ผู้ว่าฯ ปัตตานี ออกคำสั่งคุมคนเข้า-ออกพื้นที่เสี่ยง ต้องรายงานตัว หลังคลัสเตอร์ "ร้านติดลม" สัมผัสเสี่ยงกว่า 500 ราย ด้านยะลาสั่งงดออกจากบ้าน 4 ทุ่มถึงตีสี่ เริ่ม 1 พ.ค.นี้ ส่วนคณะแพทยศาสตร์ ม.อ. เผยพบสัมผัสเสี่ยงนักศึกษาแพทย์ ติดเชื้อเพิ่มอีกราย
วันพุธที่ 28 เม.ย.64 รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกจังหวัด
เริ่มที่ จ.นราธิวาส พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5 ราย รวมมีผู้ติดเชื้อสะสม 504 ราย รักษาหายแล้ว 397 ราย เสียชีวิต 1 ราย แยกเป็น อ.เมือง 396 ราย, อ.ระแงะ 15 ราย, อ.รือเสาะ 13 ราย, อ.บาเจาะ 8 ราย, อ.จะแนะ 4 ราย, อ.ยี่งอ 5 ราย, อ.ตากใบ 49 ราย, อ.สุไหงโก- ลก 4 ราย, อ.สุไหงปาดี 6 ราย, อ.ศรีสาคร 3 ราย, อ.แว้ง 1 ราย ส่วน อ.เจาะไอร้อง และ อ.สุคิริน ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 39 ราย เสียชีวิต 1 ราย อยู่ระหว่างรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Lab) 646 ราย แยกตามพื้นที่ได้แก่ อ.เมืองยะลา 14 ราย, อ.กรงปินัง 12 ราย และ อ.เบตง 13 ราย
จ.ปัตตานี ณ เวลา 15.00 น. มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมขยับเพิ่มขึ้นเป็น 72 ราย รักษาหายแล้ว 4 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 16 ราย โรงพยาบาลสนาม 46 ราย และโรงพยาบาลค่ายฯ 1 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณาแอดมิท 5 ราย
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ของปัตตานี แยกตามรายอำเภอได้ดังนี้ อ.เมือง 44 ราย, อ.หนองจิก 12 ราย, อ.โคกโพธิ์ 3 ราย, อ.ยะหริ่ง 9 ราย, อ.สายบุรี 2 ราย และ อ.ไม้แก่น 1 ราย
ส่วน จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 52 ราย เป็นผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศทั้งหมด แยกเป็นกลุ่มสถานบันเทิง 13 ราย กลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วย 35 ราย และกลุ่มเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง 4 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 567 ราย ติดเชื้อในประเทศ 563 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 4 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 393 ราย รักษาหายแล้ว 173 ราย เสียชีวิต 1 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 1,151 ราย
เฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อ แยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.หาดใหญ่ 447 ราย, อ.เมืองสงขลา 29 ราย, อ.บางกล่ำ 19 ราย, อ.นาหม่อม 11 ราย, อ.จะนะ 8 ราย, อ.รัตภูมิ 11 ราย, อ.สะเดา 5 ราย, อ.สิงหนคร 4 ราย, อ.เทพา 4 ราย, อ.ระโนด 6 ราย, อ.สะบ้าย้อย 1 ราย, อ.นาทวี 3 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 2 ราย, อ.สทิงพระ 1 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 1 ราย และเป็นคนต่างจังหวัด 11ราย
@@ สัมผัสเสี่ยง นศ.แพทย์ ม.อ. ติดเชื้อเพิ่ม 1
ความคืบหน้ากรณีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ( ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ออกประกาศเมื่อวันที่ 27 เม.ย.64 แจ้งว่ามีนักศึกษาติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 17 รายนั้น
ล่าสุดวันพุธที่ 28 เม.ย. ทางคณะแพทยศาสตร์ ได้ออกประกาศฉบับที่ 2 เรื่อง ผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดและผู้เกี่ยวข้อง โดยทำการตรวจนักศึกษาแพทย์ จำนวน 296 ราย พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1 ราย และไม่พบเชื้อ 295 ราย ส่วนบุคลากรและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ตรวจหาเชื้อ 138 ราย ไม่พบผู้ติดเชื้อ แต่ได้ให้ผู้ที่มีความเสี่ยงทั้งหมดกักตัว และติดตามอาการจนครบกำหนดต่อไป
@@ ผู้ว่าฯ ยะลา สั่งงดออกนอกบ้าน 4 ทุ่มถึงตี 4
นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วย นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา และ พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา (ผบก.ภ.จว.ยะลา) ได้ร่วมกันแถลงมาตรการการเตรียมยกระดับการควบคุมและเฝ้าระวังสถานการณ์โควิด-19
นายชัยสิทธิ์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาพบการแพร่ระบาดใน 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.เบตง และ อ.กรงปินัง ซึ่งยังมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางจังหวัดจึงมีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับมาตรการ ซึ่งมาตรการที่ดีที่สุดคือ การชะลอหรือหยุดการเคลื่อนไหวของประชาชน เพื่อไม่ให้นำเชื้อไปแพร่ตามที่ต่างๆ ดังนั้นการยกระดับมาตรการต้องทำพร้อมกันทุกด้าน ทั้งการคัดกรองผู้มีความเสี่ยงในพื้นที่, การตั้งด่านรอยต่อระหว่างจังหวัด และการห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1-18 พ.ค.64
ขณะที่ นพ.สงกรานต์ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน การระบาดอยู่ในวงที่ 2 คือกลุ่มของผู้สัมผัส ขณะที่วงที่ 1 จะเป็นกลุ่มคนที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงสูงช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ แล้วแพร่เชื้อกับคนในครอบครัว ส่วนที่ อ.เบตง จะเป็นวงที่ 3 คือ เริ่มกระจายออกไปในชุมชน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือจะต้องพยายามเคลียร์ภายในจังหวัดให้เร็วที่สุด เพื่อนำคนที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ระบบให้ได้มากและเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการเสียชีวิต
ด้าน พล.ต.ต.ทินกร กล่าวว่า ในห้วงที่ผ่านมามีการจับกุมจับกุมผู้ไม่สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะไปแล้วจำนวน 4 ราย โดยได้ส่งฟ้องศาลจังหวัดยะลา และได้พิพากษาลงโทษปรับไปแล้ว ส่วนมาตรการการเข้า-ออกจังหวัด ก่อนเข้าเมืองยะลาจะมีการให้สแกนคิวอาร์โค้ดตั้งแต่ก่อนเข้าด่าน และจะมีการลงรายละเอียดต่างๆ ก่อนจะเข้าสู่ตัวเมือง โดยทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และสาธารณสุข ร่วมกันตั้งด่านจำนวน 11 ด่าน
@@ สาธารณสุขเบตง เปิดให้บริการตรวจโควิดกลุ่มเสี่ยง
ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเบตง จ.ยะลา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดได้ร่วมกับสาธารณสุขอำเภอ และกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองเบตง ทำการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 (swab) ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง สำหรับการตรวจครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนที่ทำงานภาคบริการ และพ่อค้าแม้ค้า รวมไปถึงผู้เดินทางมาจาก 18 จังหวัดเสี่ยง
นายวงศ์วิทย์ อัครวโรทัย สาธารณสุขอำเภอเบตง กล่าวว่า ในอำเภอมีผู้ติดเชื้อแล้ว 13 ราย เสียชีวิตไป 1 ราย นายอำเภอเบตง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้เร่งตรวจเชิงรุก เพื่อหาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการในพื้นที่ จะได้นำเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็วที่สุด ตั้งเป้าการตรวจครั้งนี้ประมาณ 1,000 คน ซึ่งหากพบว่ามีอาการไข้ และเข้าข่ายติดเชื้อ จะรับตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลเบตงทันที
@@ ผู้ว่าฯปัตตานี คุมเข้มเดินทางพื้นที่เสี่ยง
ที่ จ.ปัตตานี หลังจากที่ นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดปัตตานี ได้ออกคำสั่งจำกัดกลุ่มผู้ที่เดินทางเข้า-ออกข้ามเขตพื้นที่ จ.ปัตตานี โดยกำหนดให้ผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดพื้นที่เสี่ยง ต้องรายงานตัวกับทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกคน ยกเว้นผู้เดินทางในกรณีดังต่อไปนี้
1. ผู้ขับรถขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น อาหาร เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สินค้าอุปโภค บริโภค สินค้าเกษตรที่จำเป็น น้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุ/สินค้าอุตสาหกรรมไปรษณียภัณฑ์ พัสดุภัณฑ์ หนังสือพิมพ์ และสินค้าเพื่อการนำเข้าและส่งออก เป็นต้น
2. ผู้ปฏิบัติงานในกิจการ/กิจกรรมเพื่อประโยชน์ด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการการสื่อสารโทรคมนาคม การก่อสร้าง การซ่อมบำรุงต่างๆ
3. ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ ยานพาหนะเพื่อการกู้ชีพกู้ภัยฉุกเฉิน รถพยาบาล การธนาคาร การศึกษา การขนส่งประชาชน
4. ผู้เดินทางตามเงื่อนไขในกระบวนการยุติธรรม
5. เจ้าหน้าที่ผู้เดินทางไปปฏิบัติราชการตามข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งต่างๆ ของทางราชการ
ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.64 เป็นต้นไปนั้น
ปรากฏว่าคำสั่งดังกล่าวค่อนข้างคลุมเครือว่าครอบคลุมถึงบุคคลกลุ่มไหนบ้าง ล่าสุด "ทีมข่าวอิศรา" จึงได้สอบถามไปยังผู้ว่าฯปัตตานี ได้รับคำชี้แจงว่า ได้ตั้งด่านทางเข้าเมืองปัตตานี จากฝั่ง จ.สงขลา และจากฝั่ง จ.นราธิวาส ซึ่งทุกคนที่เข้า-ออกช่องทางนี้ ต้องรายงานตัวที่ด่าน บอกที่ด่านว่ามาจากไหน จะไปไหน ถ้าเป็นคนนอกพื้นที่ จะมาทำอะไรที่ปัตตานี ก็ต้องบอกด้วยว่ามาพักกี่คืน หรือถ้าเป็นคนปัตตานีที่ไปนอนหาดใหญ่ หรือนอนนอกพื้นที่ ก็จะต้องบอกด้วยจะกลับไปที่ไหน แล้วให้ไปรายงานตัวต่อ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน)
สำหรับคนปัตตานีเอง เมื่อรายงานตัวที่ด่าน ก็จะส่งข้อมูลไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หากไม่มารายงานตัวตามที่แจ้ง ทางจังหวัดก็จะทราบทันที และจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปคัดกรอง
ที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อของปัตตานีมีทั้งหมด 63 คน ติดมาจาก 2 พื้นที่ คือ จาก จ.สงขลา และจาก จ.นราธิวาส ดังนั้นจึงได้ตั้งด่านเพื่อคัดกรองคนที่เข้าปัตตานี ส่วนฝั่ง จ.ยะลา ถือว่าไม่ใช่พื้นที่เสี่ยง ก็สามารถเดินทางผ่านไปมาได้ตามปกติ ก็เชื่อว่ามาตรการที่มีทั้งหมดตอนนี้จะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ในระดับหนึ่ง ถ้าไม่ได้ก็จะยกระดับขึ้นเรื่อยๆ
@@ จับคนไม่สวมแมสก์แล้ว 20 ราย
"ต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในเรื่องของการสวมใส่หน้ากากอนามัย ตอนนี้เรามีมาตรการเข้มงวดมาก จับมาแล้ว 20 ราย รวมไปถึงเรื่องการรวมตัวทำกิจกรรมเกิน 50 คน คือ ปัตตานีไม่ได้ห้ามการทำกิจกรรมตามหลักศาสนาที่สำคัญ จะทำอะไรก็แล้วแต่อย่าให้เกิน 50 คน และดำเนินการตามมาตรการให้เคร่งครัด ส่วนสถานบริการต่างๆ เราปิดหมดแล้ว ไม่มีการขายสุราแล้วตามประกาศของจังหวัด ส่วนเคอร์ฟิวยังไม่มี เพราะบริบทของปัตตานีกับสงขลา และนนทบุรีที่ประกาศแล้ว ค่อนข้างแตกต่างกัน ที่ปัตตานีอยู่ในช่วงถือศีลอด คนไม่ได้ออกจากบ้านมาก จึงยังไม่จำเป็นต้องประกาศ" นายราชิต ระบุ
ผู้ว่าฯปัตตานี กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการรักษาพยาบาล ได้เตรียมการอย่างครบถ้วน มีเตียงเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กักตัวพี่น้องที่มาจากมาเลเซีย อยู่ตามอำเภอต่างๆ หรือคนที่เสี่ยงสูง ก็มีโรงพยาบาลสนาม เตรียมพร้อม เตรียมรับ ส่วนผู้ที่ติดเชื้อหรือมีโรคแทรกซ้อน ก็จะมีโรงพยาบาลปัตตานี โรงพยาบาลโคกโพธิ์ และโรงพยาบาลยะรัง เพียงพอ ขอให้พี่น้องประชาชนมีความมั่นใจ
"ตอนนี้คลัสเตอร์แพร่เชื้อหลักๆ ของปัตตานี คือจากร้านอาหารติดลม กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ มีประมาณ 500 กว่าคน ทั้งที่ติดเชื้อ ที่เสี่ยงต่ำและเสี่ยงสูง แต่เราบล็อกได้ทั้งหมดแล้ว แต่เรายังไม่มั่นใจว่า นอกจาก 500 คนปรากฏตัวออกมาหมดไหม เราพยายามเฝ้าระวังเต็มที่ ตรงไหนเยอะก็พยายามจะยกระดับขึ้นอีก ส่วนเชื้อที่มาจาก จ.นราธิวาส เรารับมา 2 เคส เคสแรกที่ไปงานศพที่นราธิวาส คือ คนไม้แก่น แล้วไปรักษาตัวที่ ม.อ. แล้วพามาติดพี่น้องที่ อ.หนองจิก ตรงนี้เราก็สามารถควบคุมได้แล้ว และตอนนี้เคสจากไม้แก่นก็กลับบ้านไปแล้ว 4 ราย เหลือรักษา 59 ราย ก็รอดูว่าจะมีเพิ่มอีกหรือไม่" นายราชิต กล่าวในที่สุด