1 พ.ย.64 นอกจากเป็นหมุดหมายของการ “เปิดประเทศ - เปิดการท่องเที่ยว” เพื่อสร้างความหวังในการฟื้นเศรษฐกิจแล้ว
ยังเป็นจุดเริ่มต้นของความหวังการ “กลับสู่ห้องเรียน” ของนักเรียนทั้งเด็กเล็ก เด็กโต วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย เพิ่งแถลงข่าวความพร้อมเรื่องการเปิดภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ในวันที่ 1 พ.ย.นี้
สาระสำคัญของคำแถลงคือ มีโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมตามเกณฑ์ และขอเปิดการเรียนการสอนแบบ On site 100% (เปิดเรียนจริงที่สถานศึกษา) รวมแล้วกว่า 12,000 โรงเรียน
โดยการเปิดเรียนแบบ On site โรงเรียนหรือสถานศึกษาจะต้องผ่านการประเมินความพร้อม Thai Stop Covid Plus และรายงานการติดตามการประเมินผลผ่าน MOECOVID โดยถือปฏิบัติอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ร้อยละ 85 ขึ้นไป
หลักเกณฑ์และมาตรฐานที่สูงลิบเพื่อความปลอดภัยเช่นนี้ ทำให้โรงเรียนและสถานศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แทบไม่สามารถเปิดเรียนแบบ On site ได้เลย หนำซ้ำในปัจจุบัน 4 จังหวัดชายแดนใต้ยังเป็นพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดและมีผู้ติดเชื้อใหม่สูงสุดระดับประเทศ
จาก “ความหวัง” จึงกลายเป็น “สิ้นหวัง” ของคนชายแดนใต้ ทั้งนักเรียน ครู และผู้ปกครอง
@@ โรงเรียนยะลาไม่พร้อมเปิด On site
ดร.สุชาติ เอกปัชชา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษายะลา เขต 3 (ผอ.สพป.ยะลา เขต 3) กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ผู้บริหารและบุคคลากรโรงเรียนในสังกัด สพป.ยะลา เขต 3 ได้ร่วมประชุมชี้แจงแนวทางการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ผ่านระบบ Zoom Meeting กันไปแล้ว ได้ข้อสรุปว่า โรงเรียนในสังกัดยังไม่มีความพร้อมเปิดภาคเรียน ในระยะแรก 1 พ.ย.64 นี้ เนื่องจากสถิติการติดเชื้อยังคงพบอย่างต่อเนื่อง จึงต้องประเมินความพร้อมอีกครั้งในระยะที่สอง 15 พ.ย.64 ว่า จะทำการเปิดได้กี่โรงเรียน ขณะนี้ได้รายงานข้อมูลไปยังศูนย์ปฏิบัติการอำเภอเบตง จ.ยะลา เรียบร้อยแล้ว
การเรียนการสอนแบบ On site ทางโรงเรียนจำเป็นต้องดำเนินตามมาตรการ Sandbox Safety Zone in School คือการบริหารจัดการภายในโรงเรียนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมีขอบเขตชัดเจนก่อน โดยไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนภายนอก และมีแผนเผชิญเหตุเมื่อเกิดการติดเชื้อหรือระบาดในโรงเรียน เช่น มาตรการ บับเบิลแอนด์ซีล และ School Isolation มีการสุ่มตรวจคัดกรองหาเชื้อ (ATK) ทั้งนักเรียน ครู และบุคลากร เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาด
สำหรับ สพป.ยะลา เขต 3 มีโรงเรียนในสังกัดจำนวน 32 แห่ง ครู และบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 741 คน ซึ่งในพื้นที่ อ.เบตง มี 18 แห่ง มีครูและบุคลากรทางการศึกษา 448 คน ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 429 คน ยังไม่ฉีด 19 คน เพราะมีปัญหาเรื่องสุขภาพ แพ้ยา อยู่ในช่วงการตั้งครรภ์
ส่วนในพื้นที่ อ.ธารโต มีโรงเรียน 14 แห่ง มี ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 293 คน ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 274 คน ยังไม่ฉีด จำนวน 19 คน ซึ่งบุคลากรในสังกัดมีความพร้อม เกินร้อยละ 85 ขึ้นไป
ส่วนนักเรียนในสังกัด สพป.ยะลา เขต 3 มีจำนวน 7,741 คน นักเรียนที่มีอายุระหว่าง 12-17 ปี มีจำนวน 1,188 คน มีนักเรียนที่แสดงความจำนงขอรับวัคซีน จำนวน 285 คน ถือว่าจำนวนค่อนข้างน้อย ส่วนสาเหตุที่แสดงความจำนงขอรับวัคซีนน้อยเนื่องจากผู้ปกครองยังไม่ยินยอม กังวลเรื่องผลข้างเคียงในการฉีดวัคซีน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ก็พบได้น้อยมาก และสามารถรักษาให้หายได้ จึงถือว่าไม่น่ากังวลแต่อย่างใด ซึ่งทาง สพป.ยะลา เขต 3 ได้รณรงค์ทำความเข้าใจให้นักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด
@@ ม.อ.ปัตตานี เปิดเรียน 29 พ.ย.
ผศ.ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ม.อ.ปัตตานี จะเปิดเรียนภาคเรียนที่ 2 ในวันที่ 29 พ.ย.นี้ โดยจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน สำหรับนักศึกษาปีที่ 1 และนักศึกษาชั้นปีอื่นๆ ที่จะต้องเรียนรายวิชาที่เน้นฝึกทักษะปฏิบัติการ
ระบบการเรียนแบบ On site จะมีผู้เรียนห้องเรียนละไม่เกิน 50 คน เตรียมพื้นที่การเรียนรู้ภายในวิทยาเขต และเตรียมระบบรองรับการเรียนการสอนแบบผสมผสาน hybrid ด้วย ส่วนนักศึกษาที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือยังได้รับวัคซีนไม่ครบ จะยังคงเรียนผ่านระบบออนไลน์จากที่บ้านได้ต่อไป
@@ ผู้ปกครองสงสารลูกหลาน หวังเปิดเรียนเสียที
เสียงจากผู้ปกครอง นายบือราเฮง เงาะตาลี ซึ่งเป็นชาว จ.ยะลา มีลูกเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย กล่าวว่า เห็นด้วยทั้งเรียนที่บ้านแบบออนไลน์ หรือเรียนในห้องเรียน เพราะทุกคนต้องอยู่กับโควิดให้ได้ เพียงแต่ขอให้มีความยืดหยุ่น ตนเข้าใจสถานศึกษา และขอให้เห็นใจผู้ปกครองและนักเรียนในทุกมิติ เพราะทุกวันนี้เด็กก็แย่มากกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
“ขอให้ทุกฝ่ายมองไปข้างหน้า เชื่อว่าโอกาสที่โควิดจะหายไปจากพื้นที่มันเป็นเรื่องยากมาก แต่มันจะง่ายกว่าถ้าทุกคนเตรียมพร้อมที่จะรับมือ มีความพร้อมที่จะอยู่ร่วมกับมัน เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่หยุดชะงักแบบนี้”
นางยามิลล่า มะนาหิง ผู้ปกครองนักเรียน จ.ปัตตานี เล่าว่า ลูกชายเข้าเรียน ปวช. ปี 1 ยังไม่ทันเจอเพื่อน ไม่เคยไปโรงเรียน ต้องมาเรียนออนไลน์ตลอดเทอม 1 สำหรับในเทอม 2 จะดีมากถ้าสามารถไปเรียนที่วิทยาลัยได้ เพราะวิชาที่ลูกเลือกเรียนส่วนมากเป็นภาคปฏิบัติ
“การเรียนออนไลน์สำหรับวิชาที่ต้องใช้ทักษะ มันทำให้เด็กไม่ได้อะไร แถมยังเพิ่มความเครียดอีก ยิ่งช่วงที่ต้องมากักตัว ลูกชายร้องไห้เลย เห็นว่าเทอม 2 จะมีการเรียนในห้องก็รู้สึกดีใจ อย่างน้อยลูกจะได้มีครูที่ปรึกษา จะได้มีเพื่อน เวลาเรียนไม่ทันจะได้ปรึกษาหรือคุยกันได้”
@@ เด็กๆ เครียด น้ำตาไหล เรียนออนไลน์ไม่ไหวแล้ว
ด้านเสียงจากผู้เรียน น.ส.อัสวาตี สาและ นักเรียนใน จ.ยะลา บอกว่า อยากไปโรงเรียนแล้ว อยากให้ทางโรงเรียนจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน ไม่ไหวแล้วที่จะต้องเรียนออนไลน์ เครียดมาตลอด เรียนไม่ค่อยเข้าใจ งานสั่งเยอะมาก บางช่วงตัวเองและครอบครัวต้องกักตัว อยู่ในชุมชนที่โควิดระบาด แต่เราต้องเรียนปกติ มีงานให้ทำเยอะเป็นปกติ ไม่รู้จะทำอย่างไรได้
“ได้แต่ร้องไห้ เครียด บอกครู ครูก็บอกว่าพยายามแล้ว ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จะดีใจมากถ้าได้ไปโรงเรียน เพราะถ้ารอโควิดหมดก็ไม่รู้เมื่อไหร่ แต่การศึกษามันสำคัญกับทุกคน มั่นใจว่า ทุกอย่างจะดีขึ้นถ้าพวกเราทุกคนร่วมกันเฝ้าระวัง”
นายฟาเดล สุหลง นักเรียนเทคนิคปัตตานี บอกคล้ายๆ กันว่า ดีใจมากถ้าสามารถเรียนได้ตามปกติในห้องเรียน
“รอโควิดหมดมันยาก ทุกวันมีแต่คนติดเชื้อเพิ่ม ตัวเลขของคนติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นแข่งกันใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ติดท็อปเท็นมาตลอด 1 เดือน ถ้ารอให้ลดอีกคิดว่าน่าจะยาก แต่ถ้าเราร่วมกันหามาตรการที่จะสามารถเปิดเรียนแบบ On site ได้ ก็น่าจะดีกับทุกคน ทั้งครูและพวกเรานักเรียน”