คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิชายแดนใต้ สรุปผลตรวจเยี่ยมศูนย์ซักถาม 6 แห่งของฝ่ายความมั่นคง พร้อมแจงความคืบหน้ารณี “ตอเล๊ะ ยะ” หนุ่มอ้างจิตหลอนหลังถูกจับเข้าศูนย์ซักถาม เจ้าตัวปฏิเสธสิทธิการรักษา แต่เดินหน้าเยียวยาต่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของใคร
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมปาร์คอินทาวน์ รีสอร์ท ปัตตานี คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ประชุมในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน โดยมี พล.ต.ธิรา แดหวา รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน.) เป็นประธานการประชุม
วาระการประชุมมีประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสความสนใจของประชาชนในพื้นที่ ประกอบด้วย
-การตรวจเยี่ยมศูนย์ซักถามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง 6 ศูนย์ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ และได้ปรับปรุงโครงสร้างภายในศูนย์ซักถามให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในการตรวจเยี่ยมได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและสร้างความเข้าใจสู่ประชาชน ตลอดจนนำข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ เสนอต่อแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อปรับปรุงพัฒนา
-ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี นายตอเล๊ะ ยะ ซึ่งถูกเชิญตัวเข้าสู่กระบวนการซักถาม และหลังจากออกจากกระบวนการซักถาม ได้มีคลิปออกมาทางสื่อโซเชียลมีเดียว่า เกิดอาการคลุ้มคลั่ง จิตหลอน
คณะกรรมการฯได้ลงไปตรวจสอบและได้เสนอให้ความช่วยเหลือขั้นต้น รวมถึงการช่วยเหลือในกระบวนการรักษา หากมีอาการเจ็บป่วยจริง แต่จากที่ได้เข้าไปเสนอแนะแนวทางการรักษาและสิทธิในการเยียวยาให้นั้น ปรากฏว่าถูกปฏิเสธจากเจ้าตัว แต่ทั้งนี้นั้น ทางคณะกรรมการฯเองก็มีมติจะลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือเยียวยา ไม่ให้เคสนี้ตกเป็นเครื่องมือของใคร
นายอับดุลอซิส ตาเดอินทร์ กรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนฯ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ซักถามของคณะกรรมการฯ ระหว่างวันที่ 22 -24 มิ.ย.64 ได้ทราบข้อเท็จจริง ตลอดจนมีการตรวจสอบประเด็นต่างๆ ที่เป็นข้อกังวลของประชาชน รวมถึงองค์กรต่างๆ ทั้งเรื่องการเข้าเยี่ยม และการสามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้
ผลการลงพื้นที่ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันศูนย์ซักถามได้มีการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดความสงสัยในขั้นตอนการปฏิบัติ โดยเฉพาะกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งและเปิดทำงานตลอด 24 ชั่วโมง สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้, เรื่องอาหารบริการ 3 มื้อ, มีการบอกเวลาละหมาด, การอนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้ตลอด พร้อมทั้งได้ชี้แจงสร้างความเข้าใจกับญาติผู้ที่ถูกเชิญตัวเข้ากระบวนการซักถามภายในศูนย์ซักถามว่า ไม่มีการซ้อมทรมานเพื่อให้ได้ข้อมูลแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เรื่องสถานที่บางแห่งอาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมต่อไป
อนึ่ง คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดตั้งขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างภาครัฐกับประชาชน ช่วยคลายความกังวล ตลอดจนดำเนินการตั้งแต่ต้นจนเสร็จสิ้นกระบวนการ โดยดำเนินการปกป้องตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล