แม่ทัพภาค 4 สั่งปิดตายช่องทางธรรมชาตินราธิวาส พร้อมเสริมกำลังซีลชายแดนรับมาเลย์ล็อกดาวน์ ส่วนที่ตากใบเตรียมเปิดเกาะสะท้อนเป็นรายหมู่บ้าน หลังสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ด้าน ศบค.ยะลา ขยายเวลาปิดสถานที่เสี่ยงอีก 14 วัน โรงพยาบาลเบตงส่งนักรบชุดขาวช่วยโควิดนนทบุรี ขณะที่โควิดชายแดนใต้ติดเชื้อใหม่ยังพุ่ง
วันอาทิตย์ที่ 30 พ.ค.64 พล.ต.ศานติ ศกุนตนาค ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 และผู้บัญชาการกองกำลังเทพสตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุดเฝ้าตรวจชายแดน ตำรวจตระเวนชายแดน และกองร้อยป้องกันชายแดนที่ 4407-4414 ด้านจังหวัดนราธิวาส ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่ อ.สุคิริน อ.แว้ง อ.สุไหงโก-ลก และ อ.ตากใบ โดยเน้นย้ำการดูแลป้องกันชายแดนไทย-มาเลเซีย รับมือการล็อกดาวน์ประเทศมาเลเซีย สั่งปรับเปลี่ยนยุทธวิธี ประสานการจัดกำลังให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่ยังเป็นช่องว่าง โดยจัดกำลัง 3 ฝ่าย ทหาร ตชด. ทหารพราน ลาดตระเวนร่วมกัน พร้อมจัดชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ลาดตระเวนเดินเท้าเลาะชายแดนทั้งทางบก และทางน้ำ สกัดกั้นไม่ให้มีการลักลอบข้ามผ่านช่องทางธรรมชาติโดยเด็ดขาด
พล.ต.ศานติ กล่าวว่า การดูแลซีลชายแดนในขณะนี้ เน้นปฏิบัติการเชิงรุกตามข้อสั่งการของแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ให้บริหารจัดการกำลังร่วม 3 ฝ่าย ทั้งทหาร ทหารพราน และ ตชด. เพื่อป้องกันชายแดนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะ จ.นราธิวาส ในพื้นที่ อ แว้ง อ.สุไหงโก-ลก และ อ.ตากใบ ถือเป็นพื้นที่แนวชายแดนไทย-มาเลเซียที่มีจุดผ่อนปรน และท่าข้ามธรรมชาติจำนวนมาก ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านริมลำน้ำ เพื่อยกเรือขึ้นฝั่ง ถอดเครื่องยนต์ ป้องกันการใช้ไปรับ-ส่งคนจากฝั่งมาเลเซียกลับมา โดยเฉพาะบริเวณด่านบ้านน้ำตก และใต้สะพานด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก ที่มักพบการแอบลักลอบมากที่สุด
และวันที่ 1 มิ.ย.นี้ มาเลเซียจะล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ทำให้ทหารมาเลเซียมีความเข้มงวดการเข้า-ออกประเทศมากขึ้น ตอนนี้ทางฝั่งไทยจำเป็นต้องปิดตายช่องทางธรรมชาติ ห้ามเข้า-ออกโดยเด็ดขาด หากจะเข้ามาต้องมาตามช่องทางที่ถูกต้องเท่านั้น แต่ถ้าหลุดมาก็ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการกักกันโรค
ทั้งนี้ วิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ก่อนจะมีโควิดระบาด จะมีการข้ามไป-มาเพื่อกรีดยางฝั่งมาเลเซีย แต่ปัจจุบันไม่สามารถไปได้ ต้องประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจสร้างความตระหนักรู้ให้กับชุมชน ทั้งผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ ให้ทุกคนทำเพื่อส่วนรวม ป้องกันไม่ให้มีการนำเชื้อโควิด 19 เข้ามา โดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่กำลังระบาดอยู่ในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ต้องไม่ประมาท การลาดตระเวนแนวชายแดนต้องบูรณาการกำลังอย่างเต็มที่ อีกทั้งต้องระวังป้องกันตนเองจากโควิด 19 สายพันธุ์ต่างๆ ที่มีระบาดอยู่ในพื้นที่และประเทศเพื่อนบ้านด้วย
@@ ตากใบเตรียมเปิดเกาะสะท้อนรายหมู่บ้าน
สำหรับสถานการณ์ที่ ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งมีคลัสเตอร์การระบาดขนาดใหญ่ และยังมีหลายรายที่ติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ จนต้องปิดตายทั้งตำบลแบบไม่มีกำหนดนั้น
นายสังคม เกิดก่อ นายอำเภอตากใบ กล่าวว่า ตามที่อำเภอตากใบได้ประกาศปิดหมู่บ้านทั้ง 9 หมู่บ้าน ทั้งตำบลเกาะสะท้อน และห้ามแต่ละหมู่บ้านเดินทางถึงกัน เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยยึดมาตรการดังกล่าวไว้อย่างไม่มีกำหนด จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ขณะนี้พบว่าหลายหมู่บ้านมีวินัยในการป้องกันตัวเองและปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด จนทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในรายหมู่บ้านลดลง และไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่
ดังนั้นจากการหารือร่วมกับคณะทำงาน EOC อำเภอตากใบ จึงมีข้อสรุปว่าจะประเมินสถานการณ์อีก 1 สัปดาห์ โดยในวันที่ 31 พ.ค.64 จะเรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อมาร่วมกำหนดมาตรการและเงื่อนไขการเปิดหมู่บ้านร่วมกันว่า จะดำเนินการในลักษณะใดที่จะควบคุมป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ และประชาชนต่างพื้นที่ ต่างอำเภอปลอดภัย เมื่อมีการเปิดหมู่บ้านตามมาตรการที่กำหนด
นายอำเภอตากใบ กล่าวอีกว่า สำหรับตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ ต.เกาะสะท้อน เป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงที่มีเอกสารทางการแพทย์ยืนยันผลการติดเชื้อ แต่ผู้ติดเชื้อส่วนหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ ทำให้เข้าใจผิดว่าไวรัสโควิด-19 ไม่น่ากลัว หรือบางคนเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่รัฐสร้างเรื่องและเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ โดยหวังผลในการเบิกงบประมาณ ซึ่งข้อเท็จจริงการตรวจหาเชื้อจะต้องดำเนินการตรวจ swab จำนวน 2 ครั้ง และก่อนที่ ศบค.ส่วนกลางจะนำไปแถลง จะต้องมีเอกสารยืนยันการตรวจหาเชื้อรอบที่ 2 ประกอบไปด้วย ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่บุคลากรด้านสาธารณสุขของอำเภอตากใบจะสร้างเรื่องเท็จ เพื่อรังแกประชาชน หรือหวังงบประมาณมาใช้ส่วนตัว
@@ ศบค.ยะลา ขยายเวลาปิดสถานที่เสี่ยงต่อถึง 14 มิ.ย
ที่ จ.ยะลา นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด เปิดเผยว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดยะลา ได้ออกคำสั่งที่ 77/2564 ขยายระยะเวลาปิดสถานที่เสี่ยง อาทิ สถานบริการ สถานบันเทิง ร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต สถานที่ท่องเที่ยว สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ สนามกีฬา ฯลฯ จากเดิมวันที่ 19 -31 พ.ค 64 ต่อไปเป็นวันที่ 1-14 มิ.ย.64 เพื่อบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดและเร่งด่วน ป้องกันและยับยั้งการระบาดของโรคไม่ให้แพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง และกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน
สำหรับการจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ร้านน้ำชา กาแฟ เปิดจำหน่ายและมีการบริโภคในร้านได้ไม่เกินเวลา 22.00 น. และห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า เปิดได้ตามเวลาปกติ จนถึงเวลา 21.00 น. จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ งดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย งดตู้เกม เครื่องเล่น สวนสนุก, ร้านสะดวกซื้อเปิดได้ เวลา 04.00-22.00 น., ตลาดนัด ตลาดนัดกลางคืน ตลาดสดกำหนดให้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด, ห้ามไม่ให้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ กิจกรรมสันทนาการทุกประเภท ห้ามไม่ให้มีการรวมตัวของคนทุกประเภท ยกเว้นการจัดกิจกรรมของส่วนราชการ ผู้เข้าร่วมไม่เกิน 50 คน และดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคโดยเคร่งครัด
ส่วนการเดินทางเข้าจังหวัด ให้ผู้เดินทางมาจากทุกพื้นที่ ต้องสแกน QR Code YALA SAFE ALERT ทุกคน ณ ด่านตรวจประจำรอยต่อพื้นที่จังหวัด และงดให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดยะลา เดินทางออกนอกพื้นที่
@@ รพ.เบตง ส่งนักรบชุดขาวช่วยสู้โควิดนนทบุรี
ส่วนที่โรงพยาบาลเบตง จ.ยะลา นพ.สวรรค์ กาญจนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเบตง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร บุคลากรโรงพยาบาลเบตง ร่วมเป็นกำลังใจและส่งทีมนักรบชุดขาวโรงพยาบาลเบตงที่มีจิตอาสา เดินทางร่วมปฏิบัติภารกิจดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง ปานกลาง ณ โรงพยาบาลสนามบุษราคัม ขนาด 3,000–5,000 เตียง ณ อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จ.นนทบุรี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของคณะแพทย์ประจำ ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ตามนโยบายของ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ทีมแพทย์และพยาบาลที่เดินทางไปร่วมปฏิบัติภารกิจดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ณ โรงพยาบาลสนามบุษราคัม มีจำนวน 7 คน ประกอบด้วย นพ.ไกรกูน ชาลาภิภัทร อายุรแพทย์ ตำแหน่งนายแพทย์ชำนาญการ, นางสาวธนัชพร ปรีชาวุฒินันท์ ตำแหน่งเภสัชกรชำนาญการ, นางสาวสุพรรณนา ทองนุ้ย ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ, นางกุลชญา เปรมอมรกุล ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ, นางปาณศา ส่องรส ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ, นางสาวสอลีฮาตี สะอุ ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ และ นางสาวทิพย์นรา จงอุรุดี ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
@@ โควิดชายแดนใต้ติดเชื้อใหม่พุ่ง สงขลา 98 - นราฯ 65
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และ จ.สงขลา ประจำวันอาทิตย์ที่ 30 พ.ค.64
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 323 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 154 ราย รักษาหายแล้ว 164 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 5 ราย รอผลตรวจยืนยันอีก 2,095 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 85 ราย, อ.กรงปินัง 41 ราย, อ.เบตง 18 ราย, อ.รามัน 62 ราย, อ.บันนังสตา 35 ราย, อ.กาบัง 4 ราย อ.ธารโต 67 ราย และ อ.ยะหา 11 ราย โดยมีผู้ป่วยที่ยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งสิ้น 154 ราย อยู่ที่โรงพยาบาลยะลา 49 ราย โรงพยาบาลเบตง 4 ราย โรงพยาบาลกรงปินัง 1 ราย โรงพยาบาลยะหา 6 ราย โรงพยาบาลสนาม 67 ราย และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กฯ 27 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ 334 ราย รักษาหายแล้ว 276 ราย และเป็นจังหวัดเดียวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
มีผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 9 ราย โรงพยาบาลสนามหนึ่ง 21 ราย โรงพยาบาลสนามสอง 12 ราย โรงพยาบาลสนามสาม 3 ราย โรงพยาบาลโคกโพธิ์ 3 ราย โรงพยาบาลหนองจิก 1 ราย โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี 5 ราย โรงพยาบาลยะรัง 1 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 1 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณาแอดมิท 1 ราย และส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 1 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 143 ราย, อ.หนองจิก 87 ราย, อ.โคกโพธิ์ 4 ราย, อ.ยะหริ่ง 33 ราย, อ.สายบุรี 21 ราย, อ.ไม้แก่น 2 ราย, อ.แม่ลาน 3 ราย, อ.ยะรัง 14 ราย, อ.ปะนาเระ 15 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 4 ราย และ อ.มายอ 5 ราย ส่วน อ.กะพ้อ ยังเป็นอำเภอเดียวในสามจังหวัดชายแดนใต้และสงขลาที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด
จ.นราธิวาส พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 65 ราย แยกเป็นในพื้นที่ อ.ตากใบ 42 ราย, อ.บาเจาะ 5 ราย, อ.ระแงะ 7 ราย, อ.สุไหงปาดี 4 ราย, อ.เมือง 3 ราย, อ.สุคิริน 2 ราย, อ.ครีสาคร 1 ราย และ อ.แว้ง 1 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 914 ราย รักษาหายแล้ว 670 ราย เสียชีวิตสะสม 2 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 496 ราย, อ.ระแงะ 31 ราย, อ.รือเสาะ 34 ราย, อ.บาเจาะ 35 ราย, อ.จะแนะ 15 ราย, อ.ยี่งอ 8 ราย, อ.ตากใบ 221 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 8 ราย, อ.สุไหงปาดี 33 ราย, อ.ศรีสาคร 11 ราย, อ.แว้ง 15 ราย, อ.สุคิริน 4 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 2 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 98 ราย แยกเป็นกลุ่มสมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 33 ราย, กลุ่มค้นหาเชิงรุกโรงงาน 2 ราย, กลุ่มผุ้ต้องขังเรือนจำ 58 ราย และกลุ่มรอสอบสวนโรค 5 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 1,552 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 1,539 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 13 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 545 ราย รักษาหายแล้ว 999 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 8 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยัน 90 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 853 ราย, อ.เมืองสงขลา 200 ราย, อ.บางกล่ำ 80 ราย, อ.นาหม่อม 15 ราย, อ.จะนะ 174 ราย, อ.รัตภูมิ 17 ราย, อ.สะเดา 27 ราย, อ.สิงหนคร 13 ราย, อ.เทพา 6 ราย, อ.ระโนด 8 ราย, อ.สะบ้าย้อย 17 ราย, อ.นาทวี 6 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 18 ราย, อ.สทิงพระ 2 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 3 ราย, อ.ควนเนียง 1 ราย เป็นกรณีเรือนจำ จ.สงขลา 84 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 15 ราย และจากต่างประเทศ 13 ราย