มีความคืบหน้าเกี่ยวกับ “หมายจับเสี่ยโจ้” ซึ่งกลายเป็น “หมายจับอลเวง” ไปแล้ว
เพราะนอกจากจะไม่ปรากฏหมายจับในสารบบ ทั้งๆ ที่มีหมายจับในคดีจำคุกถึงที่สุดแล้ว ต้องรับโทษ 1 ปี 9 เดือน ทำให้สุดท้ายตำรวจสอบสวนกลางต้องปล่อยตัว “เสี่ยโจ้” ไป ทั้งๆ ที่จับกุมได้อย่างยากลำบาก
ล่าสุดได้มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เพื่อเตรียมสอบวินัย "รองผู้กำกับการ สภ.สีคิ้ว" จังหวัดนครราชสีมา ยศ “พันตำรวจโท” ซึ่งเป็นคนที่รับหมายจับมาจากศาล สมัยไปปฏิบัติหน้าที่ที่ปัตตานี แต่ไม่นำหมายจับเข้าสารบบ
ทีมข่าวได้คุยกับ “พันตำรวจโท” คนนี้ เจ้าตัวชี้แจงเป็นฉากๆ ว่า หมายจับไม่ได้หายไปไหน และปัจจุบันก็ยังอยู่ที่ปัตตานี ยังงงว่าทำไมตำรวจสอบสวนกลางที่จับ “เสี่ยโจ้” หาหมายจับไม่เจอ!!!
กรณี “ซุกหมายจับเสี่ยโจ้” มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมา (ยังอยู่ในขึ้นสืบสวนข้อเท็จจริงเท่านั้น) โดยคณะกรรมการชุดนี้มี พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ จเรตำรวจ (สบ 8) เป็นประธาน และมีกรรมการอื่นอีกรวม 9 คน
@@ ย้อนอ่านพฤติการณ์ “หมายล่องหน” ในคำสั่งตั้งชุดสอบ
ก่อนที่จะไปฟังคำชี้แจงจาก “พันตำรวจโท” ที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ทีมข่าวขอพาไปย้อนดูรายละเอียดในคำสั่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงฯ ที่ได้บรรยายผลการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ตำรวจภูธรภาค 9 เสนอขึ้นมา โดยสรุปเป็นประเด็นๆ ได้แบบนี้
ประเด็นแรก ศาลจังหวัดปัตตานีได้ออกหมายจับที่ 227/2557 ลงวันที่ 9 ต.ค.2557 ให้จับตัว "เสี่ยโจ้" ในคดีใช้ดวงตราประทับไม้ปลอมที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว แต่ “เสี่ยโจ้” หลบหนี และส่งหมายจับให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานีแล้ว
ประเด็นที่ 2 พ.ต.ท.ชัชวาล อภิรมย์ชวาล รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สภ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา (ตำแหน่งปัจจุบัน) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สภ.สีคิ้ว ได้ไปรักษาราชการแทนพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สภ.เมืองปัตตานี เป็นผู้รับหนังสือของศาลจังหวัดปัตตานี พร้อมสำเนาหมายจับจากเจ้าหน้าที่ศาล โดยได้ลงลายมือชื่อและวันที่รับสำเนาหมายจับไว้วันที่ 9 ต.ค.2557
ประเด็นที่ 3 พ.ต.ท.ชัชวาล ให้การว่า เมื่อได้รับสำเนาหมายจับแล้ว ไม่ได้นำเก็บไว้ที่ตัวเอง แต่จำไม่ได้ว่าส่งสำเนาหมายจับให้กับผู้ใด
ประเด็นที่ 4 จากการตรวจสอบสารบบหมายจับปี 2557 ทั้งของ สภ.เมืองปัตตานี และกองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ไม่มีหมายจับที่ศาลออกเอง ในรายของ "เสี่ยโจ้"
และประเด็นที่ 5 เมื่อตรวจสอบสมุดรับหนังสือแล้ว ไม่พบว่า มีการลงรับหนังสือจากศาลจังหวัดปัตตานี จึงสงสัยว่า พ.ต.ท.ชัชวาล กระทำผิดวินัย จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง
นี่คือรายละเอียดทั้งหมดที่ระบุอยู่ในคำสั่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง
@@ พ.ต.ท.ชัชวาล แจงไทม์ไลน์ยิบ ส่งหมายจับให้ชุดไล่ล่า
ทีนี้เรามาฟังคำชี้แจงของ พ.ต.ท.ชัชวาล กันบ้าง โดยทีมข่าวได้โทรศัพท์ไปขอสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ชัชวาล ปรากฏว่า เจ้าตัวแจกแจงข้อมูลอย่างละเอียด ดังนี้
ประเด็นแรก ในวันที่ 9 ต.ค.2557 ตนเดินทางไปสะสางงานบนโรงพัก (สภ.เมืองปัตตานี) เป็นจังหวะเดียวกับที่ “เสี่ยโจ้” หลบหนีออกจากศาลจังหวัดปัตตานี ผู้บังคับบัญชา จึงโทรสั่งการเร่งด่วนให้ไปสอบปากคำผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องที่ถูกคุมขังในเรือนจำของศาล พร้อมให้รับหมายจับกลับมายังโรงพักก่อนส่งมอบให้ชุดปฏิบัติการไล่ล่า
“ผมไม่เคยร่วมทำสำนวนคดี ‘เสี่ยโจ้’ แต่เมื่อรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาก็ต้องไปดำเนินการ แล้วกลับมาพร้อมหมายจับที่ชุดปฏิบัติการไล่ล่าเขารอกันอยู่ ฉะนั้นหมายจับฉบับนี้ จึงถูกนำไปใช้เพื่อการไล่ล่าผู้ต้องหาในทันที” พ.ต.ท.ชัชวาล กล่าว
ประเด็นที่ 2 วันที่ 10 ต.ค.2557 เจ้าหน้าที่จากศาลเดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์ จากเหตุการณ์หลบหนีของ “เสี่ยโจ้” จากนั้นเมื่อเป็นคดีขึ้นมา ศาลจังหวัดปัตตานีก็ออกหมายจับอีกหมายหนึ่ง สำหรับใช้ติดตามจับกุม “เสี่ยโจ้” จากเหตุหลบหนีศาล (คดีหลบหนีจากที่คุมขังของศาล ภายหลังอัยการสั่งไม่ฟ้อง)
ประเด็นที่ 3 อีก 7 เดือนต่อมา คือเดือน พ.ค.2558 ในความผิดเดิม เกี่ยวกับการปลอมดวงตราประทับไม้ ซึ่ง “เสี่ยโจ้” ที่ยังหลบหนีคดีได้ให้ทนายยื่นอุทธรณ์ไว้ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จึงเป็นที่มาของการออกหมายจับเพื่อติดตามจับกุม “เสี่ยโจ้” ตามคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ในครั้งนั้น
@@ ศาลออกหมายใหม่ทับหมายเดิม ไม่หาย-ใครนั่งทับ?
พ.ต.ท.ชัชวาล อธิบายว่า หมายจับฉบับนี้ มีความหมายหลายอย่าง
1. เป็นการออกหมายทับหรือยกเลิกหมายจับเดิมที่เคยอนุมัติไว้เมื่อปี 2557 (9 ต.ค.2557)
2. เอกสารถูกส่งไปยังตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานีและถูกเซ็นรับ และเก็บรักษาไว้ที่กองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี จนถึงทุกวันนี้
3.เราทราบกันอยู่แล้วว่า “เสี่ยโจ้” ก่อคดีไว้ไม่น้อย มีคดีความหลายหมายจับ จึงไม่แปลกที่ตำรวจกองปราบ (สอบสวนกลาง) จะสามารถจับกุม “เสี่ยโจ้” ได้ในอีก 7 ปีต่อมาโดยใช้หมายจับอื่น แต่เมื่อกองปราบมีความจำเป็นต้องใช้หมายจับจากการกระทำความผิดปลอมดวงตราประทับไม้ ตนไม่ทราบว่า เหตุใดจึงมองไม่เห็นหมายจับนี้ หรือใครนั่งทับหมายจับฉบับนี้ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเก็บไว้ที่กองสืบฯ ปัตตานี
@@ ติงสื่อพาดหัวเกินไป ยังไม่ใช่คนผิด
พ.ต.ท.ชัชวาล บอกอีกว่า ได้ให้ความร่วมมือกับคณะการสอบสวนข้อเท็จจริง และได้ชี้แจงไปแล้ว ทั้งจากตำรวจภูธรภาค 9 และกองปราบ ทั้งการให้ถ้อยคำด้วยวาจา มอบเอกสารต่างๆ ที่สามารถอธิบายทุกเหตุการณ์ได้อย่างมีลำดับ และสอดคล้องกัน
“เรื่องนี้ผมจึงไม่ได้หนักใจอะไร และพร้อมชี้แจง แต่ขอวอนสื่อมวลชนในการพาดหัวที่สร้างความเสื่อมเสีย เช่น ที่ผ่านมายังเป็นการรายงานข้อเท็จจริง และการตั้งกรรมการสอบสวนก็ยังเป็นเพียงการรวบรวมข้อมูล แต่หลายสื่อชี้ว่า ผมเป็นผู้ที่ทำให้หมายจับล่องหนบ้าง เป็นตัวการทำให้ผู้ต้องหาสามารถหลบหนีคดีบ้าง อีกทั้งความหมายของบางคำ กลับไปตีความบิดเบือน เช่น ที่บอกว่า ผมจำไม่ได้ว่า หมายจับที่ได้รับส่งให้ใคร”
“ประเด็นนี้อยากให้ทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ในวันนั้นว่า ผู้ต้องหาเพิ่งหลบหนี ตำรวจในโรงพักก็พร้อมเตรียมไล่ล่า แต่เขายังต้องรอหมายจับจากผม เมื่อผมนำหมายจับมาให้แล้ว ก็ขอให้มั่นใจว่า หมายจับนั้นถูกนำไปใช้เพื่อการไล่ล่าในทันที ส่วนที่บอกว่า จำไม่ได้ ก็เพราะจังหวะแบบนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปให้ทุกคนมาเซ็นรับเอกสาร ผมจึงหมายความว่าจำไม่ได้ว่าใครได้รับหมายจับไปบ้าง”
พ.ต.ท.ชัชวาล บอกด้วยว่า สำหรับหมายจับ ปี 2558 ตนไม่ทราบว่าเหตุใดจึงไม่มีใครพบเห็น โดยเฉพาะตำรวจกองปราบที่ต้องการนำไปอายัดตัวผู้ต้องหา ทั้งๆ ที่ตั้งแต่เกิดเป็นประเด็นขึ้นมา ตนก็พยายามรวบรวมเอกสารไว้ชี้แจง ก็ยังพบว่า หมายจับยังวางอยู่ที่กองสืบฯ ปัตตานี (กองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี) จนทุกวันนี้
@@ สรุปคำชี้แจง ไร้คนผิด?
สรุปคำชี้แจงของ พ.ต.ท.ชัชวาล ก็คือ
- 9 ต.ค.2557 ไปรับหมายจับมาจริง
- รับแล้วก็ส่งให้ชุดไล่ล่าออกตามจับเสี่ยโจ้
- จังหวะนั้นตำรวจรอไล่ล่าอยู่ รอหมายอยู่ จึงรีบส่งให้ ไม่มีการเซ็นรับ จำไม่ได้ว่าใครรับไปบ้าง
- ต่อมา พ.ค.2558 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เสี่ยโจ้ยังหนี จึงออกหมายจับมาทับหมายเดิม
- หมายนี้ยังวางอยู่ในกองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรปัตตานี ไม่เคยหายไปไหน
- งงว่าทำไมกองปราบหาไม่เจอ
@@ สอบสวนกลางโต้ รับหมายมาแล้ว ทำไมไม่ส่ง ทว.
อีกด้านหนึ่งมีข่าวจากตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งเป็นหน่วยที่จับกุม “เสี่ยโจ้” / ขอใช้สิทธิ์พาดพิง อธิบายเรื่องหมายจับ “เสี่ยโจ้” ว่า ทางกองปราบ หรือสอบสวนกลาง ไม่มีใครไปนั่งทับหมายจับ เพราะได้พยายามหาหมายจับทุกหมายที่ยัง active และสามารถใช้ควบคุมตัว “เสี่ยโจ้” ได้ แต่ในสารบบมีหมายเดียว คือคดีฟอกเงิน ซึ่งภายหลังทราบว่า อัยการสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว ส่วนหมายอื่นไม่มี
ทางสอบสวนกลางขอตั้งคำถามกลับว่า เหตุใดพนักงานสอบสวนที่รับหมายจับมา จึงไม่นำเข้าสารบบหมายจับ และส่งให้กองทะเบียนประวัติอาชญากร หรือ ทว. ออกประกาศสืบจับไปทั่วประเทศ ทั้งๆ ที่กำหนดอยู่ในระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ต้องปฏิบัติอย่างชัดเจน