พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ กองทัพบก ผู้ต้องขังคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา วูบหมดสติขณะเดินออกกำลังกายในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก่อนเสียชีวิตอย่างกะทันหัน แพทย์แจงเหตุภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ปิดตำนานนายทหารยศนายพลพัวพันคดีมหากาพย์ “ค้ามนุษย์โรฮิงญา”
เมื่อเวลา 16.00 น. วันพฤหัสบดีที่ 3 มิ.ย.64 มีรายงานทางกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับการเสียชีวิตของ พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ซึ่งเป็นผู้ต้องขังคดีค้ามนุษย์ และเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขัง
กรมราชทัณฑ์ชี้แจงว่า พล.ท.มนัส คงแป้น อายุ 65 ปี ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม และย้ายเข้ารับการรักษาตัวที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 2 พ.ค.61 เนื่องจากมีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง ไขมันในโลหิตสูง และหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ
เมื่อวันพุธที่ 2 มิ.ย.64 ขณะเดินออกกำลังกาย มีอาการวูบหมดสติไม่รู้สึกตัว นอนนิ่ง ไม่หายใจ คลำชีพจรไม่ได้ ผู้เห็นเหตุการณ์จึงได้แจ้งผู้คุมและเจ้าหน้าที่ จากนั้นพยาบาลแรกรับคลำชีพจรไม่ได้ ม่านตาไม่ตอบสนองต่อแสง จึงได้ทำการกู้ชีพ กดนวดหัวใจ (CPR) และใส่ท่อช่วยหายใจ
จากนั้นเวลา 19.00 น.วันเดียวกัน แพทย์ได้ทำการรักษา พื่อช่วยชีวิตตามกระบวนการทางการแพทย์อย่างเต็มความสามารถ ซึ่งนอกจากนี้ยังได้ตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด – 19 โดยผลตรวจไม่พบเชื้อโควิด–19 แต่อย่างใด รวมทั้งได้เอกซเรย์ปอด พบหัวใจโต จึงทำการกดนวดหัวใจเป็นเวลา 40 นาที พบว่าร่างกายไม่มีการตอบสนอง ไม่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเสียชีวิตในเวลา 19.40 น. แพทย์จึงได้ทำการวินิจฉัยพบว่า ร่างกายเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในครั้งนี้
สำหรับประวัติการทำงาน พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 16 และนักเรียนนายร้อย จปร. รุ่น 27 เมื่อครั้งที่ยังรับราชการ ต้องถือว่าเป็นนายทหารอนาคตไกล และเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์ รวมทั้งปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยเมื่อปี 2547 ได้รับมอบหมายให้เข้าปิดล้อมมัสยิดกรือเซะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ใน “เหตุการณ์กรือเซะ” เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ซึ่งมีการใช้อาวุธหนักยิงถล่มเข้าไปในมัสยิดจนมีผู้เสียชีวิต เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้กองทัพถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก
ปี 2548-2549 เคยดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 25 กรมทหารราบที่ 25
ปี2550 จับกุมเงินสดหลายสิบล้านบาทของเครือข่ายยาเสพติด ซุกในท่อพีวีซี ในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็นข่าวดังทั้งประเทศ
ปี 2557 เป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 จ.สงขลา และผู้บัญชาการจังหวัดทหารบกชุมพร เคยดำรงตำแหน่ง ผอ.รมน.ส่วนแยก 1 ระนอง (ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ส่วนแยกที่ 1 จ.ระนอง) รับผิดชอบการแก้ปัญหาชาวโรฮิงญาและชาวเมียนมาลักลอบเข้าเมือง และเข้ามารับจ้างทำงาน ตั้งถิ่นฐาน มีครอบครัว จนกลายเป็นปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ จ.ระนอง
เม.ย.2558 ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก และเลื่อนยศจาก "พลตรี" เป็น "พลโท"
31 พ.ค.2558 เป็นผู้ต้องหา “คดีค้ามนุษย์ชาวโรฮีงญา” และได้เข้ามอบตัวกับทีมพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2558
ในปีนั้นเอง เมื่อวันที่ 1 พ.ค.58 มีการขุดพบสุสานชาวโรฮิงญา ที่แคมป์คนงานกลางป่า บนภูเขาใกล้ชายแดนไทย-มาเลเซีย ในพื้นที่หมู่ 8 บ้านตะโล๊ะ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา
จากการเข้าตรวจค้น พบชาวโรฮิงญารอดชีวิตอยู่ในสภาพอิดโรย 1 ราย และพบศพผู้เสียชีวิตที่ถูกฝั่งเอาไว้รอบแคมป์ดังกล่าวอีก 32 ศพ จนทำให้มีการขยายผลพบแคมป์คนงานโรฮิงญาอีกหลายแคมป์กลางป่า เชื่อมโยงกับกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์อีก 7 แห่ง และพบศพเพิ่มอีกหลายศพ มีแรงงานต่าวด้าวถูกควบคุมไว้เพื่อรอส่งข้ามแดน 312 คน กลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั้งประเทศ
ช่วงนั้นเป็นข่วงต้นรัฐบาล คสช. ซึ่งไทยถูกลดระดับความสามารถในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ จากระดับ 2 ต้องจับตา (Tier 2 Watch Lists) เป็น Tier 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด จนถูกคว่ำบาตรทางการค้าจากสหรัฐ ทำให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง จนสามารถขยับอันดับกลับมาที่ Tier 2 ได้ในปี 2561
หลังจากพบสุสานชาวโรฮิงญา ตำรวจชุดสืบสวนได้ทำงานอย่างหนักตลอด 5 เดือนเต็ม เพื่อหาหลักฐานเชื่อมโยงเครือข่ายค้ามนุษย์ ทำให้สามารถออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ตำรวจ ทหาร ผู้นำฝ่ายปกครองท้องที่ รวมทั้งนักธุรกิจ ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาใน จ.ระนอง สตูล และสงขลา รวม 153 ราย โดยหนึ่งในนั้นคือ พล.ท.มนัส ซึ่งเป็นนายทหารระดับสูงเพียงคนเดียวที่ถูกแจ้งข้อหา จนทำให้หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาล คสช.เอาจริงกับปัญหาค้ามนุษย์
พล.ท.มนัส เป็นผู้ต้องหารายที่ 85 ที่ถูกออกหมายจับ โดยมีหลักฐานการโอนเงินจากขบวนการค้ามนุษย์เข้าบัญชีธนาคารของ พล.ท.มนัส 73 ครั้ง เป็นเงินมูลค่ากว่า 14 ล้านบาท สุดท้ายศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีเกือบทั้งหมด ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
สำหรับคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ยังส่งผลทำให้ พล.ต.ต.ปวีณ พงษ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีนี้ ต้องลาออกจากราชการ เพราะมองว่าถูกโยกย้ายอย่างไม่เป็นธรรม สุดท้ายต้องย้ายถิ่นฐานไปขอลี้ภัยอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย