์กับพื้นที่ อ.จะนะ จะเกิดการจ้างงานขึ้น เราต้องยอมรับว่าพื้นที่ อ.จะนะเป็นพื้นที่ความมั่นคง เป็นพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่ระบุว่าใครจะไปลงทุนแล้วจะได้สิทธิพิเศษ (เป็นพื้นที่รอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาความไม่สงบ) เพราะต้องการหาคนไปลงทุนให้มาก เนื่องจากมีระเบิดและมีกิจกรรมที่ไม่ปลอดภัยอยู่ ดังนั้นการส่งเสริมให้คนไปลงทุนโดยการให้สิทธิพิเศษ เอกชนก็อยากไปลงทุน ชาวบ้านจะได้มีงานทำ โครงสร้างนั้นผมเห็นด้วย
และที่เห็นได้ชัดคือ จังหวัดชายแดนภาคใต้เราแก้ปัญหาได้แล้ว ทั้งการศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน ความไม่ปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ดีกว่าเมื่อก่อนมาก ขณะนี้เหลือปัญหาเดียวคือความยากจนของประชาชน ฉะนั้น การทำให้คนในพื้นที่มีงานทำ ผมถือว่าเป็นการแก้ปัญหาหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้ศึกษากันมานานกว่า 20 ปี
@@ จะทำความเข้าใจกับผู้คัดค้านอย่างไร?
ต้องพูดคุยกัน ในพื้นที่เขาทำกันอยู่ ผมเป็นคน อ.จะนะ รู้ว่าในพื้นที่มีการคุยกันอยู่ แต่จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่พูดอย่างไรเขาก็ไม่เข้าใจ แล้วจะทำอย่างไร
เรื่องนี้นายกฯพูดมาหลายรอบแล้วว่าสนับสนุนให้มีการเดินหน้า แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมายเท่านั้น
@@ แสดงว่านายกฯให้เดินหน้าต่อใช่หรือไม่?
นายกฯไม่ได้สั่งอะไรนอกเหนือจากนี้ กระบวนการยังดำเนินไปตามกฎหมาย ในตัวโครงการเขาบอกไว้หมดว่ามีประโยชน์อย่างไร เรื่องราวอธิบายได้ แต่ถ้าไม่พยายามรับฟังมันก็ยาก
การที่จะมีคนเข้าไปสร้างงานให้เกิดขึ้น นี่คือประเด็นใหญ่ที่ชาวบ้านต้องการ แต่ยอมรับว่ามีส่วนหนึ่งที่ต้องการทำประมงต่อ อันนี้ก็เคารพ เพราะผมเองก็มาจากครอบครัวชาวประมง แต่ไม่ใช่ว่าลูกหลานจบมาแล้วทุกคนต้องไปทำประมง อาจมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าก็ได้ เรื่องเห็นด้วยไม่เฉพาะผม แต่หลายคนก็เห็นด้วย สามารถไปถามดูได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่ เพียงแต่เขาไม่อยากมาพูดให้ขัดแย้งกัน ถ้าไปสำรวจสอบถามเชื่อว่า 80-90% เห็นด้วย คนที่มาคัดค้านนี้เป็นส่วนน้อย ลองไปติดตามดูในพื้นที่ได้
ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่ส่งลูกให้เรียนสูงๆ เขาอยากให้ลูกมีงานทำ ในพื้นที่นี้อย่าว่าแต่ทำนิคมอุตสาหกรรมเลย ปลูกมะม่วงหิมพานต์ยังปลูกไม่ขึ้น ไปดูพื้นที่จริงได้ ปลูกปาล์มก็ไม่ต้องไปปลูก เพราะมันเป็นทราย ปลูกยางพาราก็ไม่รู้จะมีน้ำยางหรือเปล่า
@@ การไปรวบรวมโฉนดที่ดิน มีเหตุผลอย่างไร?
เอกชนเขาสนใจโครงการนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ปี 36-37 และแนวทางการศึกษาของสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ที่จะทำท่าเรือน้ำลึก เหมาะสมด้วยกายภาพทางภูมิศาสตร์ ส่วนการไปรวบรวมโฉนดที่ดินมันไม่ผิดกฎหมาย ใครจะรวบรวมก็ได้ ผมรู้ว่าใครไปรวบรวมอยู่ ซึ่งเอกชนถ้าใครรวบรวมมาส่งเขาก็เอา
ส่วนที่มีข่าวว่าผมไปกดดันนั้น มองว่าเป็นเงื่อนไขที่เชื่อมโยงให้เป็นประเด็นการเมือง ทั้งที่มันไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของความเหมาะสมที่จะมีโครงการหรือไม่ เรารู้กันอยู่ว่าโครงการพัฒนาต่างๆ ก็มีทั้งได้และลบ แต่จะทำอย่างไรให้ลบน้อยที่สุด นี่คือหลักการพัฒนา
@@ มีการกล่าวหาท่านว่าเป็นนายหน้าค้าที่ดิน?
เขาก็ทำกันหมด ไม่ได้เกี่ยวกับโครงการผิดหรือถูก ส่วนนายหน้าค้าที่ดินนั้นมีกฎหมายรองรับ มีเรื่องค่านายหน้า แต่ผมไม่ได้เป็นนายหน้า ไม่ได้มีอาชีพนายหน้า แต่ถ้าใครจะซื้อ ผมก็ติดต่อให้เขาไปรู้จักกัน คุยกันเอง และผมไม่ปฏิเสธว่ามีคนรู้จักมาพูดคุย เพราะรู้จักคนเยอะ เพราะที่ อ.จะนะ คือบ้านผม ผมเกิดที่ ต.นาทับ (ตำบลหนึ่งใน อ.จะนะ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ตำบลที่เป็นพื้นที่ก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือ คือ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม) เรียนหนังสือและโตที่นั่น แต่ไม่ได้ไปสั่งการให้ไปดำเนินการ ผมรู้จักคนที่นั่น รู้จักที่ดิน เพราะที่ดินที่นั่นใช้ปลูกแตงโมเป็นส่วนใหญ่ มันปลูกอย่างอื่นไม่ได้
--------------------
ขอบคุณ : ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวี