ครูใต้สุดทน ยื่นหนังสือคัดค้านกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ "ฉบับประยุทธ์-มีชัย" ผ่าน ส.ส. ส.ว.ชายแดนใต้ ประธานสมาพันธ์ครูฯชี้เป็นการลดคุณค่าและบั่นทอนความรู้สึกของคนในวิชาชีพ
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมโรงแรมเซาท์เทิร์นวิว อ.เมือง จ.ปัตตานี นายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกรรมการสมาพันธ์ฯ ได้ร่วมประชุมกับ ส.ส. และ ส.ว.ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อคัดค้านการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ หรือที่เรียกว่า “กฎหมายการศึกษาฉบับประยุทธ์-มีชัย” ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาเสร็จสิ้น พร้อมกับนำส่งร่างกฎหมายให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
สำหรับ ส.ส. และ ส.ว.ที่เข้าร่วมหารือ ได้แก่ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย, นายสมมุติ เบญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ, นาย อับดุลฮาลิม มินซาร์ และ นายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
ประเด็นที่สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้พิจารณาและมีข้อสังเกตก็คือ หากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ จะส่งผลเป็นการลดมาตรฐานวิชาชีพครู และลดมาตรฐานการศึกษาของประเทศ โดยเฉพาะการยกเลิกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู การยกเลิกสภาวิชาชีพครู รวมถึงได้กำหนดให้มี “หัวหน้าสถานศึกษา” แทนตำแหน่ง “ผู้อำนวยการโรงเรียน” ซึ่งเรื่องนี้เป็นการทำลายขวัญและกำลังใจของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทุกระดับ ทำให้ครูทั่วประเทศ รวมถึงครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รับไม่ได้กับกฎหมายฉบับนี้ จึงได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขและทบทวนหลักการ ตลอดจนสารบัญญัติของกฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับ “ประยุทธ์-มีชัย”
โอกาสนี้ สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ทำหนังสือยื่นผ่าน ส.ส. และ ส.ว.ในพื้นที่ เพื่อเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้รับทราบท่าทีของสมาพันธ์ครูฯ และจะได้พิจารณาแก้ไขใน 3 ประเด็น คือ
1.การลดคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของปวงชนชาวไทย
ร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับ “ประยุทธ์-มีชัย” ให้ยกเลิกมาตรฐานและคุณภาพของครู จากการยกเลิกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ยกเลิกสภาวิชาชีพครู
ที่ผ่านมา “คุรุสภา” มีหน้าที่และอำนาจในการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ควบคุมมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ อันเป็นหลักการสำคัญของการจัดการศึกษาสากลที่มุ่งเน้นให้ครูและผู้บริหารต้องมีมาตรฐานจรรยาบรรณ และเป็นวิชาชีพควบคุม เพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้ปกครองและประชาชนมีความมั่นใจในคุณภาพของผู้เรียนโดยตรง
2.การลดอำนาจการจัดการศึกษาของภาคประชาชน
ร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับ “ประยุทธ์-มีชัย” กำหนดให้อำนาจการบริหารการศึกษาเป็นอำนาจแบบรวมศูนย์ ซึ่งขัดกับหลักการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วม และการตรวจสอบที่โปร่งใส เพราะร่างกฎหมายกำหนดให้อำนาจการบริหารรวมศูนย์อยู่ที่รัฐมนตรี และปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นหลัก จึงขาดความหลากหลายและไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนได้
3.ร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับ “ประยุทธ์-มีชัย” ทำลายขวัญและกำลังใจของผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท
เพราะกฎหมายใหม่กำหนดหลักการและสารบัญญัติให้มีตำแหน่ง “หัวหน้าสถานศึกษา” แทน “ผู้อำนวยการโรงเรียน” และให้ใช้ “ใบรับรอง” แทน “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ” ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพ มาตรฐานของครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ จึงขอเรียกร้องให้ยังคงตำแหน่งและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เอาไว้ในกฎหมายแม่บท คือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ไม่ใช่ตัดออกหรือยกเลิกไป
นายบุญสม กล่าวว่า ด้วยความรู้สึกของผู้ที่เป็นครู รู้สึกว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ สร้างความไม่พอใจกับคนที่ได้ชื่อว่าเป็นครูค่อนข้างมาก เนื่องจาก ความรู้สึกของครูที่ถือว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูงที่เคยมี กำลังจะถูกเปลี่ยนไป
“เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงมีได้ แต่ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่เปลี่ยนแล้วทำให้คุณค่าลดลง หรือบันทอนความรู้สึกของคนทำงาน โดยเฉพาะการยกเลิกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง ให้เป็นใบรับรองต่างๆ จะส่งผลกระทบต่ออนาคตของครูที่มืดมน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเดือน เรื่องความก้าวหน้า และส่งผลต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายๆ ฉบับ”
นายบุญสม ย้ำว่า ใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพครู เป็นหัวใจของคนทำอาชีพนี้ เพราะเป็นตัวกำหนดทั้งมาตรฐานและจริยธรรม
“จะเสียหายอย่างมากแน่ๆ ถ้าครูไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพชั้นสูง รัฐบาลไหนก็ตาม ไม่มีใครที่ไม่มีครูเป็นคนสอน เป็นนายกฯ เป็นรัฐมนตรีได้ เพราะมีครูเป็นผู้สอนฉะนั้นการจะยกย่องครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง มันจะเสียหายอย่างไร” ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งคำถาม
ครูบุญสม กล่าวอีกว่า วันนี้บ้านเมืองกำลังเดินเข้าสู่ยุคที่ไม่มีตัวแทนครูเข้าไปอยู่ในองค์การต่างๆ เลย ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่พอดูในมิติทางการศึกษาแล้ว ประชาธิปไตยไม่ค่อยเกิด โครงสร้างมักจะกระจุกอยู่แต่ด้านบน แทนที่จะกระจายมายังพื้นที่ มายังทุกส่วนของการศึกษา
“ทำไม่ไม่กระจายอำนาจเป็นนิติบุคคลเหมือนที่เคยพูด ครูอยากได้จุดตรงนี้ และในทุกองค์การที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ควรจะมีผู้แทนครูเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันในเรื่องต่างๆ ด้วย แต่ผู้มีอำนาจในปัจจุบันมองว่าครูไม่ใช่วิชาชีพชั้นสูงใช่หรือไม่ ถึงได้ตัดครูออกไป”
“อีกประการหนึ่ง ตำแหน่งทางการบริหาร ซึ่งแต่เดิมเป็นครูใหญ่ เปลี่ยนมาเป็น ‘ผู้อำนวยการโรงเรียน’ และกำลังจะเปลี่ยนเป็น ‘หัวหน้าสถานศึกษา’ อันนี้คืออะไร ขอให้นักเรียนได้นับถือครูบ้าง ให้ผู้ปกครองได้นับถือครูบ้าง จะให้ดูต่ำต้อยไปถึงไหน เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนผิดตรงไหน ครูจะยืนอยู่ในสังคมอย่างมีสง่าราศี ก็ต่อเมื่อเด็กและผู้ปกครองให้การยอมรับ มีความศรัทธาในตัวครู ผมเชื่อว่าถ้าครูไม่ช่วยกันคัดค้าน ไม่ช่วยกันเสริมแต่งให้กฎหมายมันดีขึ้น เชื่อว่าอนาคตทางการศึกษาน่าเป็นห่วง” นายบุญสม กล่าว
เขาบอกทิ้งท้ายว่า ในฐานะประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ รู้สึกเป็นห่วง เพราะสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นจะกระทบต่อวิทยฐานะ ต่อสวัสดิการของครูชายแดนใต้ด้วย เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของครูทั้งประเทศ
“ในยามที่ครูใต้เดือดร้อน ถูกยิงเสียชีวิตถึง 182 คน ครูทั้งประเทศก็ห่วงใยพวกเรา แต่เมื่อเพื่อนครูทั้งประเทศมีความเดือดร้อน จะให้ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่เฉยได้อย่างไร ให้จำไว้ว่าการศึกษาคือเสาหลักของการพัฒนาประเทศ ยามใดการศึกษาขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ประเทศชาติก็จะเจริญ แต่ถ้ายามใดการศึกษาชะงักลง หายนะกำลังจะกลับคืนสู่ประเทศอย่างแน่นอน” ครูบุญสม กล่าวทิ้งท้าย