แม้คดีที่เกี่ยวกับ “ลุงพล - น้องชมพู่” แห่งบ้านกกกอก ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร จะไม่ได้มีส่วนหนึ่งส่วนใดเกี่ยวข้องกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่คดีนี้ถูกวิจารณ์และตั้งคำถามถึงบทบาทของ “สื่อ” อย่างเอาจริงเอาจัง
เป็นบทบาทของ “สื่อ” ที่เคยมีปัญหากับการรายงานเรื่องราวอ่อนไหวและมีมิติทางสังคม ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม รวมถึงความเชื่อมาแล้วจากปัญหาชายแดนใต้ตลอดเกือบ 2 ทศวรรษ
แต่วันนี้ ปัญหาดูจะรุนแรงขึ้น และขยายผลกว้างขึ้นจากการเชื่อมกันแบบไร้รอยต่อระหว่างสื่อกระแสหลักกับสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย
ผลของมันเป็นอย่างไร สะท้อนได้ชัดเจนจากคดีน้องชมพู่ และปรากฏการณ์ที่เกิดกับชีวิตลุงพล
พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร หมายเหตุเรื่องนี้เอาไว้อย่างไม่ควรมองข้าม
“ปรากฏการณ์ลุงพล บ้านกกกอก น่าจะเกิดจากแรงขับเคลื่อนสำคัญ 2 ประการ คือ
- แรงจูงใจในการนำเสนอข่าว เช่น การเรียกเรตติ้ง, ความน่าสนใจของคดีที่มีเงื่อนงำ, ความเห็นใจผู้ถูกกล่าวหา ฯลฯ
- การใช้สื่อหลักและโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือกระพือข่าว เช่น สื่อหลักโหนกระแสมากจนเกินพอดี และนำเสนอเรื่องราวเกินความจริง สื่อโซเชียลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง YouTuber เกาะติดข่าวหรือสร้างมุกแปลกๆ ตลอดเวลาเพื่อหารายได้ รวมทั้งมีข้อมูลจากนักสืบโซเชียลที่ออกมาให้ข่าวอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้เกิดแง่มุมและเรื่องราวที่น่าติดตามตลอดเวลา
ประเด็นที่เป็นข้อสังเกตก็คือ
1.ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจนทำให้คนธรรมดากลายเป็นเซเลบ (คนดัง) ในชั่วข้ามคืน จึงคล้ายกับ “ทฤษฎีกึ่งสมคบคิด” แม้ว่าทั้งสื่อหลักและสื่อโซเชียลฯจะไม่ได้สมคมคิดกันโดยตรง หรือไม่ได้สมคบคิดกันในทางลับเพื่อสร้างความเชื่อผิดๆ ก็ตาม แต่ผลของรูปแบบการนำเสนอดังกล่าว เช่น การสร้างฮีโร่จากคนที่ไม่ใช่ฮีโร่ และความเชื่อต่างๆ ในท้องถิ่นที่ขยายออกไปจนเกินความเป็นจริง ภายใต้การแสวงหาผลประโยชน์ของทั้งสื่อหลักและสื่อโซเชียลฯ จึงมีลักษณะคล้ายกับการสมคบคิดในทางอ้อมไปโดยปริยายโดยอาศัยสื่อที่มีอยู่ในมือเป็นเครื่องมือสื่อสาร
2. พรมแดนที่กั้นระหว่างโซเชียลมีเดียกับสื่อหลักไม่มีอยู่อีกต่อไป เพราะสื่อหลักใช้สื่อโซเชียลฯ ภายใต้แบรนด์ของตัวเองในการนำเสนอข่าวไปพร้อมๆ กับช่องทางหลัก ผู้คนบริโภคสื่อทั้งสื่อโซเชียลฯ และสื่อหลักในเวลาเดียวกัน ช่องว่างระหว่างสื่อหลักกับสื่อโซเชียลมีเดียจึงถูกเติมด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน
การที่กำแพงระหว่างสื่อหลักกับสื่อโซเชียลมีเดียถูกทลายลงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล จึงทำให้สื่อทั้งสองประเภทกลายเป็นสื่อไร้พรมแดน และมลพิษต่างๆ เกี่ยวกับความเชื่อและข่าวลือที่เคยจำกัดอยู่ในท้องถิ่นหรือคนกลุ่มเล็กๆ จึงหลั่งไหลเข้ามาอยู่ในวงจรของข้อมูลข่าวสารวงกว้างอย่างแทบไม่มีขีดจำกัด
3.การกระพือข่าวของทั้งสื่อหลักและโซเชียลมีเดีย รวมทั้งการแลกเปลี่ยนการรับรู้ข้อมูลข่าวสารระหว่างสื่อสองประเภทซ้ำๆ กันอย่างไม่หยุดหย่อน จึงอาจอธิบายได้ด้วยปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ในทางอุตุนิยมวิทยาเรียกกันว่า ปรากฏการณ์ “ฟูจิวารา” (Fujiwhara effect) ซึ่งอธิบายถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่พายุหมุนสองลูกเข้ามาอยู่ใกล้กันและด้วยความแรงของพายุลูกใดลูกหนึ่ง จึงทำให้พายุที่มีกำลังอ่อนกว่าถูกกลืนเข้าเป็นพายุลูกเดียวที่มีความแรงมหาศาล
กรณีปรากฏการณ์ลุงพล มีสื่อสองกระแสที่แข่งกันเสนอข่าวแบบเดียวกัน ความแรงของกระแสโซเชียลมีเดียผนวกกับความนิยมของสื่อกระแสหลัก ซึ่งสื่อทั้งสองกลายเป็นสื่อไร้พรมแดน จึงมีลักษณะคล้ายกับปรากฏการณ์ฟูจิวาราบนสื่อ ที่ทำให้สื่อทั้งสองชนิดเข้ามาอยู่ในวงจรเดียวกัน และดึงดูดเข้าหากันจนสร้างพลังกลายเป็นข่าวที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ของผู้คนในวงกว้าง
4. การที่ข้อมูลข่าวสารและความเชื่อต่างๆ ถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีพื้นฐานและเหตุผลรองรับ กลายเป็นเรื่องที่ผู้คนสนใจอย่างไม่น่าเชื่อ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าศึกษาและควรเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของการนำเสนอข่าวที่เรียกเรตติ้งจนเกินความพอดี, การสมคบคิดเพื่อหารายได้จากการสร้างความเชื่อผิดๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงจิตใจของผู้สูญเสีย รวมถึงปรากฏการณ์ฟูจิวาราบนสื่อสองชนิด
เรื่องราวทั้งหมดนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นจากปัญหาของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและสื่อหลักเท่านั้น แต่เกิดจากฝีมือมนุษย์ที่ต้องการเข้าไปหาผลประโยชน์ส่วนตนจากเทคโนโลยีและความสูญเสียโดยไม่ได้คำนึงผลกระทบใดๆ ที่จะตามมาทั้งสิ้น
------------------------
ขอบคุณภาพต้นฉบับจาก ทวิตเตอร์@INNNEWS