มีความคืบหน้ากรณีที่ "สำนักข่าวอิศรา" ตรวจพบข้อมูล บริษัทกัญจน์ณพัฒน์ จำกัด หรือชื่อเดิมว่า บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็น 1 ใน 6 เอกชนที่เคยมีคดีฟ้องร้องข้อหาฉ้อโกงกับหน่วยงานรัฐในการจัดซื้อเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดและสารเสพติดแบบมือถือ รุ่น "อัลฟ่า 6" ยังคงทำสัญญาซื้อขายกับหน่วยงานรัฐตามปกติ และยังไม่ได้ถูกขึ้นบัญชีดำเป็นผู้ทิ้งงาน (Blacklist) หลังจากแพ้คดีหน่วยงานรัฐในชั้นศาล ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
โดยหน่วยงานที่เป็นคู่สัญญา คือ กรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก ในโครงการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุต้องสงสัยซุกซ่อนแบบเดินผ่านชนิดเสา (Contraband Pole Detection) วงเงิน 3,250,000 บาท จัดซื้อกันในช่วงเดือน ก.ค.2563 เพื่อสนับสนุนหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพราน ตามโครงการจัดหายุทโธปกรณ์สนับสนุนหน่วยในการปฏิบัติภารกิจในสามจังหวัดชายแดนใต้ ประจำปีงบประมาณ 2563
ประเด็นที่เป็นข้อสงสัยและอาจเป็นความไม่โปร่งใสที่ "สำนักข่าวอิศรา" ตรวจสอบพบ มี 2 ประเด็นหลักๆ คือ
1. เหตุใดกองทัพบกจึงจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุต้องสงสัยฯ กับบริษัทที่เคยถูกดำเนินคดีฐานฉ้อโกงหน่วยงานรัฐด้วยกัน
และ 2. บริษัท กัญจน์ณพัฒน์ จำกัด หรือชื่อเดิมคือ บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ที่เคยถูกหน่วยงานรัฐฟ้องร้อง กับ บริษัท โชติกะธัญศิษฐ์ จำกัด ที่เข้าซื้อซองและยื่นซองแข่งขันเสนอราคาโครงการนี้ ใช้เบอร์โทรศัพท์และอีเมลเดียวกัน แม้จะอ้างที่อยู่ซึ่งเป็นที่ตั้่งบริษัทคนละที่กันก็ตาม
แหล่งข่าวระดับสูงจากกองทัพบก ชี้แจงข้อสงสัยที่เกิดขึ้นว่า กรมการทหารสื่อสารฯ ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ส่วนบริษัทคู่สัญญานั้น จากการสอบถามไปยังกรมบัญชีกลาง ไม่พบว่าถูกขึ้นบัญชีดำ หรือ "แบล็คลิสต์" จึงแปลว่าสามารถเป็นคู่สัญญากับหน่วยได้
ส่วนที่ตรวจสอบพบว่า บริษัท กัญจน์ณพัฒน์ จำกัด ผู้ชนะการประมูล และขายสินค้าเครื่องตรวจจับวัตถุต้องสงสัยฯ ให้กับกรมการทหารสื่อสารฯ ใช้เบอร์โทรศัพท์และอีเมลเดียวกันกับบริษัทที่ยื่นซองราคาเป็นคู่เทียบนั้น แหล่งข่าวจากกองทัพบก ระบุว่า ทางผู้บังคับบัญชาเห็นข่าวแล้ว แต่เป็นเรื่องนอกเหนือการตรวจสอบของกองทัพบก เพราะอำนาจหน้าที่ของกองทัพบกคือตรวจสอบคู่สัญญาว่ามีสินค้าตรงตามสเปคและรายละเอียดต่างๆ ตามที่หน่วยต้องการหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้ถึงขั้นตรวจสอบที่อยู่ของบริษัท เข้าใจว่าเรื่องที่อยู่หรือการจดทะเบียนต่างๆ น่าจะเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานอื่น
ขณะเดียวกัน "สำนักข่าวอิศรา" ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากสำนักงานตรวจสอบบัญชีแห่งหนึ่ง ทราบว่าเบอร์โทรศัพท์และอีเมลที่ปรากฏในข้อมูลของบริษัททั้ง 2 แห่งนั้น เป็นเบอร์โทรศัพท์ของสำนักงานตรวจสอบบัญชี ขณะที่อีเมล เป็นของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัญชี เพราะทั้ง 2 บริษัท เป็นลูกค้าของสำนักงานตรวจสอบบัญชีแห่งเดียวกัน
สำหรับเครื่องตรวจจับวัตถุต้องสงสัยซุกซ่อนแบบเดินผ่านชนิดเสา (Contraband Pole Detection) นั้น เท่าที่ "ทีมข่าวอิศรา" ตรวจสอบข้อมูลสเปคและคุณสมบัติในอินเทอร์เน็ต พบว่า ตัวเครื่องมีการทำงานเหมือนกับเครื่องตรวจจับวัตถุหรือโลหะในแบบที่เป็นช่องทางเดิน ซึ่งเห็นได้ตามสนามบินหรือตามทางเข้างานสำคัญต่างๆ ที่ทางเจ้าหน้าที่นำมาใช้เพื่อตรวจบุคคลที่เข้า-ออกพื้นที่ โดยจะตรวจจับวัตถุที่เป็นโลหะ อาวุธมีด อาวุธปืน หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์สื่อสารต่างๆ แม้อุปกรณ์เหล่านั้นจะไม่มีแหล่งพลังงานหรือปิดเครื่องก็ตาม
เครื่องตรวจจับวัตถุต้องสงสัยรูปแบบนี้ จะมีลักษณะเป็นแท่น และมีเสาสูงประมาณ 180 เซนติเมตร ทำงานโดยมีแบตเตอรี่ในตัว บางรุ่นสามารถใช้งานต่อเนื่องได้ตั้งแต่ถึง 17 ชั่วโมง - 24 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับขนาดความจุของแบตเตอรี่ ซึ่งจะแตกต่างจากเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัยแบบที่เป็นช่องประตู ซึ่งจะต้องใช้แหล่งพลังงานไฟฟ้าด้วยการเสียบปลั๊กไฟตลอดเวลา ทำให้ไม่สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายเหมือนแบบเสา
การทำงานของเครื่องหลังจากที่เปิดใช้งาน จะส่งเสียงและสัญญาณไฟเตือนเมื่อมีบุคคลพกพาวัตถุต้องสงสัยเดินผ่าน ซึ่งเครื่องบางรุ่นสามารถระบุตำแหน่งของวัตถุต้องสงสัยที่ซุกซ่อนมาได้ว่าอยู่ระดับใดของร่างกาย ทำให้ง่ายและประหยัดเวลาในการตรวจค้น
จุดเด่นของเครื่องตรวจจับวัตถุต้องสงสัยแบบเสา นอกจากจะสะดวกต่อการนำไปใช้ในสถานที่ต่างๆ เพราะขนาดที่พกพาได้ และเคลื่อนย้ายได้ด้วยคนเพียงคนเดียว และมีพลังงานในตัวแล้ว ทั้งยังเหมาะกับการนำไปใช้แบบที่ไม่ต้องการให้บุคคลรู้ตัว โดยการอำพรางหรือซุกซ่อนเครื่องไว้ตามทางเข้าสถานที่ และใช้การส่งสัญญาณแจ้งเตือนผ่านเครื่องรับด้วยสัญญาณคลื่นวิทยุเป็นเสียงทางเครื่องรับ แทนการส่งสัญญาณเสียงและไฟแจ้งเตือนที่ตัวเครื่องโดยตรง
เครื่องตรวจจับวัตถุต้องสงสัยแบบเสา ในต่างประเทศมีใช้กันแพร่หลายทั้งในหน่วยงานรัฐและเอกชน อย่างที่พบเห็นได้บ่อยๆ คือตามทัณฑสถานต่างๆ รวมไปถึงบริษัท หรือโรงงานที่ต้องการเพิ่มความเข้มงวดในการนำวัตถุเข้า-ออก รวมถึงอุปกรณ์บันทึกข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่น แฟลชไดร์ฟ เพื่อป้องกันการลักลอบนำความลับต่างๆ ของบริษัทออกไปภายนอก
ส่วนวัตถุประสงค์ของการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุต้องสงสัยซุกซ่อนแบบเดินผ่านชนิดเสานั้น ทางกองทัพบกแจ้งวัตถุประสงค์ว่า เพื่อสนับสนุนภารกิจของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานในสามจังหวัดชายแดนใต้ ประจำปีงบประมาณ 2563 "ทีมข่าวอิศรา" จึงลงพื้นที่ไปสอบถามเจ้าหน้าที่บริเวณด่านตรวจและจุดสกัดต่างๆ เพื่อขอทราบถึงประสิทธิภาพการใช้งาน แต่เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าไม่เคยได้ยินและยังไม่เคยเห็นอุปกรณ์ชนิดนี้
เจ้าหน้าที่ทหารนายหนึ่ง เปิดเผยกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า วันพุธที่ 7 เม.ย.64 มีการประชุมระดับผู้บังคับบัญชาของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) และมีวาระประชุมเกี่ยวกับเครื่องตรวจจับวัตถุต้องสงสัยซุกซ่อนแบบเดินผ่านชนิดเสา โดยมีการแจ้งกับผู้แทนหน่วยกำลังที่เข้าประชุมว่า จะมีการส่งมอบให้หน่วยเฉพาะกิจ หรือ ฉก.ต่างๆ ในพื้นที่เร็วๆ นี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า เครื่องตรวจจับวัตถุต้องสงสัยฯรุ่นนี้ จัดซื้อจากบริษัทผู้ขายเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด อัลฟ่า 6 ซึ่งเป็นอุปกรณ์ลวงโลก ทางหน่วยในพื้นที่คิดอย่างไร เจ้าหน้าที่ทหาร ตอบว่า ทั้งเครื่อง "จีที 200" และ "อัลฟ่า 6" ทำให้อุ่นใจได้ และทุกครั้งที่ใช้ก็สามารถตรวจพบวัตถุต้องสงสัยหรือยาเสพติด ฉะนั้นไม่ว่าฝ่ายอื่นๆ จะเห็นอย่างไร แต่สำหรับกำลังพลที่ต้องเสี่ยงชีวิต การมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ช่วยทำให้อุ่นใจ ย่อมดีกว่า และอุปกรณ์ จีที 200 หรือ อัลฟ่า 6 ก็ต้องใช้ควบคู่กับอุปกรณ์อื่นๆ เช่น เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ จึงจะได้ผล ยืนยันว่าการมีอุปกรณ์ไว้ใช้ ดีกว่าไม่มี เพราะทำให้อุ่นใจ และคนที่ไม่ต้องเจอกับความเสี่ยงไม่มีทางเข้าใจ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ www.indiamart.com