โควิดชายแดนใต้ยังมีผู้ติดเชื้อใหม่ทุกจังหวัด ยะลางดละหมาดรายอ พร้อมสั่งปิดเพิ่มอีก 1 หมู่บ้านเสี่ยง รวมเป็น 16 หมู่บ้าน ส่วนปัตตานีสั่งงดละหมาดในมัสยิด 14 วัน ขณะที่สงขลา-เบตงคุมเข้มชายแดนสกัดไวรัสกลายพันธุ์
วันอังคาร์ที่ 11 พ.ค.64 รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้และจังหวัดสงขลา ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมขยับขึ้นในทุกจังหวัด
เริ่มจาก จ.ปัตตานี ณ เวลา 15.00 น. มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 28 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมขยับเพิ่มเป็น 240 ราย รักษาหายแล้ว 70 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 22 ราย โรงพยาบาลสนามหนึ่ง 39 ราย โรงพยาบาลสนามสอง 61 ราย โรงพยาบาลสนามสาม 29 ราย โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 2 ราย โรงพยาบาลโคกโพธิ์ 7 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณาแอดมิท 8 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 1 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 124 ราย, อ.หนองจิก 64 ราย, อ.โคกโพธิ์ 4 ราย, อ.ยะหริ่ง 21 ราย, อ.สายบุรี 7 ราย, อ.ไม้แก่น 1 ราย, อ.แม่ลาน 1 ราย, อ.ยะรัง 3 ราย, อ.ปะนาเระ 6 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 3 ราย และ อ.มายอ 5 ราย
จ.นราธิวาส พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย ในพื้นที่ อ.ตากใบ 1 ราย อ.เมือง 1 ราย และ อ.สุไหงปาดี 1 ราย รวมมีผู้ติดเชื้อสะสม 581 ราย รักษาหายแล้ว 517 ราย เสียชีวิตสะสม 1 ราย
ผู้ติดเชื้อทั้งหมดแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 428 ราย, อ.ระแงะ 15 ราย, อ.รือเสาะ 25 ราย, อ.บาเจาะ 8 ราย, อ.จะแนะ 6 ราย, อ.ยี่งอ 5 ราย, อ.ตากใบ 69 ราย, อ.สุไหงโก- ลก 7 ราย, อ.สุไหงปาดี 6 ราย, อ.ศรีสาคร 4 ราย อ.แว้ง 5 ราย, อ.สุคีริน 1 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 1 ราย (มีผู้ติดเชื้อครบทุกอำเภอ)
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 133 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 95 ราย รักษาหายแล้ว 35 ราย เสียชีวิตสะสม 3 ราย รอผลตรวจยืนยันอีก 1,032 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 34 ราย, อ.กรงปินัง 40 ราย, อ.เบตง 15 ราย, อ.รามัน 39 ราย อ.บันนังสตา 1 ราย และ อ.กาบัง 4 ราย โดยมีผู้ป่วยที่ยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งสิ้น 95 ราย อยู่ที่โรงพยาบาลยะลา 43 ราย โรงพยาบาลเบตง 3 ราย และโรงพยาบาลสนาม 49 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11 ราย เป็นการติดเชื้อภายในประเทศทั้งหมด แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ป่วย 8 ราย และกลุ่มเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง 3 ราย ขณะที่ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 866 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 862 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 4 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 292 ราย รักษาหายแล้ว 571 ราย เสียชีวิตสะสม 3 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยัน 739 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 621 ราย, อ.เมืองสงขลา 125 ราย, อ.บางกล่ำ 19 ราย, อ.นาหม่อม 12 ราย, อ.จะนะ 15 ราย, อ.รัตภูมิ 12 ราย, อ.สะเดา 6 ราย, อ.สิงหนคร 8 ราย, อ.เทพา 5 ราย, อ.ระโนด 8 ราย, อ.สะบ้าย้อย 4 ราย, อ.นาทวี 5 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 5 ราย, อ.สทิงพระ 1 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 3 ราย อ.ควนเนียง 1 ราย และเป็นคนต่างจังหวัด 12 ราย
@@ ยะลาให้มุสลิมงดละหมาดรายอ
วันที่ 11 พ.ค.64 ที่กองอำนวยการร่วมโรงพยาบาลสนาม ภายในโรงเรียนศึกษาพิเศษ เขตพัฒนาพิเศษเขตเฉพาะกิจจังหวัดยะลา นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วย นพ.อินทร์ จันแดง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ยะลา นพ.โนรมาน อัฮมัดมูซา รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ยะลา และ นายอิสมาแอล หะยีมะนุส ผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ร่วมกันแถลงข่าวถึงมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยการให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมในจังหวัดงดการละหมาดอีฎิลฟิตรี ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1442
นพ.โนรมาน กล่าวว่า การหลีกเลี่ยง งดเว้นการละหมาดอีฎิลฟิตรี เพื่อป้องกันไม่ให้มีการระบาดของโรคโควิด-19 มากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากโรคนี้ 30% ไม่แสดงอาการเลย ปัจจัยเสี่ยงที่มีการแพร่เชื้อการติดต่อซึ่งกันและกัน คือการสัมผัสใกล้ชิด โดยเฉพาะการรวมตัวกันจำนวนมาก หากมีแค่ 1 คนติดเชื้อ แต่อยู่ในสถานที่รวมตัวกันจำนวนมาก ความเสี่ยงจะมากขึ้น เมื่อเกิดการแพร่ระบาด บุคลากรทางการแพทย์ต้องไปดำเนินการสอบสวนโรค จะเป็นเพิ่มภาระในการทำงานให้มากยิ่งขึ้น อาจจะต้องมีการปิดพื้นที่ ปิดหมู่บ้าน เพื่อจำกัดพื้นที่ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องงดเว้นการละหมาด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคกระจายตัว
ขณะที่ นายอิสมาแอล กล่าวว่า การละหมาดรายอในครั้งนี้ เราสามารถละหมาดที่บ้านได้ ถือว่าได้รับผลบุญอันยิ่งใหญ่เช่นกัน ซึ่งมีเป้าหมาย 2 ประการ คือ 1.ได้ปฏิบัติตามผู้นำศาสนา เนื่องด้วยโรคระบาด และขอให้โรคระบาดได้หายหมดสิ้นไป 2.ได้ผลบุญจากการละหมาดที่บ้าน ได้ละหมาดกับครอบครัวของเรา แม้คนจะน้อย แต่ได้ผลบุญเช่นกัน
@@ ศบค.ยะลา สั่งปิดเพิ่มอีก 1 หมู่บ้าน
วันเดียวกัน ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จ.ยะลา ได้ออกหนังสือคำสั่งที่ 51/2564 เรื่องการกำหนดพื้นที่เสี่ยง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในพื้นที่ จ.ยะลา (ฉบับที่ 6) โดยกำหนดให้ปิดพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติมอีก 1 หมู่บ้าน คือ หมู่ 8 บ้านกำปงบูเกะ (ชุมชนกำปงบูเกะ ซอยกูโบร์ ) ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา ห้ามมิให้มีการเข้า-ออกพื้นที่หมู่บ้านดังกล่าว
โดยก่อนหน้านี้ทาง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จ.ยะลา ได้ออกหนังสื่อคำสั่งปิดพื้นที่เสี่ยงมาแล้ว 5 ฉบับ ปิดหมู่บ้านไปแล้วทั้งหมด 15 หมู่บ้าน ได้แก่ในพื้นที่ อ.รามัน 9 หมู่บ้าน อ.บันนังสตา 1 หมู่บ้าน อ.กาบัง 2 หมู่บ้าน และ อ.กองปินัง 3 หมู่บ้าน เมื่อรวมกับที่ประกาศปิดเพิ่มอีก 1 หมู่บ้านล่าสุด จึงมีหมู่บ้านที่ถูกปิดทั้งสิ้น 16 หมู่บ้าน
@@ ปัตตานีสั่งงดละหมาดที่มัสยิด 14 วัน
นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดปัตตานี ได้ออกหนังสื่อคำสั่งจังหวัดปัตตานี ที่ (พิเศษ) 31 /2564 เรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ว่าด้วยการปฏิบัติศาสนากิจละหมาดอีฎิลฟิตรี ซึ่งทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปัตตานี เห็นชอบดังต่อไปนี้
1.งดการปฏิบัติศาสนกิจละหมาดที่มัสยิด เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-24 พ.ค.64 ยกเว้นการอาซานเพื่อประกาศบอกเวลาละหมาด
2.งดการจัดกิจกรรมละหมาดอีฎิลฟิตรี ที่มัสยิดและพื้นที่สาธารณะอื่นใด
3.งดการจัดเลี้ยงอาหารและหลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรม ที่มีการรวมกลุ่ม เช่น การเยี่ยมญาติ การเยี่ยมกุโบร์ (สุสาน) เป็นต้น
@@ เบตง - สงขลา คุมเข้มชายแดน
ด้านสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยเฉพาะการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายของแรงงานต่างด้าวและแรงงานไทยที่อาจจะนำเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศมาเลเซียเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทยนั้น
นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ เพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยการลาดตระเวนตามแนวชายแดน เพื่อป้องกันการลักลอบเข้ามาของแรงงานต่างด้าวและแรงงานไทยที่อาจจะลักลอบเข้ามา พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นว่า มีการลักลอบเข้าเมืองให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือโทรสายด่วน 1178
ส่วนในพื้นที่ จ.สงขลา เจ้าหน้าที่ได้ยกระดับคุมเข้มพื้นที่ตลอดแนวชายแดนทั้ง 3 อำเภอ คือ อ.สะเดา อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย โดยมีการจัดกำลังทั้ง ตชด. และทหารหน่วยเฉพาะกรมกรมทหาราบที่ 5 ร้อย ร.5021 ซึ่งรับผิดชอบแนวพรมแดน ให้ออกลาดตระเวนตรวจสอบพื้นที่ตลอดแนวรั้วชายแดนของทั้ง 3 อำเภอ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าเขา ซึ่งอาจถูกใช้เป็นช่องทางลักลอบเข้ามาทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว
สำหรับชายแดนฝั่ง จ.สงขลา มีการวางกำลังคุมเข้มถึง 3 ชั้น ชั้นแรกลาดตระเวนริมรั้วชายแดน ชั้นที่ 2 ตั้งจุดตรวจจุดสกัดทั้งถนนสายหลักและสายรอง และชั้นที่ 3 ประสานฝ่ายปกครองเฝ้าดูแลตามหมู่บ้านตามแนวชายแดน