เปิดผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีชายแดนใต้ พบเด็กผอม - เตี้ย - แคระแกร็น มากกว่าเกณฑ์ปกติของประเทศ ปัตตานีทักษะการอ่านและคำนวณต่ำน่าเป็นห่วง ขณะที่สัดส่วนเด็กได้โอกาสเรียนต่อวูบ เผยข้อมูลผวา ชาย-หญิงเมืองนราฯเกือบครึ่ง มีทัศนคติใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว
วันที่ 31 มี.ค.64 ทางองค์การยูนิเซฟประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้นำเสนอผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยไลฟ์สดผ่าน เพจ UNICEF Thailand Facebook Live และมีการเสวนาในหัวข้อ "เราจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กจากข้อมูลการสำรวจสถานการณ์เด็กในจังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างไร"
ชญานิศ หวังดี แผนกวิเคราะห์นโยบายสังคม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ในการผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หัวข้อที่จะนำเสนอเป็นข้อมูล คือเรื่องการได้รับวัคซีนครบถ้วน โภชนาการในเด็ก การบริโภคเกลือไอโอดีน พัฒนาการเด็ก การเข้าเรียนในระดับต่างๆ ทักษะการอ่านและการคำนวณขั้นพื้นฐาน ทัศนคติความรุนแรงในครอบครัว การอบรมโดยวิธีการรุนแรง การสมรสของเด็กและการมีบุตรในวัยรุ่น และการถูกเลือกปฏิบัติและการถูกคุกคาม
ในเรื่องการได้รับวัคซีนครบถ้วน เป็นการสำรวจในเด็กอายุ 12 -23 เดือน ที่ได้รับวัคซีนพื้นฐานครบถ้วน ตัวเลขในระดับประเทศอยู่ที่ 82 % โดยตัวเลขของบางจังหวัดจะต่ำกว่าระดับประเทศ อย่างเช่น นราธิวาส 51.5% ปัตตานี 62% ซึ่งเด็กในปัตตานีและนราธิวาสได้รับวัคซีนป้องกันโปลิโอ โรคหัด คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และตับอักเสบชนิดบี ต่ำกว่าจังหวัดอื่นๆ ส่วนตัวเลขของ สงขลา ยะลาและสตูล อยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับประเทศ
เรื่องโภชนาการในเด็กถือว่าเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG'S การวัดภาวะโภชนาการในระดับสากล ประกอบด้วย การชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงเด็กเพื่อให้ทราบถึง ภาวะเตี้ยแคระแกร็น ภาวะผอมแห้งและภาวะน้ำหนักเกิน
จากผลสำรวจร้อยละของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานในระดับประเทศอยู่ที่ร้อยละ 7.7 ส่วนปัตตานี ร้อยละ 22.6 นราธิวาส ร้อยละ 20.7 ยะลา ร้อยละ 13.4 สตูล ร้อยละ 7.9 และ สงขลา ร้อยละ 5.8 ซึ่งปัตตานี นราธิวาสและยะลา มีตัวเลขสูงกว่าในระดับประเทศ
ส่วนภาวะเตี้ยแคระแกร็น ของเด็กในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 13.3 ขณะที่ตัวเลขของปัตตานีอยู่ที่ ร้อยละ 23.2 ยะลาร้อยละ 23.3 นราธิวาส ร้อยละ 23.9 สตูล ร้อยละ 15.8 และสงขลา ร้อยละ 12.2
โดยภาวะทุพโภชนาการน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เตี้ยแคระแกร็น ผอมแห้งของเด็ก พบว่า ปัตตานี ยะลา นราธิวาสมีเด็กน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์สูงกว่าระดับประเทศ , สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีเด็กเตี้ยแคระแกร็นในอัตราสูงกว่าระดับประเทศ และปัตตานีมีเด็กผอมแห้งสูงกว่าระดับประเทศ นราธิวาส มีเด็กผอมแห้งสูงกว่าระดับประเทศถึงสองเท่า
ขณะที่ภาวะน้ำหนักเกินของเด็ก ในประเทศไทยเด็กมีน้ำหนักเกินร้อยละ 9.3 ส่วนปัตตานี ร้อยละ 2.5 ยะลาร้อยละ 11.6 นราธิวาส ร้อยละ 6 สตูล ร้อยละ 12.4 และสงขลาร้อยละ 4.4 ซึ่งสตูลและยะลา มีเด็กที่น้ำหนักเกินสูงกว่าระดับประเทศ
ด้านการบริโภคเกลือไอโอดีน พบว่า อัตราการบริโภคเกลือที่มีไอโอดีนในครัวเรือน เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในปัตตานีและยะลา ซึ่งการบริโภคเกลือไอโอดีนในแต่ละจังหวัดของภาคใต้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงกว่าในระดับประเทศ
ในด้านพัฒนาการเด็กและการศึกษา ในการเข้าเรียนในระดับต่างๆ ผลการสำรวจการเข้าเรียนในหลักสูตรปฐมวัย ร้อยละของเด็กอายุ 36-59 เดือนที่กำลังเรียนในหลักสูตรปฐมวัย ในระดับประเทศอยู่ที่ ร้อยละ 86.3 ปัตตานี ร้อยละ 89.8 ยะลา ร้อยละ 73.7 นราธิวาส ร้อยละ 80.8 สตูล ร้อยละ 85.6 และสงขลา ร้อยละ 94.4 ซึ่งยะลาเป็นจังหวัดที่มีตัวเลขต่ำกว่าระดับประเทศ
ส่วนการเสริมสร้างการเรียนรู้ ร้อยละของเด็กอายุ 36-59 เดือน พ่อหรือแม่ทำกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้อย่างน้อย 4 กิจกรรม ซึ่งใน ยะลามีตัวเลขที่สูงมาก โดยแม่ร้อยละ 92.7 พ่อร้อยละ 62.9 ที่มีการทำกิจกรรมกับลูกสูงมาก และอีก 4 จังหวัดก็มีตัวเลขสูงกว่าระดับประเทศเช่นกัน
ส่วนการมีหนังสือของเด็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี ที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีหนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 เล่ม ต่ำกว่าระดับประเทศ ต่ำสุดในนราธิวาสและปัตตานี ส่วนการมีหนังสือที่บ้านจะมีอัตราสูงกว่าในเด็กอายุ 7 -14 ปี โดยเฉลี่ยประมาณ 1 ใน 3 มีหนังสือที่บ้านยังต่ำกว่าระดับประเทศ
ดัชนีพัฒนาการของเด็กปฐมวัย เด็กอายุ 36-59 เดือน ทั่วประเทศ 9 ใน 10 (ร้อยละ 92.9) มีพัฒนาการเป็นไปตามเกณฑ์อย่างน้อย 3 ใน 4 ด้าน ซึ่งนราธิวาสและสตูล ต่ำกว่าเกณฑ์ในระดับประเทศ ส่วนตัวเลขของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่เล่นมือถือและแท็บเล็ต ในระดับประเทศอยู่ที่ร้อยละ 52.8 ปัตตานี ร้อยละ 46.4 ยะลา ร้อยละ 43.4 นราธิวาส ร้อยละ 25.6 สงขลา ร้อยละ 45.2 และ สตูล ร้อยละ 54.5 ซึ่งสตูลมีอัตราการเล่นมือถือของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจะสูงกว่าตัวเลขระดับประเทศ
ด้านผลการสำรวจในด้านการศึกษา ในเรื่องของอัตราเข้าเรียนสุทธิประถมศึกษา ร้อยละของเด็กในวัยเรียนระดับประถมศึกษาที่กำลังเรียนระดับประถมศึกษา ตัวเลขระดับประเทศอยู่ที่ร้อยละ 95.5 ส่วนปัตตานี ร้อยละ 95.6 ยะลาร้อยละ 94.8 นราธิวาส ร้อยละ 96.4 สตูล ร้อยละ 97.4 และ สงขลา ร้อยละ 92.3
ส่วนผลการสำรวจอัตราเข้าเรียนสุทธิมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละของเด็กในวัยเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่กำลังเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือสูงกว่า ตัวเลขระดับประเทศอยู่ที่ร้อยละ 86.5 ส่วนปัตตานี ร้อยละ 82.6 ยะลา ร้อยละ 70.5 นราธิวาส ร้อยละ 74.4 สงขลา ร้อยละ 76.9 และ สตูล ร้อยละ 76
ขณะที่ผลการสำรวจอัตราเข้าเรียนสุทธิมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละของเด็กในวัยเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่กำลังเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือสูงกว่า ตัวเลขระดับประเทศอยู่ที่ ร้อยละ 69.5 ส่วนปัตตานี ร้อยละ 61 ยะลา ร้อยละ 68.3 นราธิวาส ร้อยละ 51 สงขลา ร้อยละ 61.4 และ สตูล ร้อยละ 67.6
โดยสรุปพบว่า 1 ใน 5 ของเด็กในสงขลาและปัตตานีไม่ได้เข้าเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น และ 1 ใน 3 ของเด็กในนราธิวาสไม่ได้เข้าเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย
ด้านผลการสำรวจคุณภาพการศึกษา ทักษะการอ่านและการคำนวณขั้นพื้นฐาน ซึ่งทักษะการอ่านขั้นพื้นฐานของเด็กที่เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 หรือ 3 ตัวเลขเด็กที่มีทักษะการอ่านระดับประเทศอยู่ที่ร้อยละ 57.1 ส่วน ปัตตานี ร้อยละ 18.3 ยะลา ร้อยละ 30.1 นราธิวาส ร้อยละ 33.7 สตูล ร้อยละ 65.9 และสงขลา ร้อยละ 48.1
โดยพบว่า เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 หรือ 3 มากกว่าครึ่งอ่านคำศัพท์ในเนื้อเรื่องถูกต้อง ยกเว้นปัตตานีและยะลา ขณะที่เด็กในสงขลาและสตูล มากกว่าครึ่งสามารถตอบคำถามแบบการตีความได้ ส่วนเด็กอายุ 7-14 ปี ที่บ้านใช้ภาษาเดียวกันกับที่ครูใช้ในโรงเรียนน้อยกว่าครึ่งในปัตตานีและยะลา ส่วนสงขลาและนราธิวาส มีทักษะการอ่านขั้นพื้นที่ฐานใกล้เคียงกัน ในขณะที่บ้านใช้ภาษาเดียวกันกับครูมีความแตกต่างกัน
ส่วนผลการสำรวจทักษะการคำนวณขั้นพื้นฐาน ใช้ผลจากการอ่านตัวเลข จำแนกตัวเลข การบวกตัวเลข และการอนุกรมเลข ซึ่งทักษะการคำนวณขั้นพื้นที่ฐานของเด็กที่เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 หรือ 3 ในระดับประเทศอยู่ที่ ร้อยละ 51.2 ส่วนปัตตานี ร้อยละ 11 ยะลา ร้อยละ 32 นราธิวาส ร้อยละ 50.5 สตูล ร้อยละ 52.1 และสงขลา ร้อยละ 46.2
โดยพบว่า ทักษะการคำนวนขั้นพื้นฐานของเด็กในนราธิวาส มีตัวเลขที่สูงกว่าในระดับประเทศ ขณะที่ตัวเลขต่ำสุดอยู่ที่ปัตตานีและยะลา โดย 8 ใน 10 คนของเด็กอายุ 7- 14 ปี ในนราธิวาส ทำอนุกรมเลขได้ ในขณะที่เกือบ 2 ใน 10 คน ในปัตตานีทำอนุกรมเลขได้ และ 1 ใน 3 ทำการบวกเลขได้
ในเรื่องการสมรสในเด็กและการอยู่กินฉันสามีภรรยา ร้อยละของผู้หญิงอายุ 15 - 19 ปี ที่สมรสหรืออยู่กับฉันสามีภรรยา ในระดับประเทศอยู่ที่ร้อยละ 9.6 ส่วนที่ปัตตานี ร้อยละ 5.8 ยะลา ร้อยละ 2.3 นราธิวาส ร้อยละ 10.1 สงขลา ร้อยละ 9.4 และสตูล ร้อยละ 14.1 ซึ่งการสมรสของเด็กและการอยู่กินฉันสามีภรรยาของผู้หญิงอายุ 15 - 19 ปี ลดลงอย่างมากในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา ยกเว้น นราธิวาส แต่ตัวเลขยังสูงกว่าระดับประเทศในสตูล ขณะที่อัตรามีบุตรของวัยรุ่นใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ลดลงในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ลดลงอย่างมากในสงขลา จาก 58 คน ต่อ 1000 คน เหลือ 12 คน ต่อ 1000 คน
ส่วนผลสำรวจการอบรมโดยวิธีการรุนแรง ร้อยละของเด็กอายุ 1-14 ปี ที่ถูกลงโทษทางร่างกายหรือใช้ความรุนแรงทางจิตใจโดยภาพรวมลดลง มีนราธิวาสและปัตตานี ที่ตัวเลขสูงขึ้น ทัศนคติต่อความรุนแรงภายในครอบครัว ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งผู้หญิง ร้อยละ 49.2 และผู้ชาย ร้อยละ 49.9 ของนราธิวาส มีทัศนคติเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงสูงมาก ต่างจากยะลา ที่ผู้หญิง ร้อยละ 0.7 และผู้ชาย ร้อยละ 0.2 ที่มีทัศนคติเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว
ส่วนการดูแลที่ไม่เพียงพอคือการที่ปล่อยให้เด็กต่ำกว่า 5 ปี อยู่เพียงลำพังหรืออยู่ภายใต้การดูแลของเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี มากกว่า 1 ชั่วโมงอย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฎว่า ตัวเลขของยะลาอยู่ที่ ร้อยละ 14.5 สูงกว่าระดับประเทศ ซึ่งอยู่ที่ ร้อยละ 4.5 ส่วนปัตตานี ร้อยละ 4.5 นราธิวาส ร้อยละ 4.7 สตูล ร้อยละ 5.8 และ สงขลา ร้อยละ 7.1
ด้านความเท่าเทียมทางสังคม ในเรื่องความรู้สึกถูกเลือกปฏิบัติ ในประเด็นเรื่องเพศ รสนิยมทางเพศ อายุ ศาสนาหรือความเชื่อ ความพิการ ฐานะยากจน หน้าที่การงานและเหตุผลอื่นๆ พบว่า มีความรู้สึกถูกเลือกปฏิบัติ ในปัตตานี ผู้หญิงและผู้ชาย ร้อยละ 9.3 เท่ากัน ยะลา ผู้หญิง ร้อยละ 25.4 ผู้ชาย ร้อยละ 20.7 นราธิวาส ผู้หญิง ร้อยละ 48.2 ผู้ชาย ร้อยละ 50.3 สตูล ผู้หญิง ร้อยละ 24.1 ผู้ชาย ร้อยละ 24.6 และ สงขลา ผู้หญิง ร้อยละ 14.6 และ ผู้ชาย ร้อยละ 16.3