สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ จ.ปัตตานี ยังคงมีผู้ป่วยสะสมเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ทำให้ทางเทศบาลเมืองปัตตานีปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ด้วยการปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่เชื้อ
ประกอบด้วย ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพเทศบาลเมืองปัตตานี (ฟิตเนส) ถนนปัตตานีภิรมย์, ตลาดสดเทศบาลเมืองปัตตานี ถนนยะรัง, ตลาดสดเทศวิวัฒน์ 1 หรือตลาดพิธาน, ตลาดรอมฎอน 2 แห่ง คือ ตลาดจะบังติดกอ (วอกะห์เจ๊ะหะ) และถนนปากน้ำ ตั้งแต่วันที่ 5- 18 พ.ค.64
จะเห็นได้ว่าสถานที่ที่ถูกสั่งปิด 4 จาก 5 แห่ง เป็นตลาด ทั้งตลาดสด และตลาดขายอาหารช่วงเดือนรอมฎอน
แน่นอนว่า การปิดตลาดย่อมส่งผลกระทบต่อพ่อค้าแม้ค้าที่ขายของอยู่ทั้งหมด หากต้องหยุดขาย ก็เท่ากับขาดรายได้ไป 2 สัปดาห์เต็มๆ
แต่พ่อค้าแม่ค้าเกือบทั้งหมดเป็นคนหาเช้ากินค่ำ ขายของรายวัน ต้องมีรายได้ทุกวันจึงจะมีเงินพอสำหรับการจับจ่ายทั้งตัวเองและครอบครัว เมื่อตลาดถูกปิดแบบนี้ เสียงโอดครวญจากบรรดาพ่อค้าแม่ขายจึงดังเป็นพิเศษ และเกือบทั้งหมดไม่ยอมหยุดขาย แต่ย้ายที่ ย้ายแผงออกมาตั้งหน้าตลาดที่ถูกปิดแทน
อย่างที่ตลาดสดเทศบาลเมืองปัตตานี และตลาดเทศวิวัฒน์ 1 หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “ตลาดพิธาน” ต้องปิดตามประกาศคำสั่งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่เคยขายของอยู่ในตลาด พร้อมใจกันนำสินค้าออกมามาวางขายบริเวณริมฟุตบาทหน้าตลาดสดแทน
สินค้าที่นำมาตั้งแผงขาย ก็เหมือนกับที่ขายในตลาด คือมีทั้งอาหารสด อาหารแห้ง ผักและผลไม้ ทุกอย่างเหมือนกับที่เคยขาย เพียงแต่ย้ายมาขายริมฟุตบาทนอกตลาดเท่านั้น ขณะที่ประชาชนก็ยังคงออกจากบ้านมาจับจ่ายซื้อของกันอย่างคึกคัก เพราะถ้าไม่ออกมาซื้ออาหาร ก็ไม่รู้จะมีอะไรกิน ท่ามกลางมาตรการป้องกันของทางจังหวัดอย่างเข้มงวด
บรรดาร้านค้าต่างๆ มีแอลกอฮอล์น้ำ และเจลแฮลกอฮอล์ตั้งไว้ที่แผงขายของ เพื่อให้ลูกค้าใช้ล้างมือ รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้า รวมถึงผู้คนที่มาจับจ่ายซื้อของก็สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด
รอกายะ อูเซ็ง แม่ค้าขายเครื่องแกง ตลาดเทศบาล กล่าวว่า เราป้องกันเต็มที่ ทั้งเตรียมเจลตั้งหน้าร้าน เขียนข้อความให้ลูกค้าใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลที่เราเตรียมตั้งไว้ให้ ทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานและมาตรการที่ทางจังหวัดกำหนด
"เราเข้าใจทางเทศบาลที่ต้องการป้องกันให้เราผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้ แต่ก็อยากให้ ทางเทศบาลเข้าใจเราด้วย ทุกคนก็อยากป้องกัน แต่ปากท้องมันหยุดไม่ได้ ทุกคนมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ ขายของทุกวันนี้ก็ไม่ใช่ว่าขายดี แต่อย่างน้อยก็พอที่จะเลี้ยงครอบครัวได้" รอกายะ กล่าว
แม่ค้าเครื่องแกง บอกอีกว่า ถ้าไม่มีคนขายของ ชาวบ้านจะยิ่งลำบากหนัก เพราะไม่รู้จะกินอะไร จะซื้อของที่ไหน
“เท่าที่สอบถาม ชาวบ้านเขาดีใจนะที่เรามาขายริมฟุตบาทแบบนี้ เราวางขายแบบนี้ก็ไม่แน่ใจว่าทางเจ้าหน้าที่เขาจะว่ายังไงบ้าง แต่ก็ขอให้ขายได้เถิด ให้ชาวบ้านได้ซื้อของ ให้เราได้มีกินบ้าง 14 วันที่ปิดตลาด เราจะกินอะไรถ้าไม่ขายของ แล้วชาวบ้านจะกินอะไรถ้าไม่มีของขาย” รอกายะ ตั้งคำถามที่ไม่ต้องหาคำตอบ
อัทธิ์ชัย แสงสว่าง ลูกค้าที่มาเดินหาซื้อของที่ตลาดเทศบาล กล่าวว่า โควิดก็กลัว แต่ปากท้องก็ต้องกิน มันก็ยากที่จะไม่ออกจากบ้านเลย จริงๆ ก็ระวังตัวแล้ว ใส่หน้ากาก ล้างมือ เต็มที่ ก็อยากให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปโดยเร็ว
“การปิดตลาด..คิดว่าไม่ควรทำ เพราะเรามีวิธีอื่นที่ดีกว่า ก็เห็นอยู่ว่าพอปิดในตลาด ทุกคนก็หามุมออกมาขาย คนซื้อก็หาซื้อของจนได้ อีกอย่างในตลาดพิธาน ไม่มีการเปิดไทม์ไลน์ว่ามีคนติดเชื้อจากตลาดแห่งนี้ หรือมีการแพร่เชื้อจากตลาด จุดนี้อยากให้ภาครัฐเข้าใจชาวบ้าน เพราะชาวบ้านก็เข้าใจรัฐนะ เขาทำตามมาตรากาทุกอย่าง” อัทธิ์ชัย กล่าว
ทุกๆ เช้าในช่วงเวลานี้ มีตลาดสดเฉพาะกิจเกิดขึ้นริมฟุตบาท ทั้งที่หน้าตลาดเทศบาล และหน้าตลาดพิธาน ถือเป็นอีกหนึ่งความย้อนแย้งภายใต้มาตรการสกัดโควิดที่มีความเดือดร้อนและปากท้องของผู้คนเป็นเดิมพัน!