กลายเป็นข่าวใหญ่ประจำวันนี้ เมื่อมีการเผยแพร่ข่าววิทยุตำรวจ ในราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ผู้กำกับการ สภ.เมืองนราธิวาส รายงานด่วนถึง ผบ.ตร. และผู้บังคับบัญชาระดับสูง ว่ามีคดีน่าสนใจ คือ คดีปืนอาก้า หรือ AK 102 ของกองร้อยอาสาสมัครรักษาดินแดนอำเภอเมืองนราธิวาสที่ 2 สูญหายไปจำนวน 28 กระบอก
ข้อมูลที่ผู้กำกับการ สภ.เมืองนราธิวาส รายงานผู้บังคับบัญชา อ้างถึงปลัดอำเภอเมืองนราธิวาส ได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 19 พ.ค.64 ว่า อาวุธปืนอาก้าสูญหายไปจำนวน 28 กระบอก จากกองคลัง กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอเมืองนราธิวาสที่ 2 ตำรวจก็รับแจ้งไว้ และตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าปืนหายจริง
แถมเมื่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส พล.ต.ต.นรินทร์ บูสะมัญ สั่งให้ตรวจสอบเพิ่ม ก็พบว่ามีอาวุธปืนของ อส.หายไปจากคลังในอีกหลายอำเภอ โดยเฉพาะ อ.รือเสาะ อ.ศรีสาคร และ อ.สุไหงปาดี
เมื่อเรื่องนี้ทำท่าจะเป็นเรื่องใหญ่ และส่งผลกระทบต่อความมั่นคง จึงมีการรายงานให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงในส่วนกลางทราบ
เรื่องนี้มีคำอธิบายด้วยข้อมูล 2 ชุด
ชุดแรก จากรองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พ.อ.วัชรกร อ้นเงิน ที่ชี้แจงว่า นายอำเภอเมืองนราธิวาสได้ตรวจสอบสถานภาพของอาวุธปืน อส. ที่อยู่ในความดูแล เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว (2563) และพบว่าปืนหายไป 1 กระบอก จึงได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
กระทั่งพบว่า มีอาวุธปืนหายในห้วงเวลาที่ผ่านมา ย้อนหลังไปหลายปี จำนวนทั้งสิ้น 28 กระบอก โดยเป็นการหายแบบ “ทยอยหาย” ไม่ใช่หายครั้งเดียว
เมื่อรวบรวมข้อมูลได้จึงมีการแจ้งความ โดย พ.อ.วัชรกร บอกว่า ไม่ใช่เรื่องที่ต้องตื่นตระหนก เนื่องจากไม่ใช่กรณีปืนถูกปล้นล็อตใหญ่จากคนร้ายตามที่มีบางสื่อพยายามเสนอข่าว
พ.อ.วัชรกร แถลงโดยนำเอกสารการตรวจสอบอาวุธปืนของคณะกรรมการมาแสดงด้วย พบว่ามีปืนหายไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจริง เป็นการทยอยหาย รวมๆ แล้ว 28 กระบอก
ข้อมูลชุดที่ 2 เป็นข้อมูลที่ “ทีมข่าวอิศรา” ได้มาจากฝ่ายความมั่นคง และนายทหารระดับสูงของกองทัพภาคที่ 4 คอนเฟิร์มแล้วว่ามีมูล นั่นก็คือ เหตุปืนหาย น่าจะเชื่อมโยงกับขบวนการลักลอบส่งปืนของราชการไปให้กลุ่มก่อความไม่สงบ
ต้นตอของเรื่องนี้ มาจากเหตุการณ์ที่ทหารพรานนาวิกโยธินฯ เข้าปิดล้อมและยิงปะทะกับกลุ่มติดอาวุธต้องสงสัยในพื้นที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 11 พ.ค.64 และฝ่ายคนร้ายเสียชีวิต 1 นาย โดยในมือยังถือปืนอาก้าเอาไว้ 1 กระบอก
จากนั้นจึงมีการส่งปืนของกลางตรวจพิสูจน์ตามปกติ แล้วเจ้าหน้าที่ก็ต้องผงะ เพราะปืนกระบอกนี้กลายเป็นปืนของ อส.อำเภอเมืองนราธิวาส ซี่งไม่ได้แจ้งหายเอาไว้ แปลว่าไม่ใช่ปืนที่ถูกคนร้ายปล้นชิงไปขณะถูกซุ่มโจมตี หรือสังหารกำลังพล แต่เป็นปืนที่ยังมีอยู่ในสารบบข้อมูล แต่ว่าตัวปืนจริงๆ ไปอยู่ในมือกลุ่มก่อความไม่สงบเสียแล้ว
งานนี้แม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ก็รับทราบด้วย และมองว่าไม่ใช่เรื่องเล็กๆ จึงสั่งตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่าปืนหายไปทั้งหมด 28 กระบอก เฉพาะที่คลังอาวุธปืน ของกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอเมืองนราธิวาส 2 เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ทางนายอำเภอจึงมอบหมายให้ปลัดอำเภอเข้าแจ้งความ และมีการตรวจสอบเพิ่ม กระทั่งพบว่าน่าจะมีปืนหายอีกหลายอำเภอ
รูปแบบการสูญหายของปืน พ.ต.อ.ศุภกร พึ่งรศ ผู้กำกับการ สภ.เมืองนราธิวาส บอกกับ “ทีมข่าวอิศรา” ชัดเจนว่า อาวุธปืนที่หายมีประวัติการเบิกจ่ายในสารบบ แต่ไม่มีปืนอยู่จริง จึงต้องไปไล่หาย้อนหลัง ยืนยันว่าการหาย ไม่ใช่หายคราวเดียว 28 กระบอก แต่เป็นการทยอยหาย
จากข้อมูลของผู้กำกับการ สภ.เมืองนราธิวาส “ทีมข่าวอิศรา” ได้ตรวจสอบเพิ่มเติม พบว่า การรั่วไหลของปืนที่หลุดไปถึงมือของกลุ่มก่อความไม่สงบ มีอยู่ 2 สมมติฐานที่เป็นไปได้ คือ
1.น่าจะมีขบวนการลักลอบนำปืนไปให้คนร้าย โดยเป็นคนที่มีหน้าที่เบิกจ่ายปืน หรือดูแลคลังอาวุธปืน ซึ่งถ้าเป็นรูปแบบนี้ ย่อมหมายความว่ามีแนวร่วมกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเป็น “หนอนบ่อนไส้” แฝงตัวอยู่ในกองร้อย อส. โดยอาศัยช่องโหว่ตรงที่ปริมาณปืนมีมากกว่าจำนวน อส. เพราะ อส.บางส่วนซื้อปืนโครงการสวัสดิการใช้เอง จึงไม่ค่อยได้เบิกปืนไปใช้ ยกเว้นมีภารกิจปิดล้อมตรวจค้น ทำให้มีปืนเหลือค้างอยู่ในคลังจำนวนหนึ่ง กลายเป็นช่องโหว่ให้ “หนอนบ่อนไส้” นำปืนไปส่งต่อให้โจร
2.กำลังพลนำปืนไปจำนำ อาจจะเพื่อใช้หนี้พนัน แลกกับยาเสพติด หรือต้องการเงินมาหมุน แล้วปืนหลุดไปถึงมือกลุ่มผู้ไม่หวังดี โดยปืนที่สูญหายในรูปแบบนี้ เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงพื้นที่อื่นๆ และไม่ได้มีเฉพาะ อส. แต่ตำรวจ ทหาร ก็พบปัญหานี้เหมือนกัน
แต่จากการประเมินของฝ่ายความมั่นคง ให้น้ำหนักไปที่สมมติฐานข้อแรก คือ น่าจะมี “หนอนบ่อนไส้” นำปืนไปส่งให้กลุ่มก่อความไม่สงบ เพราะรูปแบบการเบิกปืนจากคลังของ อส. เป็นการเบิกใช้เมื่อมีภารกิจ และต้องส่งคืนเมื่อจบภารกิจ ยกเว้นบางรายที่พักอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ก็จะได้รับอนุญาตให้นำปืนติดตัวกลับที่พักได้ แต่ก็จะมีการลงชื่อลงรหัสเอาไว้ชัดเจน ฉะนั้นหากปืนประจำกายของใครหาย จะถูกเพ่งเล็ง และตรวจสอบย้อนหลังได้ง่ายมาก โอกาสจึงน่าจะเป็นเรื่องของช่องโหว่การนำปืนที่ไม่ค่อยถูกใช้งาน ผ่องถ่ายไปให้คนร้ายมากกว่า
ส่วนปืนที่กำลังพลนำไปจำนำ โดยมากมักไปไถ่คืน เพราะหากปืนสูญหายไปก็จะถูกตรวจสอบพบ และจะมีความผิด เหตุนี้เอง ปืนของราชการที่เจ้าหน้าที่นำไปจำนำ จะมีราคาสูงกว่าราคาจริงของปืน เรียกว่าได้ราคาดี เพราะคนที่ให้จำนำรู้ดีว่า ถึงอย่างไรเจ้าหน้าที่ก็ต้องหาเงินมาไถ่คืน ไม่กล้าปล่อยหลุด
แต่ก็มีบางรายเหมือนกันที่เอาปืนไปเวียนจำนำหลายๆ กระบอก เช่น กระบอกแรก เอาไปจำนำ ได้เงินมา แล้วหาเงินไปไถ่ไม่ทัน ก็ไปเบิกปืนอีกกระบอก เอาไปเปลี่ยน ทำแบบนี้ซ้ำๆ พอนานวันเข้า ปืนก็อาจหลุดไปอยู่ในมือคนร้ายได้ เพราะปืนถูกนำไปหมุนเวียนในตลาดจำนำมากเกินไป
ปัจจุบันกำลังพลของ อส.ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอยู่ราวๆ 15,000 ถึง 18,000 นาย โดยกระจายอยู่ที่จังหวัด อำเภอ และชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) โดย อส. หรือ อาสารักษาดินแดน เป็นกำลังพลของฝ่ายปกครอง ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย
อส.ทุกนายจะผ่านการฝึกจากกองกำลังอาสารักษาดินแดนของกระทรวงมหาดไทย หากต้องปฏิบัติภารกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องเข้ารับการฝึกร่วมทางยุทธวิธีกับฝ่ายทหาร แล้วแยกกันไปปฏิบัติหน้าที่ โดยอยู่ประจำกองร้อย อส.ทั้งระดับจังหวัด และอำเภอ มีบางส่วนประจำอยู่ที่ “ชุดคุ้มครองตำบล” หรือ ชคต.
สำหรับปืนประจำกายของ อส. มีทั้งอาก้า หรือ AK 102 เอ็ม 16 และ เอชเค 33
จากข้อมูลที่ “ทีมข่าวอิศรา” รวบรวมมา ค่อนข้างชัดเจนว่า น่าจะมีขบวนการส่งปืนให้กลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ในช่วงต้นๆ ของไฟใต้ คือราวๆ ปี 2547 ก็เคยเกิดเรื่องลักษณะนี้มาแล้ว และมีการคาดโทษว่าใครทำปืนหาย จะถูกตั้งสมมติฐานไว้ก่อนว่าร่วมมือกับกลุ่มก่อความไม่สงบ จะถูกสอบสวน ลงโทษ และฟ้องร้องให้ชดใช้
กฎเหล็กข้อนี้ทำให้เกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. 6 คนที่ทำปืนหาย และบานปลายกลายเป็นโศกนาฏกรรมตากใบมาแล้ว ฉะนั้นการแก้ปัญหานี้จึงค่อนข้างละเอียดอ่อน และต้องใช้ความระมัดระวังสูงมาก
---------------
ขอบคุณ : ภาพต้นฉบับจากเฟซบุ๊ก กองร้อยอาสาสมัครรักษาดินแดนจังหวัดปัตตานีที่ 1