คณะพุดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ จัดเวทีเสวนาผู้นำศาสนา นักการเมือง นักวิชาการ ตัวแทนภาคเอกชน และตัวเครือข่ายประชาชน ร่วมสะท้อนปัญหาและข้อเสนอแนะในการสร้างสันติสุขในพื้นที่
วันที่ 23 มี.ค.64 ที่ห้องประชุมใหญ่คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (ม.อ.หาดใหญ่) คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุย โดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ เป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมมอบโล่เกียรติยศของนายกรัฐมนตรีให้กับผู้ชนะการประกวดเรียงความ "สันติสุขชายแดนใต้ในความคิดของฉัน"
ในงานยังมีกิจกรรมการเสวนา "นานาทัศนะสันติสุขชายแดนใต้ โอกาสและความท้าทาย" โดยมีผู้ร่วมเสนวนาประกอบด้วย นายอับดุลอาซิ เจ๊ะมามะ รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส, นายเมธัส อนุวัตรอุดม ที่ปรึกษาศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ, น.ส.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิชาการประจำสถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่
นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธานมูลนิธินูซันตารา, นายจตุรนต์ เอี่ยมโสภา ผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ. เขตอำเภอเมืองปัตตานี, นางสมใจ ชูชาติ เครือข่ายชาวไทยพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้, นายสุเมธ สุขพันธ์โพธารามกรรมการ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และ ผศ.พันธ์พิพิธ พิพิธพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาตร์ ม.อ.ปัตตานี
พล.อ.วัลลภ กล่าวเปิดการเสวนาว่า ในนามคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ มีเจตนารมณ์ชัดเจนที่ต้องการพัฒนาขบวนการพูดคุยให้ครอบคลุมประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระบวนการพูดคุยจะได้รับการสนับสนุนและการยอมรับจากพี่น้องประชาชน จึงนำมาสู่แนวคิดการจัดเสวนาทางวิชาการ โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างการมีส่วนร่วมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการพูดคุยและกระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ ให้ทุกฝ่ายได้รับทราบ
"คณะพูดคุยฯ ถือว่าเวทีเสวนาในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปิดพื้นที่รับฟังเสียงสะท้อนและข้อเสนอแนะต่อการสร้างสันติสุข" พล.อ.วัลลภ ระบุ
จากนั้นเป็นการแสดงทัศนะและข้อเสนอแนะจากผู้ร่วมเสวนา โดย ผศ.พันธ์พิพิธ กล่าวว่า จริงๆ แล้วระยะเวลาของการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่ายาวนานและมีความสูญเสียเกิดขึ้นมาก ความยาวนานและความสูญเสียที่เกิดขึ้นมากเป็นทั้งความสูญเสียของฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ ภาคประชาชน พี่น้องไทยพุทธ พี่น้องมุสลิม ทั้งหมดนี้ส่งผล 2 ลักษณะ
กล่าวคือ ทำให้คนในพื้นที่หวาดระแวงกัน หรือไม่ก็ชาชินกับความรุนแรง โดยเฉพาะคนที่เกิดทันเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2547 (เหตุการณ์ปล้นปืน จุดเริ่มต้นของการก่อเหตุร้ายรายวัน) จากการทำวิจัยเรื่องพลวัตชุมชนสองวิถี ด้วยการลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นของคนในพื้นที่ พบว่าคนกลุ่มนี้ในบางชุมชนมีความหวาดระแวงกัน บางชุมชนอยู่ร่วมกันได้ แต่ก็ชาชินกับความรุนแรง
"ผมกำลังหมายถึงชุมชนที่ต้องดำรงอยู่ร่วมกันทั้งพี่น้องไทยพุทธและมุสลิม ผลของเหตุการณ์ความรุนแรงทำให้บางชุมชนชาชินกับความรุนแรง อันนี้เป็นความอันตรายอย่างหนึ่ง พอเขาเริ่มชินกับความรุนแรง เหตุผลหรือการอธิบายว่าเราจะแก้ปัญหาความรุนแรงได้อย่างไรเริ่มไม่มีความหมายสำหรับเขา สันติสุขสำหรับเขาเริ่มหางไกลออกไป"
ผศ.พันธ์พิพิธ กล่าวต่อว่า อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นผลจากความรุนแรงและความสูญเสีย คือกลุ่มที่ไม่ชาชิน และยังเห็นความหวังของสันติสุข แต่ความหวาดกลัวทำให้ขาดจินตนาการของการอยู่ร่วมกันไปแล้ว เพราะญาติพี่น้องต่างบาดเจ็บล้มตาย ทำให้ไม่แน่ใจว่าเมื่อกลับมาอยู่ร่วมกันแล้ว จะสามารถอยู่ร่วมกันได้เหมือนที่เคยอยู่หรือไม่
"ความสูญเสียในพื้นที่มันเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ และที่เกิดจากความผิดพลาดของการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายรัฐเอง ผมเห็นว่าหลายๆ เหตุการณ์รัฐพยายามทำให้มันกระจ่าง ทำให้มันชัดเจน ทำให้มันเคลียร์ แล้วเกิดการเยียวยาชดเชย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ไม่ว่าความรู้สึกของผู้ที่สูญเสียจะเพียงพอหรือไม่ก็ตาม แต่ต้องทำทุกเหตุการณ์ เพราะเราจะสันติสุขได้ เราต้องทำให้ผู้สูญเสียมีความรู้สึกว่าทุกอย่างได้รับคำอธิบาย ความสูญเสียที่เขาได้รับไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายไหน จากการปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ต้องมีคำอธิบายที่ยอมรับได้"
ผศ.พันธ์พิพิธ บอกด้วยว่า ความท้าทายของรัฐบาลในสถานการณ์ชายแดนใต้นับจากนี้คือ ทำอย่างไรให้การเจรจาสันติสุขที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนี้มีความชัดเจนใน 2 ประเด็น คือ 1. เป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่ชัดเจนในแต่ละขั้นตอน 2. สร้างโรดแมพ หรือแผนที่เดินทาง เพื่อไปให้ถึงสันติสุขในอนาคต
ด้าน นางสมใจ ชูชาติ เครือข่ายชาวไทยพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ เปิดใจว่า สถานการณ์ในปัจจุบันเต็มไปด้วยความเจ็บปวด คนในพื้นที่ห่างเหินกัน ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ก็ได้แต่หวังว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น พร้อมกับคำถามว่า "จะยิงกันอีกหรือเปล่า" ส่วนการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ อยากให้คุยทุกกลุ่ม อย่าคุยกลุ่มเดียว เพราะจะไม่จบ จะกลายเป็นคลื่นใต้น้ำ และผลกระทบคือประชาชน
"ฉันเห็นภาพตั้งแต่ปี 47 ที่ทั้งพุทธและมุสลิมโดนฆ่า ทุกคนคือพี่น้องของฉัน ขอฝากไปถึงรัฐบาล ถ้าทีมนี้คุยได้ดี ก็ขอให้ทีมนี้ดำเนินการไปให้ต่อเนื่อง และให้คุยทุกกลุ่ม ความท้าทายมีเพียงอย่างเดียวคือ เมื่อไหร่จะสงบจริง เมื่อไหร่จะจบ"
คำถามนี้คงดังอยู่ในหัวใจของพี่น้องชายแดนใต้ทุกคน!