รอมฎอนปีนี้กำลังจะผ่านไป...
ใกล้ถึงวันเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดเดือนแห่งการถือศีลอด คือ “วันอีฏิลฟิตรี” หรือ “วันอีด” หรือ “วันฮารีรายอ” ของพี่น้องมุสลิมทั่วโลก รวมทั้งที่ชายแดนใต้
“วันอีฎิลฟิตรี” เป็นวันสำคัญและเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ มีทั้งการปฏิบัติศาสนกิจ และแสดงความเอื้ออาทรต่อกัน
“ฮารีรายอ” หรือ “วันอีด” เป็นวันเฉลิมฉลองหลังการถือศีลอด ก่อนวันรายอ มุสลิมจะออกไปจับจ่ายซื้อข้าวของ เสื้อผ้าใหม่ และรองเท้าคู่ใหม่ เพื่อเตรียมสวมใส่ต้อนรับเทศกาล บรรยากาศจะคึกคักเป็นพิเศษ เพราะในวันรายอ มุสลิมทุกคนจะสวมใส่เสื้อผ้าใหม่ หรือชุดที่สะอาดและสวยงาม ก่อนวันรายอ ทุกครอบครัวจะออกไปเลือกซื้อหากันเพื่อเตรียมไว้สวมใส่ในวันสำคัญแห่งปี
ในสถานการณ์ปกติที่ผ่านมา ตามร้านค้าจะคึกคักไปด้วยพี่น้องมุสลิมที่ออกไปจับจ่าย หากตั้งแต่ปีที่แล้วที่โควิด-19 แพร่ระบาด และตรงกับช่วงเดือนรอมฎอน ต่อเนื่องจนถึงปีนี้ วันรายอที่รอคอยของทุกคนจึงเหงาหงอยด้วยมาตรการเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัยจากโควิด เศรษฐกิจก่อนรายอจึงพลอยได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ร้านขายกระเป๋าและรองเท้าแฟชั่นของ “ฮะห์” จาก “ลลิตาช็อป” ที่แยกเปิดท้ายปัตตานี ก็เช่นกัน ฮะห์บอกว่า ขายได้แต่ไม่ดีเท่าปีที่ผ่านๆ มา ดีในระดับหนึ่งช่วงก่อนวันรายอ ลูกค้ามาหาสินค้าใหม่ๆ ราคาย่อมเยา พอดีที่ร้านมีสินค้าที่ราคาไม่สูง รองเท้าไม่เกิน 200 บาท กระเป๋าก็ไม่แพง ทำให้ขายได้ไม่ยาก ถ้าไม่มีโควิดน่าจะทำรายได้สูงกว่านี้อีกหลายเท่าตัว
ขณะที่ “บุ๋ม” เจ้าของร้านทรัพย์รุ่งเรือง ร้านขายรองเท้าเจ้าใหญ่ในเมืองปัตตานี ใกล้ตลาดโต้รุ่ง บอกถึงความตั้งใจในการบริการของร้าน
“ขายรองเท้าให้ถูกที่สุดเพื่อให้ลูกค้าได้มีรองเท้าใหม่ใส่” เธอกล่าวอย่างแน่วแน่ และด้วยราคาที่จับต้องได้ ทำให้ที่ร้านของเธอมีลูกค้าหนาตา
“สภาพการซื้อขายปีที่แล้วดีกว่าปีนี้ เพราะโควิดปีนี้หนักกว่าครั้งก่อน ทำให้คนไม่ค่อยออกมาจับจ่ายมากนัก บวกกับภาวะเศรษฐกิจที่เห็นๆ กันอยู่”
แต่ร้านของ “บุ๋ม” เปิดมานาน จึงมีแต้มต่อที่คนรู้จักเยอะ
“เราเปิดมานาน ลูกค้าประจำค่อนข้างเยอะที่ไว้ใจเราในเรื่องคุณภาพและราคาของสินค้า ราคาไม่แพง เราขายเหมือนเดิม เปิดกันทุกวัน เราทำตามมาตรการรักษาความปลอดภัย มีเครื่องวัดอุณหภูมิและเจลล้างมือ”
ลูกค้ารายหนึ่งที่มาซื้อรองเท้าที่ร้านของ “บุ๋ม” บอกว่า มาซื้อทุกปี ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ต้องมีรองเท้าใหม่ใส่ในวันรายอ
ร้านขายเสื้อวิจายะห์ ย่านจะบังติกอ ที่ "อุสมาน สาและ" ทายาทรุ่นหลานของบาบอฮัจยีอิสมาแอ กับ "เจะมีเนาะ สาและ" ช่วยกันดูแล เป็นอีกร้านที่ยอดขายลดลงเพราะโควิดเช่นกัน
“ปีนี้ขายดีในระดับหนึ่ง แต่ดีไม่เหมือนปีที่ผ่านๆ มาที่คนมาอุดหนุนเยอะ กระตือรือร้นในการหามาสวมใส่ ก่อนรายอปีนี้คนซื้อไม่ค่อยมีรายได้ ปีนี้บางคนก็ใส่ตัวเก่า ซื้อใหม่เฉพาะให้ลูกเท่านั้น พ่อแม่ไม่ต้องซื้อให้ตัวเอง เพราะผลกระทบจากโควิดทำให้ผลพวงตามมากันหมด”
ร้านวิจายะห์ ไม่ขึ้นราคา เพราะมีสินค้าของตัวเอง
“เราผลิตแบรนด์เอง ราคาปกติ จุดเด่นคือคุณภาพของเสื้อผ้าเนื้อดี ตัดเย็บดี ใส่สบาย ไม่ต้องรีด มีอีกสาขาที่โคกโพธิ์ (อำเภอหนึ่งในปัตตานี) อย่างเสื้อตะโละบลางอ ตัวละ 650 บาท”
“สินค้าร้านเราเป็นเสื้อผ้าผู้ชายทั้งหมด ใส่ได้ทุกสถานการณ์ เริ่มต้นทำแบรนด์กันหลังจากปู่ย่ากลับมาจากมักกะฮ์เมื่อ 8 ปีที่แล้ว กลับมาใช้วิชาที่มีเปิดบริษัทมา 7 ปี ผมเป็นหลานชายมาช่วยดูแล”
อุสมานบอกว่า ก่อนโควิดขายดีมาก แต่ตอนนี้พออยู่ได้ มีพี่น้องอีกมากที่แย่กว่า ขอดุอาให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี
เช่นเดียวกับร้าน ELAMIN (แอลลานมีน) บนถนนพิชิตบำรุง เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส "นิสา นิแมเราะ" พนักงานของร้าน บอกว่า ปีนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดีเหมือนปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดอย่างหนัก และราคายางพาราที่ตกต่ำ ทำให้ประชาชนออกมาจับจ่ายน้อยกว่าปีที่ผ่านมา
โดยปกติเฉพาะช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ถ้าเป็นปีอื่นๆ จะมีประชาชนออกมาจับจ่ายเลือกซื้อสินค้ากันอย่างคึกคักและขายของได้ดี แต่ปีนี้เศรษฐกิจย่ำแย่เป็นอย่างมาก แม้ว่าจะมีพี่น้องประชาชนออกมาจับจ่ายซื้อสินค้า แต่ส่วนใหญ่จะเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูก ทำให้ร้านค้าจำนวนมากบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าย่ำแย่
โควิดระลอกนี้ส่งผลกระทบไปทั่ว ทุกคนทุกเพศทุกวัยโดนกันหมด ไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา แต่วันฮารีรายอก็ไม่ได้มีบ่อย แม้เศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร มุสลิมก็จะแข็งใจซื้อหาเสื้อผ้าใหม่ไว้ต้อนรับวันสำคัญ เพราะนั่นคือจิตวิญญาณของมุสลิมที่ไม่ต้องมีคำอธิบาย...