ฉก.นราธิวาส ส่งครัวเคลื่อนที่ทำอาหารปรุงสุกช่วยชาวเกาะสะท้อน มัสยิดปัตตานีคึกคัก ชาวบ้านแห่ละหมาดวันศุกร์หลังพ้นกำหนดกฎเหล็ก ด้านสาธารณสุขยะหาเร่งปูพรมค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ขณะที่ด่านเบตงรับ 16 แรงงานข้ามแดนกลับไทย หลังโควิดมาเลย์วิกฤติหนัก
วันศุกร์ที่ 28 พ.ค.64 สถานการณ์การแพร่รบาดของโควิด-19 ใน จ.นราธิวาส ยังคงมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึง 25 ราย โดยในพื้นที่ ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ และยังคงเป็นพื้นที่เสี่ยง มีการขยายเวลาการปิดพื้นที่ทั้งตำบลและระหว่างหมู่บ้านทั้ง 9 หมู่บ้านต่อไปอย่างไม่มีกำหนด
สำหรับรายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ของโรงพยาบาลตากใบ มีผู้ป่วยใหม่ 5 ราย จาก ต.เกาะสะท้อน ส่วนผู้ป่วยที่รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลตากใบมี 8 ราย โรงพยาบาลอื่น 6 ราย มีผู้ป่วยสะสม 135 ราย ในพื้นที่ 133 ราย นอกพื้นที่ 2 ราย รักษาหายแล้วสะสม 41 ราย ในพื้นที่ 39 ราย และนอกพื้นที่ 2 ราย
วันเดียวกันนี้ พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่15 และผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้เดินทางลงพื้นที่ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดโควิด ณ โรงสีข้าวพิกุลทอง ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ พร้อมส่งหน่วยทหารในพื้นที่เข้าดำเนินการช่วยเหลือ สนับสนุนยุทโธปกรณ์ กำลังพล อำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างทันท่วงที
โดยให้กองพันทหารราบที่ 1 และกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 151 จัดรถครัวสนามเคลื่อนที่ จำนวน 2 คัน ให้บริการอาหารและน้ำดื่มช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ต.เกาะสะท้อน โดยทำอาหารกล่องปรุงสุก เป็นข้าวกระเพราไก่ไข่ต้ม จำนวน 800 กล่อง แจกจ่ายอย่างทั่วถึง ซึ่งอาหารต่างๆ ที่ปรุงจากรถครัวสนามนั้น ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนจิตอาสาที่เป็นมุสลิมมาดำเนินการปรุงอาหารให้
โอกาสนี้ พล.ต.ไพศาล ยังได้เดินทางเข้าหมู่บ้านชุมชนไทยพุทธในพื้นที่ ต.เกาะสะท้อน เพื่อมอบถุงยังชีพให้กับผู้สูงอายุและผู้ยากไร้จำนวน 10 ครัวเรือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้วย
@@ มัสยิดปัตตานีคึกคัก ชาวบ้านแห่ละหมาดวันศุกร์
ที่ จ.ปัตตานี หลังจากพ้นกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าด้วย การปฏิบัติศาสนกิจในการละหมาดอีฎิลฟิตรี งดการปฏิบัติศาสนกิจละหมาดที่มัสยิดจำนวนกว่า 700 แห่งเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 – 24 พ.ค.64 นั้น
ล่าสุดในวันศุกร์ที่ 18 พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องเดินทางเข้าร่วมละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด ซึ่งเป็นวันศุกร์แรกที่พ้นกำหนดการห้ามละหมาดที่มัสยิด ปรากฏว่าทุกมัสยิดเปิดให้ประชาชนเข้าละหมาด บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
เช่นเดียวกับที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี มีชาวไทยมุสลิมทยอยเดินทางไปร่วมละหมาดเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางกฎเหล็กคุมเข้มอย่างเคร่งครัด ทั้งเจลล้างมือ เว้นระยะห่าง และใช้เวลาในการละหมาดไม่เกิน 20 นาที
@@ ยะหาเร่งปูพรมค้นหาผู้ป่วยโควิดเชิงรุก
ส่วนที่บริเวณโรงเรียนบ้านบาโงยซิแน ต.บาโงยซิแน อ.ยะหา จ.ยะลา เจ้าหน้าจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอยะหา และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา ได้เร่งทำ Active Case Finding หรือ “การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน” เพื่อค้นหาและคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยง และผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน ต.บาโงยซิแน หลังจาก “ไข่แตก” พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตไปแล้วจำนวน 1 ราย ซึ่งนับเป็นรายแรกของอำเอ
นายอาแซ กาเซ็ง สาธารณสุขอำเภอยะหา กล่าวว่า ทีมสอบสวนโรคได้ลงพื้นที่ไปค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยตรวจเชิงรุกไปกว่า 26 ราย และเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ได้ขยายผลคัดกรองอีกประมาณ 16 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ที่มีความเสี่ยงและมีความเป็นไปได้ว่าจะมีเชื้ออยู่
กระทั่งวันศุกร์ที่ 28 พ.ค. มีกลุ่มเป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น 95 รายใน 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ที่ 2 จำนวน 3 ราย หมู่ที่ 3 จำนวน 39 ราย หมู่ที่ 4 จำนวน 52 ราย และหมู่ที่ 6 จำนวน 1 ราย ทั้งหมดอยู่ใน ต.บาโงยซิแน
ยืนยันว่า ปัจจุบันการแพร่ระบาดยังอยู่ภายใน ต.บาโงยซิแน เท่านั้น และยังไม่มีรายงานการแพร่กระจายไปยังตำบลอื่น
@@ ด่านเบตงรับ 16 แรงงานข้ามแดนกลับไทย
ขณะที่บริเวณด่านบูกิตบือราปิต รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย เจ้าหน้าที่กองอำนวยการร่วมประสานงานประจำด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง จ.ยะลา เข้าไปรับแรงงานไทย จำนวน 16 คนที่เดินกลับจากประเทศมาเลเซีย ข้ามมายังด่านพรมแดนของ อ.เบตง เพื่อรับการคัดกรองโควิด-19 จากเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเบตง เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเบตง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง พร้อมเข้ารับการฉีดยาฆ่าเชื้อสัมภาระ ซักประวัติ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย พร้อมกักตัว 14 วันที่ศูนย์ Local Quarantine ตามกระบวนการควบคุมโรคระบาดของ ศปก.อ.เบตง
นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง กล่าวว่า การคัดกรองด่านพรมแดนยังคงดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนด ผู้ที่ผ่านเข้าพรมแดนไทย ต้องผ่านกระบวนการควบคุมโรคอย่างเข้มงวดทุกครั้งเช่นที่ผ่านมา รวมไปถึงการเฝ้าระวังป้องกันบริเวณตะเข็บชายแดนช่องทางธรรมชาติ ซึ่งมีกำลังเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งด่านตรวจจุดสกัดในพื้นที่ เพื่อป้องกันแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย
โดยรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 พ.ค. มีผู้ป่วยสะสมจากโควิด-19 ในประเทศเพิ่มเป็นอย่างน้อย 541,224 คน โดยมีการยืนยันผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 7,857 คน ในรอบ 24 ชั่วโมง นับเป็นสถิติรายวันสูงสุดตั้งแต่มาเลเซียเผชิญกับการแพร่ระบาด
@@ นราฯ-สงขลาติดเชื้อพุ่ง
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และ จ.สงขลา ประจำวันศุกร์ที่ 28 พ.ค.64
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 304 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 141 ราย รักษาหายแล้ว 158 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 5 ราย รอผลตรวจยืนยันอีก 1,909 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 85 ราย, อ.กรงปินัง 41 ราย, อ.เบตง 18 ราย, อ.รามัน 62 ราย, อ.บันนังสตา 35 ราย, อ.กาบัง 4 ราย อ.ธารโต 56 ราย และ อ.ยะหา 3 ราย
โดยมีผู้ป่วยที่ยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งสิ้น 141 ราย อยู่ที่โรงพยาบาลยะลา 44 ราย โรงพยาบาลเบตง 4 ราย โรงพยาบาลสนาม 67 ราย และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กฯ 26 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ 324 ราย รักษาหายแล้ว 268 ราย และเป็นจังหวัดเดียวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
มีผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 8 ราย โรงพยาบาลสนามหนึ่ง 24 ราย โรงพยาบาลสนามสอง 13 ราย โรงพยาบาลสนามสาม 3 ราย โรงพยาบาลโคกโพธิ์ 2 ราย โรงพยาบาลหนองจิก 1 ราย โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี 4 ราย และส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 1 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 142 ราย, อ.หนองจิก 86 ราย, อ.โคกโพธิ์ 4 ราย, อ.ยะหริ่ง 29 ราย, อ.สายบุรี 20 ราย, อ.ไม้แก่น 2 ราย, อ.แม่ลาน 3 ราย, อ.ยะรัง 13 ราย, อ.ปะนาเระ 15 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 4 ราย และ อ.มายอ 5 ราย ส่วน อ.กะพ้อ ยังเป็นอำเภอเดียวในสามจังหวัดชายแดนใต้และสงขลาที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด
จ.นราธิวาส พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 25 ราย แยกเป็นในพื้นที่ อ.ตากใบ 16 ราย (ต.เกาะสะท้อน, ต.เจ๊ะเห), อ.ยี่งอ 1 ราย (ต.ตะปอเยาะ), อ.ระแงะ 2 ราย (ต.มะรือโบตก, ต.กาลิซา), อ.เมือง 1 ราย (ต.บางนาค) และ อ.สุไหงปาดี 5 ราย (ต.ปะลุรู, ต.ริโก๋, ต.โต๊ะเด็ง) ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 827 ราย รักษาหายแล้ว 639 ราย เสียชีวิตสะสม 2 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 493 ราย, อ.ระแงะ 24 ราย, อ.รือเสาะ 33 ราย, อ.บาเจาะ 29 ราย, อ.จะแนะ 15 ราย, อ.ยี่งอ 8 ราย, อ.ตากใบ 161 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 7 ราย, อ.สุไหงปาดี 29 ราย, อ.ศรีสาคร 10 ราย, อ.แว้ง 14 ราย, อ.สุคิริน 2 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 1 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 50 ราย แยกเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 49 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 35 ราย, กลุ่มค้นหาเชิงรุกโรงงาน 3 ราย, กลุ่มผู้ต้องขังเรือนจำ 10 ราย และกลุ่มรอสอบสวนโรค 1 ราย
ส่วนผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ 1 ราย (รักษาตัวบนเรือของประเทศอินโดนิเซีย) ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 1,423 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 1,410 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 13 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 450 ราย รักษาหายแล้ว 966 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 7 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยัน 1,282 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 824 ราย, อ.เมืองสงขลา 183 ราย, อ.บางกล่ำ 73 ราย, อ.นาหม่อม 15 ราย, อ.จะนะ 166 ราย, อ.รัตภูมิ 17 ราย, อ.สะเดา 21 ราย, อ.สิงหนคร 11 ราย, อ.เทพา 6 ราย, อ.ระโนด 8 ราย, อ.สะบ้าย้อย 16 ราย, อ.นาทวี 6 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 18 ราย, อ.สทิงพระ 2 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 3 ราย, อ.ควนเนียง 1 ราย เป็นกรณีเรือนจำ จ.สงขลา 26 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 14 ราย และจากต่างประเทศ 13 ราย