โควิดชายแดนใต้ยังไม่คลี่คลาย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังเพิ่มขึ้นทุกวัน สงขลาป่วยสะสมทะลุ 1,000 รายแล้ว โรงงานแปรรูปอาหารทะเลจะนะ ประกาศปิดชั่วคราวหลังพนักงานติดเชื้อ 65 ราย ด้านผู้ว่านราธิวาสสั่งตั้ง 571 จุดสกัด ครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั้ง 13 อำเภอ
วันจันทร์ที่ 17 พ.ค.64 รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และ จ.สงขลา สถานการณ์ภาพรวมยังมีแต่ทรงกับทรุด
เริ่มที่ จ.ปัตตานี ณ เวลา 15.00 น. มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมขยับเพิ่มเป็น 277 ราย รักษาหายแล้ว 184 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต
ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 13 ราย โรงพยาบาลสนามหนึ่ง 11 ราย โรงพยาบาลสนามสอง 37 ราย โรงพยาบาลสนามสาม 23 ราย โรงพยาบาลโคกโพธิ์ 3 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณาแอดมิท 5 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 1 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 136 ราย, อ.หนองจิก 75 ราย, อ.โคกโพธิ์ 4 ราย, อ.ยะหริ่ง 24 ราย, อ.สายบุรี 8 ราย, อ.ไม้แก่น 1 ราย, อ.แม่ลาน 1 ราย, อ.ยะรัง 8 ราย, อ.ปะนาเระ 11 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 3 ราย และ อ.มายอ 5 ราย
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 175 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 84 ราย รักษาหายแล้ว 88 ราย เสียชีวิตสะสม 3 ราย รอผลตรวจยืนยันอีก 547 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 45 ราย, อ.กรงปินัง 41 ราย, อ.เบตง 15 ราย, อ.รามัน 61 ราย, อ.บันนังสตา 9 ราย และ อ.กาบัง 4 ราย โดยมีผู้ป่วยที่ยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งสิ้น 84 ราย อยู่ที่โรงพยาบาลยะลา 38 ราย โรงพยาบาลเบตง 1 ราย โรงพยาบาลบันนังสตา 1 ราย และโรงพยาบาลสนาม 44 ราย
จ.นราธิวาส พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11 ราย ในพื้นที่ อ.บาเจาะ 6 ราย, อ.ระแงะ 2 ราย, อ.จะแนะ (จากต่างประเทศ) 2 ราย และ อ.รือเสาะ (จากต่างประเทศ) 1 ราย รวมมีผู้ติดเชื้อสะสม 636 ราย รักษาหายแล้ว 539 ราย เสียชีวิตสะสม 1 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 431 ราย, อ.ระแงะ 17 ราย, อ.รือเสาะ 26 ราย, อ.บาเจาะ 14 ราย, อ.จะแนะ 9 ราย, อ.ยี่งอ 5 ราย, อ.ตากใบ 96 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 7 ราย, อ.สุไหงปาดี 10 ราย, อ.ศรีสาคร 7 ราย อ.แว้ง 10 ราย, อ.สุคิริน 2 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 1 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 43 ราย แยกเป็นกลุ่มสถานบันเทิง 3 ราย กลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่อีก 24 ราย กลุ่มค้นหาเชิงรุกในโรงงาน 15 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 1 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 1,023 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 1,012 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 11 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 315 ราย รักษาหายแล้ว 705 ราย เสียชีวิตสะสม 3 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยัน 135 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 684 ราย, อ.เมืองสงขลา 151 ราย, อ.บางกล่ำ 20 ราย, อ.นาหม่อม 13 ราย, อ.จะนะ 69 ราย, อ.รัตภูมิ 15 ราย, อ.สะเดา 6 ราย, อ.สิงหนคร 9 ราย, อ.เทพา 5 ราย, อ.ระโนด 8 ราย, อ.สะบ้าย้อย 4 ราย, อ.นาทวี 5 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 5 ราย, อ.สทิงพระ 1 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 3 ราย, อ.ควนเนียง 1 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 13 ราย และจากต่างประเทศ 11 ราย
@@ โรงงานจะนะ ประกาศปิดชั่วคราว
สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ จ.สงขลา โดยเฉพาะการระบาดของคลัสเตอร์ใหม่ที่พบ คือ ที่บริษัทสยามอินเตอร์เนชั่นแนลฟู้ด จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปอาหารทะเล ตั้งอยู่ใน อ.จะนะ จ.สงขลา โดยล่าสุดได้รับการยืนยันว่า พนักงานติดเชื้อโควิด-19 สะสมจำนวน 65 ราย (ผลตรวจสะสม ณ วันที่ 16 พ.ค.64 ) โดยพนักงานทั้งหมดที่ได้รับการยืนยันผลว่าติดเชื้อ ได้ถูกนำส่งไปรักษายังส่วนขยายโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (สวนประวัติศาสตร์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกัน บริษัท สยามอินเตอร์เนชั่นแนลฟู้ด ได้มีประกาศเรื่อง ปิดทำการชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ลงวันที่ 16 พ.ค.64 ระบุว่า ตามที่พบผลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มพนักงานของบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบันพนักงานได้รับการตรวจ คัดกรองเชิงรุกแล้วจำนวน 1,064 ราย พบผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมจำนวน 65 ราย (ไทย 16 ราย, เมียนมา 49 ราย) โดยคิดเป็นร้อยละ 6 จากจำนวนพนักงานที่ตรวจคัดกรองทั้งหมด เพื่อความปลอดภัยและความมั่นใจของพนักงานรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ทางบริษัทฯจะทำการตรวจคัดกรองเชิงรุกพนักงานที่เหลือทั้งหมด
และเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง ทางบริษัทฯ จึงเห็นควรหยุดทำการตั้งแต่ วันที่ 17 พ.ค.64 เป็นต้นไป โดยจะเปิดทำการอีกครั้งเมื่อสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้
ความคืบหน้าในการตรวจหาเชื้อของทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ได้ระดมบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาดำเนินการตรวจหาเชื้อเชิงรุก โดยตั้งเป้าตรวจพนักงานคนไทยประมาณ 1,500 คน จะได้รับการตรวจหาเชื้อในวันที่ 17-18 พ.ค. โดยใช้วิธีการตรวจแบบรวดเร็ว Rapid Test ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 15 นาที ก็จะทราบผล หากพบว่า ติดเชื้อจะถูกส่งไปกักตัวและหาเชื้อซ้ำอีกครั้งที่โรงพยาบาลนาทวี
ส่วนของพนักงานที่เป็นแรงงานชาวเมียนมา จะต้องถูกกักตัวภายในแคมป์ที่พักหรือแยกกัก แบบ “บับเบิ้ลแอนด์ซีล” ตามมาตรการควบคุมโรค และจะทำการสุ่มตรวจหาเชื้อแบบที่ใช้ในจังหวัดสมุทรสาคร
@@ คนสงขลาลงทะเบียนฉีดวัคซีนแล้วกว่า 1 แสนราย
ในประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดสงขลา ที่มี นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธาน ได้ประชุมร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมพิจารณามาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
ช่วงหนึ่งของการประชุม มีการรายงานข้อมูลการจองวัคซีนของกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง ณ เวลา 18.00 น. ของวันที่ 16 พ.ค.64 ยอดการจองฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา อยู่ที่ 116,758 ราย โดยจองผ่านแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม จำนวน 40,714 ราย และจองกับเจ้าหน้าที่จำนวน 76,044 ราย
@@ ผู้ว่านราฯ สั่งตั้งจุดสกัด 571 แห่ง คลุม 13 อำเภอ
นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนราธิวาส ได้ออกหนังสือประกาศคำสั่งจังหวัดนราธิวาส ที่ 2599/2564 เรื่อง จัดตั้งด่านตรวจ จุดสกัด เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 ฉบับที่ 3
โดยให้อำเภอพิจารณาจุดตั้งด่านตรวจ/จุดสกัด เพื่อคัดกรองโรคให้ครอบคลุมพื้นที่ ตำบล ชุมชน และหมู่บ้านที่รับผิดชอบ โดยมอบอำนาจให้นายอำเภอพิจารณาแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจ/จุดสกัด เพื่อตรวจสแกนคนที่เข้ามาในพื้นที่ชุมชนหรือคนที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งทางพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจ/จุดสกัด ต้องดำเนินการตรวจวัดอุณหภูมิและสังเกตุอาการผู้เดินทาง สอบถามเหตุผลความจำเป็นและสถานที่ปลายทางจากผู้เดินทางให้ชัดเจน
โดยทางจังหวัดกำหนดให้มีการตั้งให้ด่านตรวจ/จุดสกัด 1 หมู่บ้าน 1 ด่านตรวจ/จุดสกัด ซึ่งในจังหวัดนราธิวาส ทั้ง 13 อำเภอ มีหมู่บ้านทั้งหมด 591 หมู่บ้าน จึงมีการจัดตั้งด่านตรวจ/จุดสกัดขึ้นทั้งหมด 571 แห่ง โดยในพื้นที่อำเภอเมืองนราธิวาส มีทั้งหมด 63 หมู่บ้าน แต่มีการจัดตั้งด่านตรวจจุดสกัด 43 แห่ง เพราะมีจุดตรวจ/จุดสกัดรวมกันระหว่างหมู่บ้าน เนื่องจากเป็นพื้นที่รอยต่อหมู่บ้าน จำนวน 20 แห่ง
@@ เทศบาลเบตงรณรงค์สร้างความเข้าใจการฉีดวัคซีน
วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองเบตง ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอเบตง โรงพยาบาลเบตง, สาธารณสุขอำเภอเบตง พร้อมด้วยสมาชิกสภาเทศบาลเมืองเบตง, ประธานชุมชนในเขตเทศบาลเมืองเบตง และ อสม. ร่วมกันเดินรณรงค์เคาะประตูบ้าน สร้างความเข้าใจกับกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค รวมถึงกลุ่มประชาชน อายุ 18-59 ปี ในเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเน้นการพูดคุยแบบตัวต่อตัว ทำให้คนในชุมชนเข้าใจ และคลายกังวลว่าการฉีดวัคซีนไม่เป็นอันตรายอย่างที่คิดไว้
พร้อมทั้งให้คำแนะนำ ขั้นตอนการลงทะเบียน และการใช้งาน แอปพลิเคชั่น “หมอพร้อม” เพื่อรับสิทธิ์การฉีดวัคซีน ควิด -19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่ประชาชน โดยสามารถติดต่อผ่านทางโรงพยาบาลเบตง หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน จนถึงวันที่ 31 พ.ค.64 เวลา 08.30-16.00 น.และสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “หมอพร้อม” หรือสแกนคิวอาร์โค้ด ผ่านไลน์แอปพลิเคชั่น “หมอพร้อม” ซึ่งประชาชนที่ได้ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะได้รับการฉีดวัคซีน ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.64 จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.64
นายสมศักดิ์ เหมรา ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและ สิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองเบตง กล่าวว่า อยากให้ทุกคนได้มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีนที่ทางรัฐบาลไทยจัดให้ประชาชน ซึ่งก่อนหน้านี้ กลุ่มแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ได้ฉีดวัคซีนแล้ว พร้อมยืนยันว่า วัคซีนที่ดีที่สุด คือ วัคซีนที่อยู่ในร่างกายเรา ส่วนความจำเป็นที่ต้องฉีดวัคซีนก็เพื่อป้องกันความรุนแรงจากอาการเจ็บป่วย รวมทั้งป้องกันการเสียชีวิตได้
--------------
ภาพประกอบจากประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา