สั่งปิด "หมู่บ้านกีเยาะ" ใน อ.กรงปินัง จ.ยะลา ห้ามเข้า-ออกเด็ดขาด หลังเจอกลุ่มเสี่ยงโควิดหวั่นแพร่เชื้อ แฉเป็นหญิงขายของย่านตลาดใหม่ สัมผัสเสี่ยงกับคนในครอบครัวที่โรงพยาบาลยะลา ด้านนราธิวาสกับสงขลาลุยเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 รองรับผู้ติดเชื้อที่โผล่เพิ่มรายวัน
วันอังคารที่ 20 เม.ย.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงน่าเป็นห่วง โดยเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากอำเภอกรงปินัง จ.ยะลา พร้อมด้วยกำลังอาสารักษาดินแดน (อส.) ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน ได้ร่วมกันกางเต็นท์บริเวณสามแยกบ้านกีเยาะ หมู่ 4 ต.กรงปินัง อ.กรงปินัง พร้อมนำกรวยสีส้มวางปิดทางเข้า-ออกหมู่บ้าน เพื่อไม่ให้ประชาชนผ่านทั้งเข้าและออก ซึ่งถือเป็นการปิดหมู่บ้านแบบ 100%
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่เบื้องต้นทราบว่า ในหมู่บ้านกีเยาะพบกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด 1 ราย เจ้าหน้าที่จึงต้องเร่งปิดหมู่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ประจำที่ว่าการอำเภอกรงปินัง ระบุว่า นายอำเภอได้มีคำสั่งให้ปิดหมู่บ้านกีเยาะ หมู่ 4 เมื่อตอนเย็นของวันอังคารที่ 20 เม.ย. หลังจากพบกลุ่มเสี่ยงโควิด เป็นผู้หญิงขายของอยู่ที่ตลาดใหม่ ในตัวเมืองยะลา และได้สัมผัสกับคนในครอบครัวที่โรงพยาบาลยะลา จึงเข้าข่ายเป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยง ต่อมาหญิงคนนี้ได้กลับเข้ามาอยู่ในชุมชน ทางนายอำเภอจึงใช้มาตรการเด็ดขาดด้วยการปิดหมู่บ้านไม่ให้ผ่านเข้า-ออก เพื่อป้องกันผู้สัมผัสเสี่ยงเพิ่ม
ขณะเดียวกัน ได้ประสานให้ทางโรงพยาบาลกรงปินัง ส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงไปสอบสวนโรคในหมู่บ้าน เบื้องต้นคาดว่าจะมีการปิดหมู่บ้านประมาณ 2-3 วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถคัดกรองสอบสวนโรคชาวบ้านทั้งหมดราว 400-500 คน ขณะที่ในช่วงกลางคืนจะมีเจ้าหน้าที่ อส.เข้าเวรยามเพื่อเฝ้าระวังตลอดเวลา ไม่ให้มีใครผ่านเข้า-ออกหมู่บ้านได้
@@ นราฯเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มแห่งที่ 3
ที่ จ.นราธิวาส นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 ที่ศูนย์พักพิงร่วมใจอุ่นไอรัก หมู่ 3 ต.โคกเคียน อ.เมืองนราธิวาส โดยมี นายแพทย์ วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด พร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์ จิตอาสา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในพิธีเปิดอย่างพร้อมเพรียง
สำหรับโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 สามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวน 100 เตียง มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดกรองและแยกผู้ป่วยตามระดับความรุนแรงของอาการ ซึ่งาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส (สสจ.นราธิวาส) ได้เตรียมความพร้อมของทีมแพทย์และพยาบาลในการดูแลรักษา และอยู่ประจำทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง
นายเจษฎา กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ขณะที่ขีดความสามารถของโรงพยาบาลสนามเรือนจำจังหวัดนราธิวาสแห่งแรก และโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 อาจรองรับผู้ป่วยได้ไม่เพียงพอ และมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ จึงได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 เพื่อรองรับผู้ป่วยเพิ่มเติม และสร้างความมั่นใจให้ชาวนราธิวาส รวมทั้งลดการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ในจังหวัด
สำหรับรายงานสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ (1-20 เม.ย.64) จากศูนย์ EOC COVID-19 จังหวัดนราธิวาส ณ วันที่ 20 เม.ย. มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 17 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 403 ราย รักษาหายแล้ว 271 ราย และเสียชีวิต 1 ราย โดยผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้ง 403 ราย ของจังหวัด แยกตามพื้นที่อำเภอได้ดังนี้ อำเภอเมือง 367 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 249 ราย และนอกเรือนจำ 118 ราย อ.รือเสาะ 13 ราย อ.บาเจาะ 5 ราย อ.ยี่งอ 2 ราย อ.ระแงะ 11 ราย อ.จะแนะ 4 ราย และ อ.สุไหงโก-ลก 1 ราย
@@ สงขลาติดเชื้อเพิ่ม 29 ราย จ่อตั้ง "รพ.สนาม" เพิ่ม
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา (สสจ.สงขลา) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ณ วันที่ 20 เม.ย. จำนวน 29 ราย เป็นผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศทั้งหมด แยกได้ 3 กลุ่ม คือ
- ผู้สัมผัสกลุ่มสถานบันเทิง 22 ราย
- ผู้สัมผัสผู้ป่วย 6 ราย
- สัมผัสผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 1 ราย
ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันสะสมรวม 269 ราย ติดเชื้อในประเทศ จำนวน 265 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 4 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา จำนวน 269 ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยงที่ได้รับการตรวจหาเชื้อในวันนี้อีก 696 ราย
วันเดียวกัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ม.อ. และ สสจ.สงขลา ได้เตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยได้รับการสนับสนุนเตียงจาก SCG (บริษัท ปูนซีเมนต์ไทยฯ) พร้อมอาหาร 3 มื้อ เลี้ยงได้มื้อละ 500 คน จากครัวพระราชทาน
นับเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 ของ จ.สงขลา ขณะที่โรงพยาบาลสนามอีก 2 แห่งคือ โรงพยาบาลสนาม จิตเวชสงขลา มีผู้ป่วยจำนวน 48 ราย และโรงพยาบาลสนาม สวนประวัติศาสตร์ มีผู้ป่วย 12 ราย ส่วนผู้ป่วยที่เหลืออยู่ในโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนใน จ.สงขลา จำนวน 15 โรงพยาบาล
@@ ยะลาเตรียม "รพ.สนาม" 140 เตียง
อีกด้านหนึ่ง นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้เดินทางไปยังโรงเรียนศึกษาพิเศษเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต.บุดี อ.เมืองยะลา ซึ่งทางจังหวัดเตรียมเปิดเป็นศูนย์สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หรือ "โรงพยาบาลสนาม" เพื่อรองรับกับสถานการณ์ผู้ป่วยโควิดที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต
นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวว่า การดำเนินการเป็นไปตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดยะลา เพื่อสนองนโยบายงรัฐบาลที่ต้องการให้มีโรงพยาบาลสนามเกิดขึ้นในทุกจังหวัด คาดว่าในวันจันทร์ที่จะถึงนี้จะสามารถเริ่มทดลองใช้ระบบได้ ส่วนความจุของเตียงผู้ป่วยนั้นจะสามารถรองรับได้ประมาณ 140 เตียง
ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ของ จ.ยะลา ณ วันที่ 20 เม.ย. ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ยอดผู้ป่วยสะสมคงที่ 7 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต สำหรับผู้ป่วย 7 ราย ขณะนี้ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลยะลา และโรงพยาบาลเบตง ในจำนวนนี้ไม่แสดงอาการ 3 ราย มีอาการป่วยเล็กน้อย 4 ราย
@@ แม่ทัพภาค 4 ตรวจ "รพ.สนาม" ในค่ายทหาร
ที่ด่านศุลกากรสะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์และแนวทางการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ด่านตรวจคนเข้าเมือง และกองกำลังป้องกันชายแดน
พล.ท.เกรียงไกร กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับคนไทยที่จะเดินทางกลับเข้าประเทศอีกระลอก ทั้งแบบถูกกฎหมายและช่องทางธรรมชาติ เนื่องจากทางการมาเลเซียเร่งผลักดันชาวต่างชาติที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานออกจากประเทศ ตนจึงได้ประสานจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ติดชายแดนมาเลเซีย ให้มีมาตรการรับมือ ทั้งเรื่องของสถานที่สำหรับรองรับกลุ่มคนที่จะทะลักเข้ามา ทั้งยังได้สั่งการให้หน่วยกำลังทุกหน่วยประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนหน่วยงานสาธารณสุข ปฏิบัติตามแผนมาตรการควบคุมโรค เช่นเดียวกับการระบาดระลอกก่อนหน้านี้
ส่วนพื้นที่ชายแดน อ.สะเดา นั้น แม้จะมีแนวรั้วชายแนวเป็นระยะทางยาว แต่มักพบว่ามีการลักลอบทำลายรั้วชายแดนอยู่บ่อยครั้ง จึงได้สั่งการให้หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 5 กองกำลังเทพสตรี เพิ่มความเข้มงวดในการลาดตระเวน ตรวจสอบ หากพบรั้วถูกลักลอบตัดทำลาย ให้รีบซ่อมแซม สร้างเครื่องบอกเหตุโดยทันที
จากนั้น แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เดินทางไปยัง กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 5 ค่ายมหาจักรีสิรินธร อ.นาทวี จ.สงขลา เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินการเตรียมความพร้อมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก ที่ให้หน่วยทหารในพื้นที่สนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม พร้อมบุคลากรทางการแพทย์ โดยใช้สถานที่โรงนอนของหน่วยฝึกทหารใหม่ จัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม ซึ่งโรงพยาบาลสนามในค่ายมหาจักรีสิรินธรรองรับผู้ป่วยได้ 100 เตียง พร้อมกับนำเทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์มาใช้ เพื่อลดการสัมผัสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
@@ ทหาร-ฝ่ายปกครองเบตงร่วมลาดตระเวนชายแดน
ที่กองร้อยป้องกันชายแดนที่ 4 ต.ธารน้ำทิพย์ อ.เบตง จ.ยะลา นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง พร้อมด้วย ร.อ.เอกชัย ไชยสาลี ผู้บังคับกองร้อยป้องกันชายแดนที่ 4 ได้จัดชุดจรยุทธ์ออกเดินเท้าลาดตระเวนเส้นทางธรรมชาติตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อเฝ้าระวังและสกัดกั้นเเรงงานข้ามชาติไม่ให้มีการลักลอบผ่านช่องทางธรรมชาติเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ตามนโยบายของแม่ทัพภาคที่ 4
สำหรับแนวชายแดนด้าน อ.เบตง ส่วนใหญ่เป็นป่าเขาและหุบเหว ส่วนที่เป็นที่ราบก็มีกำแพงคอนกรีต และรั้วลวดหนามกั้นเป็นทางยาว จึงพออุ่นใจได้ระดับหนึ่ง เพราะการข้ามเข้า-ออกเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ประมาท ได้จัดให้มีการลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง และมีการตั้งด่านลอยตามจุดต่างๆ ด้วย