เมื่อถึงเดือนรอมฎอน เดือนแห่งการถือศีลอด หรือ "เดือนปอซอ" ของพี่น้องมุสลิมในชายแดนใต้ พี่น้องมุสลิมทั่วโลกและที่ชายแดนใต้ต่างพร้อมใจกันปฏิบัติตามหลักศาสนา
ไม่ใช่แค่อดอาหารในเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกเท่านั้น แต่ยังมีศาสนกิจแห่งบุญอีกหลากหลายอย่าง เพราะเดือนรอมฎอนคือเดือนแห่งความประเสริฐในการเก็บเกี่ยวผลบุญที่บัญญัติไว้ของอิสลาม
"การถือศีลอด" หมายถึงการตั้งใจประกอบศาสนกิจเพื่ออัลลอฮ์ ด้วยการอดอาหาร งดเครื่องดื่ม และการบริโภคทุกชนิด งดเว้นจากการร่วมประเวณี ระมัดระวังตนเองไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งต้องห้ามของศาสนา และการกระทำในสิ่งที่ไร้สาระ ทั้งทางตา มือ เท้า หู ปาก เริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณจนกระทั่งดวงอาทิตย์ตกดิน ซึ่งการถือศีลอดนั้นไม่ได้จำกัดเพียงเฉพาะการอดอาหารดังที่เข้าใจกันโดยทั่วไป หากยังรวมถึงการระมัดระวังตนมิให้ประพฤติผิดในเรื่องอื่นๆ ด้วย
หัวใจสำคัญของเดือนรอมฎอน คือเดือนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานคัมภีร์อัลกุรอานให้เป็น "ธรรมนูญชีวิต" ของมุสลิมทุกคน เพื่อให้พึงยึดถือและปฏิบัติไว้ให้มั่น การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ก็เพื่อให้ผู้ถือศีลอดได้สัมผัสและรับรู้ถึงความทุกข์ยากลำบากของการดำเนินชีวิต รู้จักอดกลั้นอดทนต่อความทุกข์ยากต่างๆ ด้วยความพากเพียรและสติปัญญา ฝึกฝนจิตใจของมุสลิมให้เป็นผู้มีสติ หนักแน่น มีจิตใจอดทนอดกลั้น ทั้งต่อความหิวโหย ความโกรธ ความปรารถนาแห่งอารมณ์ และสิ่งยั่วยวนต่างๆ สู่การพัฒนาตนเองไปในทางที่ดี จิตสงบ พร้อมที่จะเผชิญและฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ
การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนจึงมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิต การงาน และกิจวัตรประจำวันของมุสลิม นอกเหนือไปจากความยำเกรงและศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะได้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า
ในบัญญัติของศาสนาอิสลาม ให้มุสลิมที่จะถือศีลอดได้จะต้องบรรลุศาสนภาวะ มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และหญิงที่เริ่มมีประจำเดือนจะต้องเริ่มถือศีลอดในปีนั้นๆ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์ ไม่เจ็บป่วย ไม่อยู่ในระหว่างการเดินทาง หากมีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นสามารถขอผ่อนผันได้ โดยเมื่อหายป่วยไข้โดยสมบูรณ์ หรือเสร็จสิ้นจากภารกิจการเดินทาง จะต้องกลับมาถือศีลอดให้ครบตามจำนวนวันที่ขาดหายไป
และผู้ที่ได้รับการยกเว้นเข้าถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ให้จ่ายซะกาต (บริจาค) ประเภทอาหารแก่ผู้ยากไร้เป็นการทดแทน ได้แก่ คนชรา คนป่วยเรื้อรังที่แพทย์วินิจฉัยว่ารักษาไม่หาย หญิงมีครรภ์และแม่ลูกอ่อนที่ให้นมทารก ในกลุ่มแม่ลูกอ่อนนั้นไม่จำเป็นต้องปอซอ เพราะเกรงว่าการถือศีลอดอาจเป็นอันตรายแก่ทารก นอกจากนั้นยังมีบุคคลที่สุขภาพไม่สมบูรณ์ ซึ่งเมื่อเขาถือศีลอดจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ บุคคลที่ทำงานหนัก บุคคลที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น งานในเหมือง งานในทะเลทราย เป็นต้น
ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องยากกับการถือศีลอดครั้งแรกของมุสลิมแต่ละคน และทุกคนต่างก็มีประสบการณ์และความรู้สึกไม่เหมือนกัน ด้วยการเริ่มต้นที่ไม่เท่ากัน บางคนอาจเริ่มฝึกถือศีลอดตั้งแต่วัยอนุบาล ประถม หรือมุสลิมใหม่ที่ฝึกถือศีลอดในวัยหนุ่มสาว ยิ่งในสถานการณ์โควิดระบาดไปทั่วโลกเช่นนี้ มุสลิมยังถือศีลอดกันได้เช่นเดิมหรือไม่
"ปีที่แล้วคือการปอซอครั้งแรก ได้บ้างไม่ได้บ้าง บางวันได้ครึ่งวัน บางวันได้เต็มวัน บางวันน้องสาวที่ยังเล็กก็กินให้เห็น ปอซอได้ประมาณ 10 กว่าวัน พอวันแรกของเดือนบวชปีนี้ปอซอได้เต็มวัน" อัมมาน ยูโซะ วัย 9 ขวบ บอกถึงการปอซอด้วยความตั้งใจของเด็กชายวัยประถม
"ชิลล์ๆ บางวันได้ครึ่งวัน ส่วนใหญ่ได้เต็มวัน" เขาเล่าถึงการถือศีลอดในปีนี้ และว่า "ตั้งใจปอซอให้ได้ทั้งเดือน แต่ละวันไม่หิว รู้สึกปวดท้องบ้างแต่ทนได้ เพราะการถือศีลอดทำให้เรายำเกรงต่ออัลลอฮ์ กับคำสั่งของพระองค์ รู้สึกถึงเวลาที่คนอื่นไม่มีกิน ในแต่ละวันไม่ต้องคิดว่าจะกินอะไรในตอนกลางวัน ไม่เสียเงินซื้อขนมกินเล่น รอเวลาละศีลอดทีเดียว ได้ประหยัดเงินมากด้วย ถึงจะมีโควิดก็ไม่กระทบกับการปอซอ เพราะเราตั้งใจจริง"
ขณะที่ ฟาติมะห์ อาหน่าย เด็กหญิงวัย 11 ปี ที่ปอซอมาเป็นปีที่ 3 ของชีวิต บอกว่า เริ่มปอซอครั้งแรกตอนอายุ 9 ขวบ จากความอยากทำของตัวเอง ปอซอได้เต็มวัน แต่ไม่ครบเดือน จนปีที่ 2 ปอซอได้ทั้งเดือน และปีนี้ปีที่ 3 ตั้งใจปอซอให้ได้ทั้งเดือนเช่นกัน
"ปีนี้ปอซอได้ทั้งวันครบ ตั้งใจให้ได้ทั้งเดือน มีความตื่นเต้นทุกวัน ตอนกลางวันได้ช่วยงานบ้านบ้าง ปีนี้แตกต่างจาก 2 ปีก่อนเพราะตรงกับช่วงปิดเทอม และมีโควิด ทำให้ไม่ได้ออกไปจากบ้านเลย บางวันก็นอนพักกัน น้องชายก็ปอซอด้วยกัน ทำให้มีพลังตั้งใจ ถึงเวลาละศีลอดกับยาย แม่ และน้องชาย จากนั้นก็ละหมาดตะรอเวียะฮ์ด้วยกันในบ้าน เดือนรอมฎอนปีนี้อยู่แต่ในบ้านทุกวันเพราะสถานการณ์โควิด แม่ไม่ให้ออกไปเล่นนอกบ้าน ก็ทำตามแม่บอก เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและทุกคนในบ้านด้วย"
เด็กหญิงวัย 11 ปี ยังบอกถึงคุณูปการจากการถือศีลอด
"การปอซอคือฝึกความอดทนของตัวเอง อดทนเพื่ออัลลอฮ์ ให้ได้ผลบุญมา เป็นประโยชน์กับตัวเอง ทำให้นึกถึงคนที่ไม่มีกิน ต้องอดอาหาร สงสารเขา หากเป็นเราที่ไม่มีอาหารกินในแต่ละวันจะรู้สึกอย่างไร ได้เข้าใจคนอื่นมากขึ้น"
การถือศีลอด เป็นเรื่องราวที่คู่กับคนมุสลิมทุกคน แม้จะผ่านมาเนิ่นนานแต่ก็ยังจำความรู้สึกในครั้งแรกได้ดี อย่าง มัณฑนา แท่นบำรุง วัย 47 ปี บอกเล่าความรู้สึกเมื่อครั้งปอซอตอนเด็กให้ฟังว่า ปอซอครั้งแรกอดทนได้เพียงครึ่งวัน จากนั้นก็บวชเต็มวันได้อีกสิบกว่าวัน
"ตอนนั้นเริ่มปอซอตอน ป.3 ฝึกได้ครึ่งวัน อดทนได้สิบกว่าวัน มาปอซอทั้งเดือนได้ตอน ม.1 เพราะโรงเรียนเดชะปัตตนยานุสรณ์มีชุมนุมอิสลามที่เขาบังคับ อาจารย์อิสมาแอ เป็นผู้ดูแล ตอนนั้นดุมาก ใครไม่ปอซอจะถูกทำงานส่งและท่องจำอัลกุรอาน จึงเลือกที่จะปอซอกับละหมาด ตอน ม.1 และ ม.2 ปอซอครบ เพราะยังไม่มีประจำเดือนและยังไม่เกเร"
"ความรู้สึกครั้งแรกคือตื่นเต้นที่ได้อดข้าวเหมือนพ่อกับแม่ ได้ตื่นเช้าเหมือนทุกคนมากินข้าว ไม่รู้สึกว่าเป็นคนแปลกกว่าคนอื่น รู้สึกว่าตัวเองโตขึ้น จะบอกว่าดีมากๆ รู้สึกว่าวันแรกที่ปอซอเต็มวัน ไม่หิว แข็งแรง แต่พอปอซอติดต่อกันหลายวัน รู้สึกว่าเหนื่อย แต่ไม่ได้หิว อดทนได้ รู้ว่าตัวเองทำได้เหมือนผู้ใหญ่ มีกำลังใจมากจากคำชมของยาย ทั้งที่ยายดุมาก ช่วงนั้นอยู่กับยาย ส่วนพ่อกับแม่ไม่ค่อยบังคับ เป็นเรื่องราวที่ดีที่ยังจำกับการหัดปอซอตั้งแต่เด็ก" มัณฑนา ย้อนคิดถึงวันเก่าๆ
ผลกระทบจากโควิดที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่รอมฎอนปีที่แล้วและในปีนี้ มัณฑนา บอกว่าทำใจอย่างเดียว ซื้อหาของละศีลอดพอประมาณ ไม่ฟุ่มเฟือย และขอดุอาให้สถานการณ์เลวร้ายนี้ผ่านไปโดยเร็ว
ประสบการณ์วัยเด็กของการปอซอของพี่น้องมุสลิม หล่อหลอมให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ยึดมั่นในหลักการที่เข้มแข็ง ปฏิบัติต่อคำสั่งและหนทางของพระผู้เป็นเจ้า และมิได้กีดกั้นการทำดีนี้เฉพาะมุสลิมเท่านั้น เพราะในทางวิทยาศาสตร์มีการยืนยันเช่นกันว่า การถือศีลอดนั้นส่งผลดีต่อสุขภาพอย่างแท้จริง
การถือศีลอดของมุสลิมจึงเป็นการปฏิบัติศาสนพิธีที่มีเนื้อหาสาระเพื่อขัดเกลาจิตใจของผู้ปฏิบัติ ต่อสู้กับอุปสรรคและความยากลำบาก เพื่อให้มีจิตใจมุ่งมั่น หนักแน่น และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กัน ทั้งยังสามารถปฏิบัติได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่เพียงแต่เดือนรอมฎอนเท่านั้น เป็นหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมที่ต้องอาศัยความเกื้อกูลและไมตรีจิตที่ดีต่อกัน
ปอซอปีหน้าเตรียมตัวเตรียมใจมาฝึกถือศีลอดด้วยกัน....