โควิดระลอกสามระบาดมาได้เกือบ 2 เดือนเต็ม...
ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แม้จะห่างไกลจากคลัสเตอร์เริ่มต้นของการระบาด คือสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ย่านทำเลทองกลางกรุงเทพมหานคร แต่ด้วยการเดินทางท่องเที่ยว เดินสายประกอบอาชีพ รวมถึงเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ทำให้สุดท้าย...อยู่ไกลแค่ไหนก็ไม่รอดพ้น
หนำซ้ำการแพร่ระบาดยังลุกลาม พบผู้ติดเชื้อเกือบครบทุกอำเภอของสามจังหวัดชายแดนซึ่งมีทั้งสิ้น 33 อำเภอ โดยปัจจัยหนุนการแพร่ระบาดส่วนหนึ่งก็คือ การเป็นเมืองชายแดนที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งสถานการณ์โควิดหนักกว่าไทย แถมยังระบาดหลากหลายสายพันธุ์
นับถึงวันศุกร์ที่ 21 พ.ค.64 ยังมีเหลืออีกเพียง 2 อำเภอเท่านั้นที่ยังปลอดโควิด
หนึ่ง คือ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี
สอง คือ อ.ยะหา จ.ยะลา
“ทีมข่าวอิศรา” ลงพื้นที่ อ.กะพ้อ พบว่าบรรยากาศที่นั่นเป็นไปอย่างเข็มงวด มีการเฝ้าระวังและป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด การ์ดไม่ตก และไม่ประมาท
นายสมศักดิ์ ทิพย์มณี นายอำเภอกะพ้อ เล่าว่า แนวทางป้องกันโควิด คือความมีวินัย และเข้มงวดกวดขัน รวมถึงการตั้งด่านตรวจอย่างเข้มข้น เพื่อสกัดการเคลื่อนตัวของเชื้อที่ใช้คนและการเดินทางเป็นพาหะ
“ผมได้สั่งการให้ปลัดอำเภองานป้องกัน นำกำลังพล อส. บูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอกะพ้อ ตั้งจุดตรวจจุดสกัดเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด บริเวณหน้า สภ.กะพ้อ เพื่อเฝ้าระวังผู้ที่มาจากจังหวัดกลุ่มเสี่ยง และ เน้นย้ำการสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าออกนอกบ้าน”
“นอกจากนั้นก็ได้ปล่อยรถประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ในมาตรการการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ทั้งตามตลาดนัด พื้นที่ชุมชนและหมู่บ้าน โดยยึดตามคำสั่งจังหวัดปัตตานี และตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี ว่าด้วยการปฏิบัติศาสนกิจ พร้อมชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อความไม่ประมาท”
จะเห็นได้ว่า “คีย์เวิร์ด” สำคัญของความสำเร็จ ก็คือการสร้างความเข้าใจ เพราะเมื่อพี่น้องประชาชนเข้าใจ ก็จะได้รับความร่วมมือที่ดีจากทุกภาคส่วน
ใน อ.กะพ้อ มีผู้ใหญ่บ้านหญิงอยู่ที่ บ้านโลทู คือ นางพาซียะ เด็งลา เธอบอกว่ารู้สึกดีใจที่บ้านของเธอไม่มีโควิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเพราะความไม่ประมาท
“เราไม่ได้ประมาทเลย แม้ถึงวันนี้จะยังไม่มีผู้ติดเชื้อ เราก็ไม่ประมาท การ์ดไม่ตก เรายังต้องระมัดระวังและป้องกันในการใช้ชีวิตปกติทุกวัน ก็ต้องเน้นตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนด ผู้ที่มีหน้าที่ต่างๆ ในพื้นที่ก็ต้องร่วมกันสอดส่องคนในเขตรับผิดชอบของตัวเอง สิ่งสำคัญคือการใส่หน้ากากอนามัย จะต้องทำให้เป็นเรื่องปกติก่อนออกจากบ้านทุกครั้งต้องไม่ลืม และก่อนเข้า-ออกหมู่บ้านก็จะมีกำลังเจ้าหน้าที่สอดส่องตามด่านตรวจต่างๆ ที่ทางอำเภอ กำหนดขึ้นอย่างเข็มงวดตลอด 24 ชั่วโมง” ผู้ใหญ่บ้านหญิงแห่ง อ.กะพ้อ กล่าว
ส่วนในด้านการเสริมภูมิคุ้มกัน นพ.ถนัด อาวารุลหัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกะพ้อ เล่าว่า ตลอดช่วงที่ผ่านมาได้ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะนายอำเภอ เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ไปแล้วจำนวนหนึ่ง และได้รับเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แจกจ่ายให้กับผู้ที่รับวัคซีน เพื่อความมั่นใจ และสามารถนำไปใช้ประกอบการเดินทางหรือประกอบอาชีพต่างๆ ได้
“สิ่งสำคัญที่เราช่วยกัน คือการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิญชวนพี่น้องประชาชนให้ร่วมฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งประชาชนทั่วไป ให้ได้ตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้” ผอ.โรงพยาบาลกะพ้อ กล่าว
หัวใจของความสำเร็จในแต่ละพื้นที่แทบไม่แตกต่างกัน คือการบูรณาการร่วมกันของเจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วน ทุกระดับ และการได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน
“ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ พร้อมแพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ทีมงานฝ่ายปกครอง และบัณฑิตอาสา ร่วมตั้งจุดตรวจสกัดเพื่อตรวจตรา สอดส่อง บุคคลที่เดินทางเข้า-ออกพื้นที่อย่างเข้มงวดสูงสุด” นายอนุวัฒน์ ทองธรรมชาติ กำนันตำบลตาชี อ.ยะหา เล่าให้ฟัง
แน่นอนว่าหลายเรื่องเน้นขอความร่วมมือ แต่ถ้ามีผู้ฝ่าฝืน ก็ต้องตำหนิตักเตือนกัน เพื่อรักษาสังคมส่วนใหญ่เอาไว้ แต่หลักการใหญ่ๆ ที่นำมาใช้คือเน้นขอความร่วมมือ
“เราเน้นย้ำให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนออกนอกบ้าน แต่สำหรับบางคนที่ไม่สวม ก็ได้ทำการตักเตือน และแจกจ่ายหน้ากากอนามัย เพื่อให้ปฏิบัติตนตามมาตรการดูแลป้องกันตนเอง และคนในครอบครัว” กำนันตำบลตาชี กล่าว
และว่า ยุทธศาสตร์เพิ่มเติมที่ทำอยู่ขณะนี้ คือรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนฉีดวัคซีน และทำความเข้าใจว่าการฉีดวัคซีนส่งผลดีอย่างไร
“เราหวังให้พี่น้องประชาชนตระหนักถึงข้อเท็จจริงของการฉีดวัคซีน ซึ่งจะมีผลต่อการหยุดการแพร่ระบาดของโควิด ทั้งใน ต.ตาชี และสังคมส่วนรวม ขณะนี้มีพี่น้องในพื้นที่ร่วมใจลงชื่อเพื่อรับการฉีดวัคซีนแล้วทั้งสิ้น 167 คน คิดเป็น 72.24% ของประชากร ทั้งตำบล” กำนันอนุวัฒน์ กล่าว
เมื่อในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ไม่มีผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วย ความตึงเครียดก็จะลดน้อยลง ประชาชนก็ยิ้มแย้มแจ่มใส
อย่าง นางอัสมะ อีซอ ชาว อ.ยะหา บอกว่า ดีใจมากที่บ้านเรายังไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด ขอชื่นชมทุกคนที่ร่วมปฏิบัติตามมาตรการ และอยากให้ร่วมกันปฏิบัติอย่างต่อเนื่องต่อไป
“รายอที่ผ่านมา และรายอหก (หลังรายอปอซอ 6 วัน) ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการของจังหวัดดีมาก มีการลดการเดินทางไปเยี่ยมญาติที่อยู่ต่างพื้นที่ กินฉลองกันภายในครอบครัว ก็ถือว่าสามารถช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาดได้ดีระดับหนึ่ง” ชาวบ้าน อ.ยะหา ระบุ