ยังคงเป็นกระแสที่วิจารณ์กันไม่จบ สำหรับปม “หมายจับอลเวง” คดี “เสี่ยโจ้ น้ำมันเถื่อน”
เรื่องนี้กลายเป็นตลกร้าย เพราะตอนจับ หาหมายไม่เจอ จนต้องปล่อยตัว พอหาหมายเจอ ก็ตามตัว “เสี่ยโจ้” ไม่เจอแล้ว
เมื่อมีการตรวจสอบย้อนหลังว่าใครซุกหมาย ปรากฏว่า ผลสอบเบื้องต้น พบตำรวจเกี่ยวข้องแค่ 1 นาย ไม่ได้มีหน้าที่ไปรับหมายจับ แต่ผ่านไปรับหมายมา รับมาแล้วไม่ได้เก็บไว้ แต่ส่งให้ใครจำไม่ได้ สุดท้ายหมายหาย จึงต้องโดนสอบสวน
แต่ล่าสุดเจ้าตัวออกมาบอกว่า ไปรับหมายจับมาจริง แต่ไม่ได้ซุกหมาย ได้หมายมาก็ส่งให้ชุดปฏิบัติการไล่ล่าจับกุม “เสี่ยโจ้” ทันที เพราะ “เสี่ยโจ้” เพิ่งหนี ชุดไล่ล่าก็รอกันอยู่ ทุกอย่างเร่งรีบเลยจำไม่ได้ว่าใครรับหมายไปบ้าง
ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก “เสี่ยโจ้” คดีถึงที่สุด ศาลออกหมายจับใหม่ทับหมายจับเดิม หมายจับนี้ก็ยังอยู่ที่กองสืบฯปัตตานี วางอยู่จนทุกวันนี้ ไม่ได้หายไปไหน ตนเองหาก็ยังเจอ ทำไมกองปราบ (ชุดจับกุม) จึงหาไม่เจอ หรือใครนั่งทับหมายเอาไว้
นี่เป็นเรื่องราวที่สรุปมาให้อย่างย่อว่า เรื่องหมายจับเสี่ยโจ้ เป็น “หมายจับอลเวง” อย่างแท้จริง
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองจเรตำรวจคนดัง และเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หรือ สปยธ. บอกถึงปัญหา “หมายจับอลเวง” ว่า เป็นเรื่องตลกมาก โดยเฉพาะประเด็นที่ พ.ต.ท.ชัชวาล อภิรมย์ชวาล รองผู้กำกับการ สภ.สีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ที่ถูกสอบปมซุกหมายจับ สมัยไปช่วยราชการที่ปัตตานี ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า ส่งหมายจับให้ตำรวจชุดปฏิบัติการไล่ล่า “เสี่ยโจ้” แล้ว แต่ส่งให้ใคร จำไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน กำลังจัดชุดออกติดตามตัว “เสี่ยโจ้” กันอยู่ แถมยังบอกว่าจริงๆ แล้วหมายจับไม่ได้หาย ยังอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่กองปราบหาไม่เจอเอง
พ.ต.อ.วิรุตม์ อธิบายว่า โดยปกติศาลจะส่งหมายจับถึงผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เมื่อได้รับหมายแล้วก็ต้องส่งเข้าระบบธุรการ จากนั้นผู้การก็ต้องสั่งให้ผู้กำกับการสืบสวน หรือ “ผู้กำกับฯสืบ” เร่งสืบจับตามหมาย แล้วรายงานผลให้ทราบทุกระยะ
เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องแปลก เพราะไม่มีการพูดถึงผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หรือผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคเลย หรือว่า 2 คนนี้ไม่รู้เรื่องอะไรจริงๆ หรือตัดตอนแค่พันตำรวจโท ทั้งๆ ที่ผู้บังคับการ และผู้บัญชาการ มีหน้าที่ต้องติดตาม ควบคุมให้หน่วยตำรวจในสังกัดเร่งสืบจับผู้ต้องหา รวมทั้งส่งสำเนาหมายจับให้กองทะเบียนประวัติอาชญากร ออก “ประกาศสืบจับ” แจ้งตำรวจทุกหน่วยทั่วประเทศ โดยเฉพาะสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อตรวจสอบและระงับการเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเวลามีหมายจับผู้ตองหาออกมา
ถ้าผู้บังคับการและผู้บัญชาการไม่ได้รับรู้หรือสั่งการในเรื่องเหล่านี้ ก็จะทำให้เกิดคำถามว่า แล้วอย่างนี้จะมีผู้การ กับผู้บัญชาการเอาไว้ทำอะไร ซึ่งตำรวจระดับนี้ เป็นชั้นนายพล มีอำนาจวาสนาล้นอีกด้วย
อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนว่า “กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค” แทบไม่มีประโยชน์ใดๆ ต่อตำรวจผู้น้อยและประชาชนเลย คำถามคือสมควรต้องปรับโครงสร้างตำรวจครั้งใหญ่แล้วหรือยัง?
เป็นคำถามจากเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม!