ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงก่อนสัปดาห์สุดท้ายปลายเดือนเมษายน มีเหตุการณ์ที่ "ชุดคุ้มครองตำบล" หรือ ชคต. ตกเป็นเป้าในการโจมตีติดๆ กันถึง 2 วัน 2 เหตุการณ์ คือ เหตุปาระเบิดใส่ฐาน ชคต.จะแนะ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 เม.ย. และเหตุปาระเบิดใส่ฐาน ชคต.ลุโบะบายะ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ในวันถัดมา
เหตุการณ์ที่คนร้ายปาระเบิดใส่ฐาน ชคต.ลุโบะบายะ มีเหตุแทรกซ้อนที่พลิกผันสถานการณ์ โดยในช่วงที่คนร้ายปาระเบิดแล้ว และกำลังหลบหนีโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ปรากฏว่าได้เจอกับ ชป.จรยุทธ์ หรือ "ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์" ของหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานนาวิกโยธินภาคใต้ กองทัพเรือ หรือ ทหารพราน นย. ทำให้คนร้ายเสียชีวิต 1 ราย และจับกุมตัวได้อีก 2 คน
ปัจจุบัน ชุดคุ้มครองตำบล หรือ ชคต. และ ชป.จรยุทธ์ จัดเป็นกองกำลังเกาะติดพื้นที่เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความไม่สงบ และจำกัดเสรีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง การประกอบกำลังใช้กองกำลังประจำถิ่นซึ่งเป็น "คนในพื้นที่" เป็นหลัก เพื่อลดบทบาทของทหารหลักจากกองทัพภาคต่างๆ ที่ถูกส่งเข้ามา และถูกวิจารณ์ว่าเป็นการสร้างเงื่อนไข เพราะไม่รู้พื้นที่อย่างแท้จริง
สำหรับ ชุดคุ้มครองตำบล หรือ ชคต. ปัจจุบันมีทั้งหมด 164 แห่ง กระจายอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวมทั้ง 4 อำเภอรอยต่อของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี
เป้าหมายการจัดตั้ง ชคต. คือต้องมีทุกตำบล ซึ่งในพื้นที่ความมั่นคงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอรอยต่อของสงขลา มีตำบลเป้าหมายจัดตั้ง ชคต.ทั้งสิ้น 288 แห่ง แบ่งเป็น จ.ปัตตานี 57 แห่ง จ.นราธิวาส 51 แห่ง จ.ยะลา 41 แห่ง และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา 15 แห่ง แต่ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ จึงต้องทยอยตั้ง และปัจจุบันตั้งได้แล้ว 164 แห่ง
ฝ่ายความมั่นคงเริ่มจัดตั้ง ชคต.มาตั้งแต่ปี 2556 ตามแผนการถ่ายโอนภารกิจการรักษาความปลอดภัยพื้นที่จากทหารหลักสู่กองกำลังประจำถิ่นและกองกำลังประชาชน โดยอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายปกครอง และได้บรรจุ อส. (อาสารักษาดินแดน) จากประชาชนในท้องถิ่นเข้ามาเป็นกำลังพล ตามยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลความปลอดภัยให้กับชุมชนของตนเอง โดยมีภาครัฐสนับสนุนและให้สวัสดิการ
ปัจจุบัน "ชุดคุ้มครองตำบล" ทั้งหมดอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย ขึ้นตรงกับ บก.ควบคุม อาสาสมัครรักษาดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโครงสร้างกำลังใน 1 ฐานปฏิบัติการ ชคต. จะมีกำลังเจ้าหน้าที่ อส. 36 นาย แบ่งเป็น 3 ชุดปฏิบัติการ ชุดละ 11 นาย ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นคนในท้องถิ่น
การที่กำลัง อส.ของชุดคุ้มครองตำบลส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ตำบลนั้น ทำให้รู้จักคนและรู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี รวมไปถึงอยู่ใกล้ชิดชุมชนและคอยดูแลความสงบเรียบร้อยในชุมชน เป็นข้อดีที่ทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบและแนวร่วมไม่สามารถเข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่หมู่บ้านได้สะดวกเหมือนในอดีต เมื่อไม่ปล่อยให้แนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบมีอิทธิพลต่อชาวบ้าน ย่อมเป็นการแยกประชาชนผู้บริสุทธิ์ออกจากแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบ
นี่คือจุดแข็งของ ชคต. และด้วยจุดแข็งที่ว่านี้ ทำให้ ชคต.กลายเป็นเป้าหมายใหม่ในการโจมตีของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
โดยหากย้อนดูสถิติในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะพบเหตุการณ์ที่ฐาน ชคต.ถูกโจมตีบ่อยครั้ง และหลายครั้งมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต เช่น วันที่ 23 ก.ค.62 คนร้ายโจมตีฐาน ชคต.ปะกาฮะรัง อ.เมืองปัตตานี ทำให้ ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) และ อส.เสียชีวิต 4 นาย, วันที่ 12 ม.ค.63 คนร้ายโจมตี ชคต.ร่มไทร อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ทำให้ อส.เสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บอีก 11 นาย ขณะที่คนร้ายเสียชีวิต 1 นาย เป็นต้น
ในทางยุทธวิธี แม้ ชคต.จะเป็นกำลังติดพื้นที่ แต่ก็เป็นรูปแบบของการตั้งฐาน เป็นยุทธการเชิงรับ เชิงป้องกันเหตุรุนแรง ด้วยการตั้งด่าน ตั้งจุดตรวจจุดสกัด และสอดส่องพื้นที่ ซึ่งในทางกลับกันก็อาจตกเป็น "เป้านิ่ง" ให้ฝ่ายผู้ไม่หวังดีโจมตีได้เหมือนกัน
เหตุนี้เองจึงมีการจัดตั้ง ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ หรือ "ชป.จรยุทธ์" เข้าไปเสริมในรูปแบบของการเป็น "กองกำลังเคลื่อนที่เร็ว" ทั้งลาดตระเวน ตรวจค้น ปิดล้อม และสกัดเสรีการเคลื่อนไหวหรือการหลบหนีของคนร้ายหลังก่อเหตุ
"ชป.จรยุทธ์" ประกอบกำลังจากเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยกำลังในพื้นที่ โดยได้รับการฝึกอบรมและจัดตั้งเป็น ชป.จรยุทธ์ มีหน้าที่ในการลาดตระเวนจรยุทธ์ พิสูจน์ทราบ และกดดันในหมู่บ้าน เพื่อจำกัดเสรีในการปฏิบัติการของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่เป้าหมายให้ครอบคลุม พร้อมทั้งควบคุมพื้นที่ และค้นหาแหล่งหลบซ่อน พื้นที่ฝึก พื้นที่พักพิง จำกัดเสรีภาพและทำลายความพยายามในการก่อเหตุของกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยการตรวจสอบเส้นทางเคลื่อนที่ในพื้นที่ได้มากกว่าเดิม
ในสมัยที่ พล.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ หรือ "บิ๊กเดฟ" เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ได้จัดกำลังเคลื่อนที่เร็ว หรือ "ชป.จรยุทธ์" จำนวน 735 ชุดปฏิบัติการ เข้าไปดูแลหมู่บ้านเป้าหมายทั้ง 1,988 หมู่บ้าน ทำให้ตรวจสอบพบว่ามีหมู่บ้านที่เป็น "หมู่บ้านจัดตั้ง" ของกลุ่มก่อความไม่สงบ และถูกใช้เป็นแหล่งกบดานอยู่ทั้งหมด 188 หมู่บ้าน ซึ่งในการเข้าตรวจสอบของ "ชป.จรยุทธ์" มีการปะทะ จับกุม และพบการแอบสร้างห้องลับใต้ดินภายในบ้าน ให้บรรดาแนวร่วมใช้เป็นที่หลบซ่อนหลังก่อเหตุด้วย
ยุทธวิธีการส่ง "ชป.จรยุทธ์" เข้าไปในหมู่บ้าน เป็นการกดดันและบีบบังคับไม่ให้กลุ่มก่อความไม่สงบอยู่ในหมู่บ้านได้ เพื่อเป็นการสร้างความปลอดภัยให้พื้นที่ในภาพรวม
ปัจจุบันในยุค "บิ๊กเกรียง" พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 มีกำลัง "ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์" ทั้งหมด 336 ชุด ประกอบกำลังจากทหารราบผสมกับทหารพราน จัดตั้งเป็นชุดลาดตระเวนเคลื่อนที่เร็ว ในการออกปฏิบัติการไล่ล่า กดดัน และตรวจค้น รวมไปถึงการเป็นชุดลาดตระเวนที่สามารถตั้งจุดตรวจจุดสกัดแบบไม่ประจำที่ (POP UP) สนับสนุนการไล่ล่าคนร้ายเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น อย่างกรณียิงปะทะกับคนร้ายที่ก่อเหตุปาระเบิดฐาน ชคต.ลุโบะบายะ อ.ยี่งอ ก็เป็นกำลังของ "ชป.จรยุทธ์" ของทหารพรานนาวิกฯ ที่สามารถสกัดกั้นการหลบหนี และวิสามัญฆาตกรรมคนร้ายได้ 1 ราย และจับกุมได้อีก 2 ราย
ยังมีกำลัง "ชุดปฏิบัติการ" อีกประเภทหนึ่งที่มีบทบาทอย่างสูงในภารกิจดับไฟใต้ขณะนี้ คือ "ชป.กร." หรือ "ชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือน" เป็นชุดสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน มีทั้งสิ้น 256 ชุด ใช้กำลังกิจการพลเรือน (กร.) มีภารกิจออกพบปะสร้างมวลชนกับชาวบ้าน รวมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ที่อาจมีข่าวลือข่าวเท็จสร้างความเข้าใจผิด แต่ "ชป.กร." ไม่ได้เป็นกำลังติดอาวุธแบบ ชคต.และ ชป.จรยุทธ์ เรียกว่าเน้นความจริงใจ สร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชน
นี่คือ "กองกำลังเกาะติดพื้นที่" สามรูปแบบที่รับมือกับสถานการณ์ไฟใต้อยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในระยะหลังๆ ที่การโจมตีเริ่มถี่ขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
ภาพอินโฟกราฟิก ชุดคุ้มครองตำบล - ศปป.5 กอ.รมน.