หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2555 หรือ 9 ปีที่แล้ว วันนั้นคือวันวินาศสันตะโรวันหนึ่งของเมืองหาดใหญ่ ศูนย์กลางเศรษฐกิจภาคใต้ตอนล่างของ จ.สงขลา
เพราะเกิดระเบิด "คาร์บอมบ์" ภายในอาคารจอดรถชั้นใต้ดินของโรงแรมลีการ์เดนส์พลาซ่า โรงแรมและย่านการค้าที่คึกคักที่สุดของหาดใหญ่ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บนับร้อยคน
กัมปนาทแห่งเสียงระเบิดสะเทือนถึงภาวะเศรษฐกิจของเมืองหาดใหญ่ที่ทรุดหนักอยู่แล้ว ให้ย่ำแย่ลงไปอีก นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและชาติอื่นแทบไม่มีใครกล้าแวะเวียนมาเยี่ยมเยือน เพราะเหยื่อระเบิดที่สังเวยชีวิตเป็นนักท่องเที่ยวชาวมาเลย์ด้วย ทุกภาคส่วนทั้งราชการและเอกชนต้องใช้เวลามากกว่าครึ่งปีจึงเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ระดับหนึ่ง
แต่สถานการณ์ก็ดีได้ไม่นาน หาดใหญ่ก็ต้องซบเซาอีกครั้งจากการเติบโตของ "ด่านนอก" อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวชายแดนที่เจริญพรวดๆ ขึ้นอย่างรวดเร็ว
พื้นที่เพียงตำบลเดียว (ต.สำนักขาม) มีร้านสะดวกซื้อมากกว่า 10 แห่ง ที่สำคัญด่านนอกอยู่ติดกับพรมแดนไทย-มาเลเซีย และมีทุกอย่างไม่ต่างจากหาดใหญ่ โดยเฉพาะสถานบันเทิงยามค่ำคืน "ด่านนอก" จึงเป็นเสมือนด่านดักนักท่องเที่ยวไม่ให้เข้ามาถึงหาดใหญ่ แต่กองอยู่ที่ด่านนอกแทน
ผ่านยุคโชติช่วงมาถึงคราวร่วงโรย ทั้งด่านนอกและหาดใหญ่กำลังหงอย กลับมาเจอโควิด-19 ซ้ำเข้าไปอีก รัฐบาลมาเลเซียสั่งปิดด่าน ปิดพรมแดนนานกว่า 1 ปีแล้ว ทำให้ถนนเสน่หานุสรณ์ ซึ่งเป็น "ถนนคนเดิน" หน้าโรงแรมลีการ์เดนส์พลาซ่า ในฐานะ "เสน่ห์" ของเมืองหาดใหญ่ คงเหลือไว้แต่ความซบเซา เงียบสงัด สาหัสกว่าทุกวิกฤติที่ผ่านมา
"ทีมข่าวอิศรา" ลงพื้นที่จริง และพบเพียงถนนโล่งๆ ที่มีแต่ความเงียบเหงา ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเลยแม้แต่คนเดียว พ่อค้า แม่ค้า ตลอดจนแผงขายของที่เคยมีอยู่เดิมก็หายไป แม้เจ้าของพื้นที่จะเปิดให้ขายฟรี ไม่ต้องเสียค่าเช่า ยังไม่มีใครมาขาย โล่งไปทั้งถนน แม้กระทั่งร้านสะดวกซื้อชื่อดังริมถนนสายนี้ยังต้องปิดกิจการชั่วคราวถึง 3 สาขา
ส่วนโรงแรมลีการ์เดนสฺ์พลาซ่า แม้จะยังคงเปิดให้บริการตามปกติ แต่ก็ต้องทำโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้มีแขกเข้าพักมากขึ้น ส่งผลให้บรรยากาศโดยรวมแทบร้าง
นางอัญชลี แช่ปั่ว แม่ค้าวัยแซยิดที่ขายของย่านลีการ์เดนส์ฯ เล่าว่า ตอนนี้ขายน้ำ 3 ขวด 20 บาท ยังไม่มีใครซื้อ คนไม่มีเลย เพราะมาเลเซียปิดประเทศจากโควิด-19 คนหายไปหมด เหตุระเบิดเมื่อปี 55 ยังไม่หนักเท่าโควิด ตอนระเบิดที่ลีการ์เดนส์พลาซ่า คนก็แค่กลัว แต่ก็ยังนักท่องเที่ยวอยู่ มาเที่ยวแบบระวัง ทุกคนช่วยกันระวัง แต่โควิดหนักกว่า เพราะคนหายไปหมดเลย
"เริ่มจากแรกๆ ช่วงปีที่แล้ว เขาประกาศห้ามขาย 3 เดือน ต่อมาเขาทำถนนใหม่บริเวณหน้าลีการ์เดนส์พลาซ่า ปิดถนนไปอีก เพิ่งมาเปิดขายต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมานี้ ก็เลยมาขาย เพราะไม่อยากอยู่เฉยๆ ไม่อยากอยู่บ้านแล้วตัวเองกับแฟนเป็นโรคซึมเศร้า เดือน มี.ค.ทั้งเดือนขายของได้ไม่ถึง 3 พันบาท บางวันขายไม่ได้เลย จากปกติขายได้วันหนึ่งหลักหมื่นขึ้น" แม่ค้าวัย 60 ปี กล่าว
อัญชลี คาดหวังว่า วันที่ 1 ต.ค.นี้ ที่มาเลเซียประกาศเปิดประเทศ น่าจะเป็นโอกาสของพวกตนอีกครั้ง
แม่ค้าอีกรายหนึ่ง เล่าเสริมว่า ผู้ค้าทุกคนแถวนี้ แม้จะเปิดให้ขายฟรี ไม่ต้องเสียค่าเช่า ก็ไม่มีใครอยากมาขาย เพราะขายไม่ได้ ไม่มีคน
"ระยะเวลาที่เราเจอปัญหามันนานเกินไป จนทุกคนปิดกิจการไปมากกว่าที่ยังมีอยู่ แม้แต่ร้านเซเว่นฯ ก็ปิดไป 3 สาขา หลายซอยแม่ค้าหายไปทั้งซอยเลย เขาไม่กล้ามาขาย เพราะเขามาก็ไม่รู้จะขายใคร"
"จริงๆ ก็อยากให้พ่อค้าแม่ค้าทุกคนมาขายของตามปกติ อย่างน้อยก็ไม่ทำให้มันดูแย่แบบนี้ ถ้าทุกคนมาขายปกติ เชื่อว่านักท่องเที่ยวในประเทศก็ยังพอมีอยู่ และจะมาเที่ยว แต่ทุกวันนี้ คนที่ยังขายของอยู่ เปิดร้าน 10 โมงกว่าๆ ตก 5 โมงเย็นก็ปิดแล้ว กลางคืนนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย ไม่มีแม้แต่ร้านเดียว"
ขณะที่พ่อค้า ย่านถนนเสน่หานุสรณ์ ให้ข้อมูลไม่ต่างกันว่า ที่ลีการ์เดนส์พลาซ่าไม่มีลูกค้าเลย สาเหตุมาจากโควิด
"คนไม่ได้กลัวระเบิดเมื่อเหมือนหลายปีก่อนนะ แต่เขากลัวโควิด เพราะโควิดทำให้ทุกอย่างพังหมด ทำให้แถวนี้แทบเป็นเมืองร้าง ตอนเกิดเหตุระเบิดยังเสียหายไม่เท่า สถานการณ์โควิด ย่านนี้นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย นักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซีย คือเป้าหมายหลัก แต่พอปิดประเทศ คนเหล่านั้นไม่มา คนที่นี่แย่หมดเลย"
นี่คือคำบอกเล่าของเหล่าบรรดาพ่อค้าแม่ขายชาวหาดใหญ่ ในวันครบรอบ 9 ปี เหตุระเบิดคาร์บอมบ์ที่ลีการ์เดนส์พลาซ่า แทบไม่น่าเชื่อว่าวิกฤติโรคระบาดซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ซบเซายิ่งกว่าเสียงระเบิดและความรุนแรง
@@ โรคระบาดกดตัวเลขค้าไทย-มาเลย์วูบ
ข้อมูลจากสำนักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือ ระหว่างปี 2559-2563 การค้าระหว่างไทยกับมาเลเซีย มีมูลค่าเฉลี่ยประมาณปีละ 21,860.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
แต่ในปี 2563 ซึ่งเกิดวิกฤติโควิด การค้ารวมไทย-มาเลเซีย มีมูลค่าเพียง 18,945.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 18.08 โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ามูลค่า 1,477.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เข้มงวดของมาเลเซีย ยิ่งส่งผลให้การบริโภคสินค้าภายในประเทศลดลง โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าที่มีมูลค่าสูง การนำเข้าสินค้าบางประเท เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ลดลงถึงร้อยละ 35
อย่างไรก็ดี มาเลเซียมีการนำเข้ายางพาราจากไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12.06 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลให้ความต้องการถุงมือทางการแพทย์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้มาเลเซียซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตถุงมือทางการแพทย์รายใหญ่ที่สุดของโลก มีความต้องการนำเข้ายางพาราเพื่อนำไปผลิตถุงมือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลเพิ่มเติมจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ระบุว่า ปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างไทยกับมาเลเซีย ยังมีปัญหาพื้นฐานอื่นๆ เช่น ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก, ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้รถบรรทุกสินค้าไม่กล้าขนส่งสินค้าเข้าไปในพื้นที่ 3 จังหวัด และต้องจอดรถขนถ่ายสินค้าที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แทน